Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560

การสอนซ่อมเสริม



การสอนซ่อมเสริม

   การสอนซ่อมเสริม คือ การสอนที่จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนช้าให้สามารถเรียนทันเพื่อนอาจจัดการสอนเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มย่อยๆ ก็ได้  อาจจัดได้ทั้งในเวลาเรียนและนอกเป็นเวลาเรียน และทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนนอกจากนี้ยังเป็นการช่วยนักเรียนที่เรียนดีอยู่แล้วให้มีโอกาสได้รับการเสริมความรู้เพิ่มมากขึ้น

  

ความจำเป็นและสาเหตุที่ต้องมีการสอนซ่อมเสริม
๑.   นักเรียนมีสติปัญญาแตกต่างกัน
๒.  วิธีการเรียนรู้หรือการรับรู้แตกต่างกัน
๓.  สื่อและวิธีการสอนของครูแตกต่างกัน
๔.  แรงจูงใจในการเรียนแตกต่างกัน
ฯลฯ


จุดมุ่งหมายของการสอนซ่อมเสริม

๑.    เพื่อทบทวนความรู้พื้นฐานของนักเรียน
๒.    เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในการเรียนของนักเรียน
๓.    เพื่อให้นักเรียนเรียนได้ทัดเทียมเพื่อน
๔. เพื่อให้นักเรียนสามารถพัฒนาได้ตามศักยภาพของตนเอง
ฯลฯ




หลักการสอนซ่อมเสริม

๑. สำรวจข้อบกพร่องของนักเรียนเพื่อช่วยเหลือแก้ไขข้อบกพร่อง
๒.จัดบทเรียนหรือสิ่งที่ยังไม่รู้ให้เหมาะสมกับความสามารถความต้องการและความสนใจของนักเรียน
๓.ใช้สื่อการเรียนรู้และเทคนิคการสอนให้เหมาะสมกับความสามารถความสนใจของผู้เรียน
๔. กระตุ้นและให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความอบอุ่นและเชื่อมั่นในตนเอง  โดยยึดหลัก
                 ๔.๑  ให้ความเป็นกันเอง และสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียน
 ๔.๒  เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยเริ่มจากง่าย
         ไปหายาก
 ๔.๓  มีการยกย่องชมเชยทั้งจากวาจา พฤติกรรม และสิ่งของ
         ตามความเหมาะสม
 ๔.๔  ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการประเมินผลงานและผลการเรียนรู้  

๕.ให้นักเรียนทราบความก้าวหน้าของตนเอง  เพื่อให้เกิดความภูมิใจในความสำเร็จและส่งเสริมให้มีความพยายามยิ่งขึ้น
๖.ใช้รูปแบบการสอนที่หลากหลาย และเหมาะสมกับธรรมชาติ วัย และศักยภาพของนักเรียน
๗.ใช้วิธีการพี่สอนน้อง  เด็กเก่งช่วยเด็กอ่อน และคลินิกภาษา ฯลฯโดยมีครูดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด

  
วิธีการสอนซ่อมเสริม
 
นักเรียนสอนกันเอง
ในการสอนซ่อมเสริมผู้สอนอาจจะคัดเลือกนักเรียนเก่งให้ช่วยสอนนักเรียนที่ยังไม่บรรลุจุดประสงค์  โดยให้ช่วยสอนตัวต่อตัว หรือสอนเป็นกลุ่มย่อย  ข้อดีของการที่ให้นักเรียนสอนกันเอง  ก็คือนักเรียนใช้ภาษาแบบเดียวกัน    ดังนั้นการถ่ายทอดความรู้และการใช้ถ้อยคำอธิบายของนักเรียนด้วยกัน  ย่อมจะทำให้เข้าใจง่ายกว่าภาษาที่ครูใช้และยังทำให้นักเรียนที่ช่วยสอนมีความเข้าใจในการเรียนมากยิ่งขึ้น


การสอนแบบตัวต่อตัว
การสอนซ่อมเสริมแบบตัวต่อตัวระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียนเป็นวิธีที่ดีที่สุด  เพราะผู้สอนสามารถเลือกใช้ถ้อยคำหรือวิธีการได้เหมาะสมกับนักเรียน  สามารถชักจูงความสนใจของนักเรียนได้อย่างใกล้ชิด และสามารถสอนได้ตรงตามที่นักเรียนกำลังมีปัญหา  ผู้สอนนอกจากเป็นครูประจำชั้นหรือประจำวิชาแล้ว อาจเป็นครูคนอื่นก็ได้  เพราะผู้สอนจะได้ให้ความรู้แก่นักเรียนในแนวที่ต่างกัน

