Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ยุวบรรณารักษ์กับการส่งเสริมการอ่าน


มาร์ชยุวบรรณารักษ์
พวกเราชาวยุวบรรณารักษ์  สมัครสมานสามัคคี
ยึดมั่น สรรค์สร้างความดี เพื่อสังคมนี้ได้มีปัญญา
พวกเราชาวยุวบรรณารักษ์  มีศักดิ์มีศรี มีศรัทธา
มีน้ำใจเมตตา กรุณา ปณิธานแกร่งกล้า
ถึงงานจะหนักแค่ไหน เราไม่เคยหวั่น
ใจเรามั่นมุ่งหมาย ไม่สับสน สร้างความรู้ คู่ความดีมีเหตุผล
พวกเราชาวยุวบรรณารักษ์  ตระหนักในหน้าที่เรา
ไม่หวั่นงานหนัก งานเบา  อุดมการณ์ของเรายังมั่นคงเอย.


ยุวบรรณารักษ์ คือ ผู้ที่ช่วยงานบรรณารักษ์ ทำงานทุกอย่างตามที่ได้รับมอบหมายจากบรรณารักษ์  เป็นงานที่ทำด้วยใจอาสาอยากทำ อยากช่วย  ผลตอบแทนที่ได้คือความรู้ที่ได้รับจากการอ่าน และจากงานที่ทำ เช่น การบันทึกรายการบรรณานุกรม

จิตอาสา : ยุวบรรณารักษ์
จิตอาสา เป็นความงดงามที่เกิดขึ้นที่คนหนึ่ง ๆ จะมีน้ำใจช่วยเหลือต่อคนอื่น อาทิ ช่วยงาน ช่วยแบ่งเบาภาระที่     จะกระทำได้ โดยไม่หวังผลตอบแทน มีความรู้สึกอิ่มใจที่ได้ทำดีเป็นเครื่องตอบแทน
อยากช่วยงานห้องสมุดโรงเรียน โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมห้องสมุด
แต่ที่สำคัญเป็นการฝึกเด็กให้มีความรับผิดชอบ ช่วยเหลือ มีน้ำใจแบ่งปัน และยินดีช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่ลังเล
เมื่อมาถึงโรงเรียน ยุวบรรณารักษ์ จะช่วยกันเปิดห้องสมุด

4ทำความสะอาด จัดโต๊ะเก้าอี้
4เอาหนังสือพิมพ์เปลี่ยนเพื่อให้ผู้อ่านทุกวัน
4บริการให้การยืมคืน
4จัดชั้นหนังสือ
4ช่วยสืบค้นและตอบคำถาม
4ช่วยงานกิจกรรมของห้องสมุด และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
ยุวบรรณารักษ์ จึงเป็นผู้เสียสละ มีจิตอาสาเหมาะสมกับวัย
คติของยุวบรรณารักษ์  โอภาปราศรัย ทักทาย ยิ้มแย้มและให้บริการทุกคนเพื่อความประทับใจ และได้ความรู้


การอ่าน คือ เส้นทางสู่ความสำเร็จ
การอ่าน คือพื้นฐาน การเรียนรู้
อ่านคิดดู ฟังถามเขียน คู่ค้นหา
คือสะพาน สู่เส้นทาง สร้างปัญญา
เส้นข้างหน้า ทางกว้าง และยาวไกล
ทางชีวิต เราลิขิต ให้ก่อเกิด
สู่ความเลิศ ความดี พิสุทธิ์ใส
ความสำเร็จ สมประสงค์ จำนงใจ
สำเร็จหมาย ได้ดังหวัง ดังต้องการ

ความสำคัญและประโยชน์ของการอ่าน 
การอ่านมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จนกระทั่งถึงวัยชรา   ปัจจุบันถือว่าการอ่านเป็นปัจจัยที่ 5 นอกจากปัจจัยทั้ง 4  คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ อาศัยและยารักษาโรค

ความหมายของการอ่าน
การอ่าน คือ ความเข้าใจสัญลักษณ์ เครื่องหมาย รูปภาพ ตัวอักษร คำ และข้อความ ที่พิมพ์หรือเขียนขึ้นมา
การอ่าน อ่านคือ ว่าตามตัวหนังสือ, ออกเสียงตามตัวหนังสือ, ดูหรือ เข้าใจความจากตัวหนังสือ; สังเกต หรือพิจารณาดูเพื่อให้เข้าใจ; คิด, นับ (ไทยเดิม)” (พจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525, หน้า 917)


