ครูผู้สอนควรพิจารณาและเลือกใช้สื่อซ่อมเสริมทักษะการอ่านการเขียนตามข้อเสนอแนะดังนี้
ก่อนสอน/จัดกิจกรรม
ครูผู้สอนต้องทราบสาเหตุที่แท้จริงของความบกพร่องต่างๆที่เกิดกับผู้เรียน
ที่จะทำการสอนซ่อมเสริม ซึ่งอาจวินิจฉัยได้จากการสังเกต สัมภาษณ์ สอบถามจากตัวนักเรียนเอง ครู
ผู้ปกครอง ครูที่เคยสอนมาก่อน หรือจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน หรือจากการตรวจสอบผลงานและจากการทดสอบต่าง ๆ
เช่น การทดสอบด้วยข้อสอบวินิจฉัย เป็นต้น จะทำให้ครูผู้สอนทราบสาเหตุของปัญหาและแก้ไขได้ตรงจุด
เช่น
ความบกพร่องด้านการอ่าน
๑. จำตัวอักษรไม่ได้
ทำให้อ่านไม่ได้หรือจำตัวอักษรได้บ้างแต่อ่านเป็นคำไม่ได้
๒. อ่านช้า มีความยากลำบากในการอ่าน เช่น อ่านคำต่อคำ จะต้องสะกดคำ
จึงจะอ่านได้
๓. อ่านผิด เช่น อ่านคำผิด อ่านผิดประโยคหรือผิดตำแหน่ง
๔. อ่านข้ามคำ อ่านเพิ่มคำ หรือลดพยัญชนะในคำ อ่านฉีกคำ
๕. อ่านคำโดยสลับตัวอักษร หรือสลับคำกัน
๖. อ่านเดาจากตัวอักษรบางตัวที่มีอยู่ในคำ
๗. อ่านเว้นวรรคไม่ถูกต้อง
๘.
ตอบคำถามจากเรื่องที่อ่านไม่ได้
๙.
เล่าเรื่องที่อ่านตามลำดับเหตุการณ์ไม่ได้
๑๐.
บอกใจความสำคัญของเรื่องไม่ได้
ความบกพร่องด้านการเขียน
๑. เขียนไม่เป็นตัวอักษร เขียนอ่านไม่ออก เขียนวนไปมา เขียนหนังสือ
ตัวโต
๒. เขียนไม่ตรงบรรทัด
เขียนเกินบรรทัด
เขียนไม่เต็มบรรทัด
๓. เขียนตัวอักษรไม่เท่ากัน
๔. เขียนตัวอักษรหัวกลับหรือกลับด้าน
๕. เขียนตัวอักษรติดกัน
ไม่เว้นช่องไฟ
๖. เขียนผิด เขียนลบบ่อย เขียนทับคำเดิมหลายครั้ง
๗. เขียนตัวอักษรหรือวรรณยุกต์ตกหล่น
ไม่ตรงตำแหน่ง
๘. เขียนอักษรในคำสลับที่กัน
๙. เขียนประโยคง่าย ๆ ไม่ได้
๑๐. เขียนตามที่กำหนดไม่ได้
๑๑. เขียนเรียงลำดับเหตุการณ์ไม่ได้
๑๒. เขียนบรรยายภาพ
เล่าเรื่องแสดงความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการ
ไม่ได้
เมื่อได้สาเหตุแล้วจึงลงมือเลือกกิจกรรมที่เห็นว่าเหมาะสมให้นักเรียนฝึก
อาจฝึกเป็นรายบุคคล เป็นกลุ่ม
บางกิจกรรมครูผู้สอนอาจให้นักเรียนฝึกฝนช่วยเหลือกัน นอกจากนั้นก่อนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ควรบอกให้นักเรียนรู้ตัวก่อนว่าเมื่อเรียนหรือฝึกแล้วจะได้อะไรบ้าง
ให้รู้จุดประสงค์การเรียนไว้ล่วงหน้า เพื่อนักเรียนจะสามารถประเมินตนเองได้ บางกิจกรรมอาจมีการทดสอบก่อนการจัดกิจกรรม
เพื่อดูพื้นฐานหรือจุดเริ่มต้นของนักเรียนก็จะทำให้ได้ข้อมูลในการปรับปรุงการฝึกฝนได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ระหว่างสอน/จัดกิจกรรม
๑. ควรให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติและคิดค้นหาคำตอบด้วยตนเอง
ครูเป็นผู้คอยกระตุ้นให้คิดและชี้แนะวิธีปฏิบัติให้เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนแต่ละคนเท่านั้น เพราะการใช้แบบฝึกที่นักเรียนค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเองเป็นวิธีการเรียนรู้ที่สอดคล้องตามกำหนดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ผู้เรียนได้เรียนเต็มตามศักยภาพและความสามารถของตนเอง
๒. ครูผู้สอนควรให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการเรียนซ่อมเสริม โดยไม่รู้สึกว่าเกิดปมด้อย ควรมีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
เพื่อทราบความก้าวหน้าของนักเรียนเป็นรายบุคคล
ควรบันทึกผลการทดสอบไว้ในสมุดบันทึกการสอนซ่อมเสริม
แสดงความก้าวหน้าทางการเรียนและข้อที่ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างละเอียด
๓. ครูผู้สอนควรนำหลักจิตวิทยาการเรียนรู้มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับนักเรียน เช่น
การเสริมแรง ให้กำลังใจ ชมเชย กระตุ้นยั่วยุ
ชี้แนะให้นักเรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว
พร้อมทั้งระลึกเสมอว่านักเรียนต้องการความช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด
นักเรียนบางคนควรแทรกทักษะพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ เช่น
การเล่มเกม ให้อวัยวะเคลื่อนไหว การฝึกกวาดสายตา เช่น ฝึกสมาธิก่อนอ่านหนังสือ เป็นต้น
หลังสอน/จัดกิจกรรม
ควรให้นักเรียนทราบความก้าวหน้าของตนเองว่าเป็นไปตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่
โดยไม่นำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
บันทึกผลการเรียนการสอนซ่อมเสริมเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงพัฒนาต่อไป และควรรายงานให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น
ผู้ปกครองและผู้บริหารสถานศึกษาทราบ
เพื่อการร่วมมือกันแก้ไขต่อไป