การสอนแบบกลุ่มย่อย
เพื่อความสะดวก  ควรจัดให้นักเรียนที่มีปัญหาเหมือนๆ กันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน กลุ่มหนึ่งประมาณ ๒ -๓ คน ผู้สอนอาจใช้วิธีสอนและให้งานสลับหมุนเวียนไปทีละกลุ่ม      เพื่อที่จะให้นักเรียนในกลุ่มได้ช่วยกันแก้ปัญหาความเข้าใจบทเรียนและร่วมมือซึ่งกันและกัน  ไม่ให้ใครรู้สึกว่ามีปมด้อยหรือปมเด่น  ผู้สอนนอกจากครูที่สอนประจำแล้วอาจจัดครูแทนหรือหมุนเวียนได้


การใช้บทเรียนสำเร็จรูป
ในกรณีที่ผู้สอนพบว่า นักเรียนมีปัญหาการเรียนในบางเรื่อง ก็อาจใช้แบบเรียนสำเร็จรูปแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเป็นสื่อในการเรียโดยนักเรียนแต่ละคนจะต้องอ่าน  ทำแบบฝึกหัด และตรวจคำตอบของตนเองในแบบฝึกหัดสำเร็จรูปนั้น


การให้ทำกิจกรรมเพิ่มเติม
ภายหลังการวินิจฉัยปัญหา  ถ้าพบว่านักเรียนมีความเข้าใจแล้ว  แต่สมควรได้รับการฝึกทักษะเพิ่มขึ้นอีก  ผู้สอนอาจใช้วิธีการมอบหมายงานให้ทำ  เช่น  ทำแบบฝึกหัดเพิ่มเติม โดยจะทำที่โรงเรียนหรือที่บ้านตามความเหมาะสม


               
สมุดแบบฝึกหัดเรียนด้วยตนเอง
ลักษณะของสมุดแบบฝึกหัดเรียนด้วยตนเองคล้ายแบบเรียนสำเร็จรูป  เพราะเริ่มต้นด้วยการให้บทเรียน แล้วให้แบบฝึกหัดต่อ จากนั้นจึงเฉลยคำตอบ ลักษณะที่แตกต่างกันก็คือสมุดแบบฝึกหัดมากกว่าแบบเรียนสำเร็จรูป   เพราะมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้เรียนได้ทำแบบฝึกหัดเป็นการฝึกฝนทักษะให้มากยิ่งขึ้น


การเขียนคำถามเอง
โดยการมอบหมายให้นักเรียนอ่านบทเรียน แล้วเขียนคำถามจากบทเรียนนั้นลงบัตรคำ บัตรคำถาม จำนวนคำถาม แล้วแต่กำหนด  ต่อจากนั้นจึงเขียนคำตอบลงบนอีกด้านหนึ่ง  เมื่อเขียนเสร็จแล้วนักเรียนจับคู่เพื่อฝึกโดยการถามตอบ  เริ่มด้วยคำถามของตนเองเสียก่อน  ต่อจากนั้นจึงถาม-ตอบโดยใช้คำถามของเพื่อน






ขั้นตอนการสอนซ่อมเสริม

๑.   การวินิจฉัยข้อบกพร่องของนักเรียน  วิธีการที่ครูจะทราบว่า เด็กคนไหน
ได้รับการสอนซ่อมเสริมนั้น ทำได้ ๒ วิธี คือ

          ๑.๑  การวินิจฉัยอย่างเป็นแบบแผน หรือเป็นทางการ  เป็นการวินิจฉัยโดยการใช้แบบทดสอบมาตรฐาน เพื่อทดสอบทักษะแต่ละด้าน  แบบทดสอบมาตรฐานกลุ่มทักษะ (ภาษาไทย) มีที่สำนักงานทดสอบทางการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร และกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ  ส่วนแบบทดสอบเชาวน์ปัญญามีที่ศูนย์ โรงเรียนใดที่สนใจที่จะนำมาทดสอบนักเรียนก็ติดต่อไปยังสถานที่ดังกล่าวได้

        ๑.๒  การวินิจฉัยอย่างไม่เป็นแบบแผนหรือไม่เป็นทางการ  เป็นวิธีธรรมชาติและเป็นเทคนิคเบื้องต้น โดยการสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียนและนอกห้องเรียน  สังเกตการอ่าน การเขียน และตรวจแบบฝึกหัด  สัมภาษณ์นักเรียนโดยอ้อม  สัมภาษณ์เพื่อน ๆ และครูที่เคยสอนตลอดจนผู้ปกครองศึกษาทะเบียนประวัติและบันทึกอื่นๆ เกี่ยวกับตัวเด็ก เช่น  ระเบียนสะสม เป็นต้น