ความสำคัญของการอ่าน
การอ่านมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ ช่วยสนองความอยากรู้อยากเห็นอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ได้ทุกเรื่อง ซึ่งมีอยู่ในทรัพยากรสารนิเทศ ทุกประเภท โดยเฉพาะความอยากรู้ข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ ซึ่ง ในโลกนี้มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย อาทิเช่น มีข่าวความบันเทิง ข่าวความสุข ความทุกข์ ความสำเร็จ ข่าวโศกนาฏกรรม การเกิดอัคคีภัย อุทกภัย ภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น  นอกจากนั้นการอ่านยังมีความสำคัญต่อจิตใจของผู้ที่กำลังอยู่ในความทุกข์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหนังสือศาสนา ปรัชญา จะทำให้มีเวลามานั่งพิจารณาตัวเองทำให้มีกำลังใจ และในที่สุดก็ใช้เหตุผลคิดค้นหาวิธีแก้ปัญหาได้อย่างมีสติสัมปชัญญะ หนังสือศาสนาและปรัชญาเปรียบเสมือนยาที่ช่วยรักษาจิตใจของคนไข้ได้เป็นอย่างดี

ประโยชน์ของการอ่าน
การอ่านมีประโยชน์ต่อทุกคนทุกอาชีพ ทั้งผู้ที่อยู่ในโรงเรียนและนอกโรงเรียน การอ่านช่วยการศึกษาค้นคว้าทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตร เพราะผู้เรียนต้องอ่านเพื่อให้เข้าใจความหมาย แล้วนำไปใช้ในการฟัง การพูด และการเขียนได้ถูกต้อง  โดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุคแห่งข่าวสาร  คนที่ชอบอ่านจะมีหูตากว้างไกลกว่าคนที่ไม่ชอบอ่าน การอ่านเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้และการศึกษาหาความรู้ เพื่อประกอบอาชีพในอนาคต เริ่มตั้งแต่อ่านให้ออก อ่านให้เป็น อ่านให้เก่ง และมีนิสัยรักการอ่าน
        นอกจากนั้นการอ่านยังเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้มีบุคลิกภาพดี รักษาสุขภาพได้ ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด รักษาสิ่งแวดล้อม รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ เวลาป่วยรู้จักไปโรงพยาบาล รับประทานยาตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัด รู้จักออกกำลังกายอย่างถูกต้อง เมื่อป่วยไข้เป็นโรคชนิดใดต้องศึกษาหาความรู้และรักษาสุขภาพของตนให้ดีจากการอ่าน  อ่านสื่อต่างๆ ที่แนะนำ การปฏิบัติตนให้มีความสุขในชีวิต ซึ่งจะทำให้สุขภาพจิตดี ร่างกายแข็งแรง ความจำดี และมีอายุยืนยาว
         การอ่านเพื่อพัฒนาอาชีพก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ อ่านเพื่อรู้จักที่จะพัฒนางานฝีมือ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ทันสมัย การประกอบอาชีพต่าง ๆ จำเป็นจะต้องอ่านเทคนิคและวิธีการที่ทำให้ประสบความสำเร็จ      ลดต้นทุนและปลอดภัย เช่น การเพาะปลูก การทำสวนยาง วิธีการตอน การเพาะชำ การกำจัดแมลง การทำปุ๋ย การให้ปุ๋ยต้นไม้บางชนิด เป็นต้น

กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
การอ่านมีความสำคัญต่อการศึกษาและการดำรงชีวิต ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนควรจะได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านมีนิสัยรักการอ่าน เห็นความสำคัญของการอ่าน มีความสามารถ ในการอ่าน และรู้จักแสวงหาความรู้และประสบการณ์จากการอ่านด้วยตนเองจนเป็นนิสัย

ความหมายของกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน คือ การกระตุ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านสนใจการอ่านจนกระทั่งมีนิสัยรักการอ่าน และได้พัฒนาการอ่านจนกระทั่งมีความสามารถ ในการอ่าน นำประโยชน์จากการอ่านไปใช้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการอ่านทุกประเภท(กรมวิชาการ,2539หน้า14) ได้ความหมายว่า กิจกรรมส่งเสริมการอ่านคือ การกระทำเพื่อ
       1. เร้าใจบุคคลหรือกลุ่มเป้าหมายให้เกิดความอยากรู้อยากอ่านหนังสือ
       2. แนะนำชักชวนให้เกิดความพยายามที่จะอ่านให้แตกฉาน สามารถนำความรู้จากการอ่านไปใช้ประโยชน์
       3. กระตุ้น แนะนำให้อยากรู้ อยากอ่านหนังสือหลายอย่างเปิดความคิดให้กว้าง ให้มีการอ่านต่อเนื่องจนเป็นนิสัย พัฒนาการอ่านจนถึงขึ้นที่สามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์เรื่องที่อ่านได้
      4. เพื่อสร้างบรรยากาศที่จูงใจให้อ่าน

ลักษณะสำคัญของกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ดี
1.       เร้าความสนใจ เช่น ครู และบรรณารักษ์เร้าใจอยากให้นักเรียนอ่าน นักเรียนเร้าใจเพื่อนๆ ให้อยากอ่าน
2.       จูงใจให้ผู้อ่านอยากอ่าน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ และบรรณารักษ์ ที่ได้อ่านหนังสือที่ดี จะต้องจูงใจให้ผู้อ่านอยากอ่านด้วยการทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านต่าง ๆ ทั้งการพูด แนะนำ เล่าตอนที่สนใจให้ฟัง


3.       กระตุ้นให้อยากอ่าน กระตุ้นให้อยากรู้อยากเห็น อยากรู้เรื่องราวในหนังสือในตอนต่อไป อยากรู้ข่าวสารต่าง ๆ อยากอ่านเรื่องราวที่อยู่ในความสนใจ เช่น ข่าวบุคคล ข่าวสงคราม ข่าวการเมือง
4.       พัฒนาการอ่านของผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านมีความสามารถในการอ่าน และรู้จักนำความรู้จากการอ่านไปใช้ประโยชน์ให้เกิดกับตนเองและผู้อื่นได้
5.       สนุกสนาน ตื่นเต้น เพลิดเพลิน และมีสาระแฝงอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งเป็น การสอนทางอ้อม เช่น คติธรรม มโนธรรม จริยธรรม อุปนิสัย เป็นต้น
6.       ไม่ใช้เวลานานเกินไป จะทำให้ผู้อ่านเบื่อหน่าย เวลาที่ใช้ทำกิจกรรมเหมาะสมกับความสนใจของผู้อ่านแต่ละเพศ แต่ละลัย แต่ละอาชีพ
7.       เนื้อหาและวิธีการไม่ยากและสลับซับซ้อนจนเกินไป จัดกิจกรรมส่งเสริม การอ่านให้เหมาะสมกับเพศ วัย และระดับความรู้ของผู้อ่านกลุ่มเป้าหมาย
8.       เป็นกิจกรรมที่ให้ทุกคนในกลุ่มได้มีส่วนร่วมกิจกรรม เช่น การเล่านิทาน การแสดงละคร การแสดงละครหุ่น การสนทนาเกี่ยวกับหนังสือ การโต้วาที การแข่งขันตอบปัญหา เป็นต้น
9.       เป็นกิจกรรมที่ประหยัด ใช้วัสดุที่หาง่ายและราคาถูก
10.   เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้แก่ผู้อ่าน เช่น ผู้อ่านเข้าร่วมกิจกรรมแล้วนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ เช่น เป็นนักเรียน นักแสดง ฯลฯ
11.   เป็นกิจกรรมที่มุ่งไปสู่หนังสือ วัสดุการอ่าน หรือสื่อการอ่านทั้งสิ้น แม้แต่การจัดนิทรรศการเรื่องต่าง ๆ ที่จะต้องมีหนังสือ เอกสาร หนังสือการอ่าน นำมาแสดงด้วยทุกครั้ง
12.   เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กสนุกสนาน เพลิดเพลิน เป็นการเรียนรู้ ถึงแม้จะอ่านหนังสือยังไม่ได้ เป็นการพัฒนาการพูดและฝึกความพร้อม เช่น การเล่นของเล่นต่าง ๆ ทำให้ผู้เล่นถึงแม้จะอ่านไม่ออก แต่ก็ได้เรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัส

20 คุณสมบัติที่ดีของผู้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน  (รวมถึงยุวบรรณารักษ์)  มีดังนี้

1. มีนิสัยรักการอ่าน
2. รักเด็ก
3. มีมนุษยสัมพันธ์ดี พูดจาไพเราะ สุภาพ กิริยามารยาทดี
4. มีนิสัยชอบจดบันทึกสิ่งที่อ่าน
5. ช่างสังเกต เช่น สังเกตเด็ก สังเกตผู้ที่ได้พบปะพูดคุยสนทนา และรู้จักนำเอาสิ่งที่พบเห็นมาใช้
6. ช่างจดจำ
7. พูดเก่ง พูดคล่อง ถูกต้อง ชัดเจน พูดจาไพเราะ และชอบเล่า มีอารมณ์ขัน มีวิธีการเล่าที่สนุกไม่ไร้สาระ
8. กล้าพูดกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ มีบทบาทของนักแสดง
9. มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ สามารถโยงเรื่องที่กำลังทำกิจกรรมเข้าสู่เหตุการณ์ปัจจุบันได้
10. มีความสามารถ เป็นทั้งนักเขียน นักวาดรูป นักร้อง ทำเสียงต่าง ๆ
11. เป็นคนตรงต่อเวลา ทั้งในการนัดหมายเวลาในตาราง และเวลาในการแสดง    
        12. มีความรับผิดชอบในการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านทุกครั้ง
13. มีจิตใจที่แน่วแน่ มั่นคง มีการตัดสินใจที่ดี เชื่อมั่นในตนเอง ไม่เป็นคนโลเล เป็นคนสุขุม
14. เป็นคนมีระเบียบวินัย จัดเก็บของอย่างมีระเบียบเรียบร้อย
15. เป็นคนมีความคิดกว้างไกล จากการมีประสบการณ์จากการอ่านและการฟัง
16. ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ไม่โกรธง่าย ไม่ก้าวร้าว มีเหตุผล รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
17. เป็นคนมีบุคลิกดี การแต่งกายสะอาด สุภาพ ถูกกาลเทศะ
18. ออกเสียงตัวสะกดการันต์ ชัดเจน ถูกต้อง มีน้ำเสียงที่ชวนฟัง
19. มีความขยันหมั่นเพียร รักการทำงาน
20. มีเวลาและพยายามอุทิศเวลาในการทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

รูปแบบของการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน/กิจกรรมห้องสมุด  จัดได้หลายรูปแบบ ดังนี้
       1. การเล่านิทาน คือ การเล่าเรื่องที่มีผู้เล่าสืบกันมา หรือเล่าเรื่องจากหนังสือนิทานที่มีผู้แต่งขึ้นมา  ได้แก่การเล่านิทานในห้องสมุดการแข่งขันการเล่านิทาน
       2. การเสนอหนังสือ หรือวัสดุการอ่าน และสื่อการอ่านต่าง ๆ คือการแนะนำทรัพยากรสารนิเทศที่น่าสนใจให้กับผู้อ่าน เพื่อดึงดูดความสนใจให้อยากอ่านนั่นเอง ได้แก่
4การเล่าเรื่องหนังสือ
4การแนะนำหนังสือ
4การอ่านหนังสือให้ฟัง
4การสนทนา/บรรยายเกี่ยวกับหนังสือ
4การอภิปรายเกี่ยวกับหนังสือ
4การโต้วาทีเกี่ยวกับหนังสือ
4การจัดทำรายชื่อทรัพยากรสารนิเทศ และการทำบรรณนิทัศน์
4การจัดนิทรรศการ
     3. การแสดงนาฎกรรม/นาฏศิลป์และอื่น ๆ
4การแสดงละคร
4การแสดงจินตลีลา
4การร้องเพลง
4การแสดงละครใบ้
4การแสดงละครหุ่น
     4. การทำกฤตภาค คือ การตัดปะ ข่าว บทความ รูปภาพเรื่องที่น่าสนใจเพื่อบริการผู้อ่าน ได้แก่
4การจัดทำกฤตภาคเป็นเล่ม
4การทำกฤตภาคข่าวติดไว้ที่ป้ายนิทรรศการด้านหลังห้องเรียนทุกวัน  

       5. การแข่งขันต่างๆ จากการอ่าน คือ การแสดงความสามารถในการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
             
4แข่งขันเปิดพจนานุกรมทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
4แข่งขันตอบปัญหาจากหนังสือ เช่น แข่งขันตอบปัญหาหนังสือสารานุกรมสำหรับเยาวชนฯ
4แข่งขันโต้วาที
4แข่งขันตอบปัญหาสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น ปัญหาวิทยาศาสตร์ กฎหมาย เป็นต้น
       6. การประกวดเกี่ยวกับการอ่าน
4ประกวดการอ่านร้อยแก้ว และร้อยกรอง
4ประกวดการอ่านทำนองเสนาะ
4ประกวดการอ่านบทสนทนา
4ประกวดการอ่านบทละคร
4ประกวดการอ่านข่าว
      7. การเล่นเกมที่นำไปสู่การอ่าน ได้แก่
4เกมของเล่นต่าง ๆ และเกมคอมพิวเตอร์
4เกมการวาดภาพ
4เกมเติมคำศัพท์
4เกมค้นหาคำ
4เกมทายปัญหา
4เกมต่อคำพังเพย
4เกมการละเล่นต่าง ๆ
4เกมพับกระดาษ
4เกมประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ
8. การจัดทำโครงการกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
โครงการสัปดาห์ห้องสมุด
โครงการยอดนักอ่าน
โครงการอ่านหนังสือให้ฟัง
โครงการแนะนำหนังสือ
โครงการเสนอหนังสือในรูปแบบต่าง ๆ
โครงการหนังสือดีที่น่าอ่าน
โครงการหนังสือใหม่ในวันนี้
โครงการหนังสือสู่ชนบท
โครงการหนังสือคือเพื่อนคู่คิด
โครงการยอดนักอ่านระดับประถมศึกษา
โครงการยอดนักอ่านระดับมัธยมศึกษา   

โครงการยอดนักอ่านระดับประชาชน
โครงการจัดนิทรรศการ
โครงการประกวดการเล่านิทาน
โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม
โครงการประกวดการเล่านิทาน
โครงการประกวดการอ่านสุนทรพจน์
โครงการจัดตั้งห้องสมุดในชนบท
โครงการทอดผ้าป่าหนังสือ
โครงการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์
โครงการประกวดการเขียนเรียงความ
โครงการประกวดคำขวัญห้องสมุด
โครงการปัญหาพาสนุกจากการอ่าน
โครงการแสดงละคร
โครงการอ่านตามสาย
โครงการแสดงละครหุ่น
โครงการละครใบ้
โครงการพี่เล่าให้น้องฟัง
โครงการจัดตั้งชมรมนักอ่าน
โครงการออกค่ายนักอ่าน
โครงการเยาวชนพบนักเขียน
โครงการอ่านนิทานภาษาอังกฤษ

วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมห้องสมุด
     1. เพื่อกระตุ้นความสนใจให้อ่านหนังสือ
     2. เพื่อจูงใจให้อ่านหนังสือ และเกิดนิสัยรักการอ่าน
     3. เปิดโอกาสให้นักเรียนทำงานร่วมกัน
     4. เพื่อเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ
     5. เพื่อให้ผู้ใช้มาใช้บริการห้องสมุดเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
กิจกรรมตะกร้าหาความรู้

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้นักเรียนประชาสัมพันธ์กิจกรรมตะกร้าความรู้ โดยกำหนดเวลา หนังสือ และสถานที่ได้เหมาะสม
2. เพื่อให้นักเรียนได้อ่านหนังสือที่ตนเองสนใจ  สร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่นักเรียน
3. เพื่อให้นักเรียนกล้าแสดงออกในการสมัครเป็นอาสาสมัคร