๒.   จัดทำบันทึกประวัติการเรียนของนักเรียนเป็นรายบุคคล

๓.   แบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่ม  ในกรณีที่มีนักเรียนหลายคนที่จะต้องสอนซ่อมเสริม
ให้รวบรวมนักเรียนที่จะต้องเรียนซ่อมเสริม  แล้วแบ่งออกเป็นกลุ่มตามรายวิชา
และตามปัญหาของผู้เรียน  ถ้าสามารถจัดครูสอนได้ทั่วถึงควรจัดกลุ่มย่อยที่สุด
ให้นักเรียนที่มีข้อบกพร่องเหมือนกันอยู่กลุ่มเดียวกัน

๔.การวางแผนการสอนซ่อมเสริม เมื่อวินิจฉัยผู้เรียนตลอดจนแบ่งกลุ่มผู้เรียนเรียบร้อยแล้ว  ผู้สอนควรตั้งคำถามกับตนเองเสมอว่าจะสอนอย่างไร  กับใครโดยวิธีการอย่างไร  จะใช้สื่ออะไรช่วยสอน  จะสอนเวลาใด และรู้ได้อย่างไรว่าสอนแล้วได้ผล  นั่นหมายถึงครูจะต้องจัดทำโครงการสอนซ่อมเสริม และเตรียมการสอนซ่อมเสริมก่อนที่จะลงมือสอน


๕.  ดำเนินการสอนซ่อมเสริมตามที่ได้เตรียมการสอน หรือการวางแผนการสอนเอาไว้ โดยมีแนวในการจัดสอนซ่อมเสริม ดังนี้

    ๕.๑  ช่วงเวลาในการจัดสอนซ่อมเสริม ควรทำเป็น  ๓  ระยะ คือ
                ๑)  ภายหลังการประเมินผลก่อนเรียน
                ๒)  ภายหลังการประเมินผลระหว่างเรียน
                ๓)  ภายหลังตัดสินผลการประเมิน

            ๕.๒  วิธีสอนซ่อมเสริม  มีให้เลือกหลายวิธีตามความเหมาะสมกับเด็ก    ได้แก่
          ๑)  การให้นักเรียนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือสอนกันเอง โดย
              การจัดนักเรียนเรียนเป็นกลุ่มย่อยๆ กลุ่มละ ๒ - ๓  เพื่อ
              ช่วยกันแก้ไขข้อบกพร่องที่มีลักษณะเหมือนกัน  วิธีนี้เรียกว่า
              เพื่อนช่วยเพื่อนหรือพี่สอนน้อง
๒)    การสอนแบบตัวต่อตัว หรือเรียนกับครูผู้สอนประจำกลุ่มหรือ
รายบุคคล
๓)    การสอนโดยใช้แบบเรียนหรือตำราอื่น ที่มีความยากง่ายในระดับ
เดียวกัน  นักเรียนอาจจะเรียนเล่มใดเล่มหนึ่งไม่เข้าใจ  แต่เมื่ออ่าน
เล่มใหม่อาจเข้าใจกว่า
๔)   การใช้บทเรียนสำเร็จรูป สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องเกี่ยวกับ
ความคิดรวบยอดและหลักการที่สำคัญ
๕)   การใช้สื่อประกอบอื่น ๆ เช่น เทปโทรทัศน์  ภาพยนตร์  เป็นการ
เพิ่มหลังจากที่วินิจฉัยแล้ว พบว่านักเรียนควรได้รับการฝึกทักษะ
เพิ่มขึ้นก็ใช้กิจกรรมฝึกทักษะเพิ่มเติม

   ๕.๓  การติดตามและประเมินผลการจัดสอนซ่อมเสริม
       การติดตามและประเมินผลการจัดสอนซ่อมเสริมเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการ เพื่อที่จะได้ทราบว่าการจัดสอนซ่อมเสริมที่ดำเนินการนั้นได้เป็นผลที่น่าพอใจเพียงใด และมีส่วนใดบ้างที่จะต้องสอนซ่อมเสริมใหม่  วิธีการติดตามผลมีดังนี้
๑)   วัดความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนในด้านที่เด็กมีความ
บกพร่อง โดยมีการวัดผลอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะๆ
๒)   ตรวจสอบความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนในวิชาอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้อง
๓)   สังเกตความสนใจในการเรียน  การเข้าร่วมกิจกรรมในกลุ่มและ
สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปว่า เป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่
เพียงใด
๔)  ใช้วิธีสัมภาษณ์หรือใช้แบบสอบถาม เพื่อประเมินค่าว่ากิจกรรม
ที่ใช้น่าสนใจเพียงใด และได้ผลอย่างไร
๕)  บันทึกผลการสอนซ่อมเสริมเป็นหลักฐาน  เพื่อสะดวกต่อการ
     ตรวจสอบ