สื่อวัสดุและอุปกรณ์
1. หนังสือประเภทต่าง ๆ เช่น นิทาน, การ์ตูน, หนังสือภาพสำหรับเด็ก,หนังสือสารคดี เป็นต้น
2. ตะกร้าสำหรับใส่หนังสือประเภทต่าง ๆ
3. ใบความรู้สำหรับครู/ยุวบรรณารักษ์ (ผู้จัด) เรื่อง การเลือกหนังสือใส่ตะกร้า
4. แบบบันทึกรายชื่อผู้มาใช้บริการ

ขั้นตอนการจัดกิจกรรม
1. ประชาสัมพันธ์กิจกรรมตะกร้าความรู้ให้นักเรียนทุกคนทราบ พร้อมทั้งประกาศรับสมัครนักเรียนเพื่อเป็นอาสาสมัคร ประมาณ 5 – 10 คน (แล้วแต่จำนวนนักเรียน 1 จุดต่อนักเรียนประมาณ 30 คน)
2. ประชุมอาสาสมัครโดยชี้แจงรายละเอียดของกิจกรรมตะกร้าความรู้แล้วร่วมกันกำหนดระยะเวลาที่จะบริการหนังสือในตะกร้า เช่น ช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน และกำหนดประเภทของหนังสือ จำนวนหนังสือที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปจนยกไม่ขึ้น และทำให้ตะกร้าชำรุด หรือน้อยเกินไปจนไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน กำหนดสถานที่บริการ เน้นสถานที่ปลอดภัย ไม่อยู่ใกล้ถนน ใต้ต้นไม้ที่มีกิ่งไม้แห้ง เป็นต้น แต่ควรอยู่ในที่ร่ม มีความปลอดภัย ไม่เสียงดัง เช่น ใต้ต้นไม้ใหญ่ หน้าระเบียง อาคารอเนกประสงค์ ลานกีฬาในร่ม ศาลาไทย เป็นต้น
3. ร่วมกันจัดทำแบบบันทึกรายการชื่อผู้มาใช้บริการ
4. การดำเนินการ นักเรียนที่เป็นอาสาสมัครคัดเลือกหนังสือใส่ในตะกร้า พร้อมทั้งเตรียมปากกา แบบบันทึกรายชื่อผู้มาใช้บริการหิ้วตะกร้าไปที่สถานที่ต่างๆ ที่มีผู้คอยรับบริการ (ไม่จำเป็นต้องไปซ้ำสถานที่เดิม อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุการณ์) นักเรียนอาสาสมัครควรประชาสัมพันธ์ และเชิญชวนให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ มาอ่านหนังสือ โดยอาจจะให้สัญญาณ เช่น เป่านกหวีด/เปิดเพลง เพื่อเป็นสัญญาณเริ่มต้นและสิ้นสุดของกิจกรรม (เวลา 10–30 นาที) อาสาสมัครควรเขียนชื่อผู้ที่มาใช้บริการเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการจัดตะกร้า และหาแนวทางในการปรับปรุงให้ดีขึ้น เมื่อหมดเวลา อาสาสมัครก็รวบรวมและเก็บหนังสือใส่ตะกร้านำส่งห้องสมุด พร้อมแบบบันทึกรายชื่อผู้มาใช้บริการ
5. ครูบรรณารักษ์คอยสอบถามอาสาสมัครเกี่ยวกับเหตุการณ์จากอาสาสมัครทุกวัน เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนากิจกรรม
6. เมื่อสิ้นภาคเรียนหรือสิ้นปีการศึกษาก็รวบรวมรายชื่อผู้มาใช้บริการ ถ้าชื่อใดมีมากที่สุดจะมีเกียรติบัตรมอบให้

การวัดผลและประเมินผล
1. สังเกตความกล้าแสดงออกในการสมัครเป็นอาสาสมัคร, การเลือกอ่านหนังสือที่นักเรียนสนใจ,การประชาสัมพันธ์     เชิญชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ให้มาอ่านหนังสือ, การสนใจอ่านหนังสือของนักเรียน

2. ตรวจผลงานได้แก่ แบบบันทึกรายชื่อผู้มาใช้บริการรายวัน, รายชื่อที่รวบรวมมาจากผู้ใช้บริการรายภาคเรียนหรือรายปี