Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557

เสวนาการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551



เสวนาการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมเสวนาการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 ที่ห้องราชาบอลรูม โดยมีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อนุกรรมการในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านมาตรฐานการศึกษาและหลักสูตร คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์/วิทยาศาสตร์/สังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์  ผู้บริหาร ศธ. รวมทั้งผู้บริหารจากหลายหน่วยงาน อาทิ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)  สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นายกสมาคมครู หน่วยงานการศึกษาสังกัดต่างๆ ที่ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และนักวิชาการ เข้าร่วมกว่า 200 คน

รมว.ศธ. กล่าวเปิดการเสวนาในครั้งนี้ว่า การระดมความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน นำไปสู่การดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อได้ข้อสรุปชัดเจนก็จะส่งต่อไปยังคณะและองค์กรผู้รับผิดชอบนำหลักสูตรไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติต่อไป



ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อยุติของการปฏิรูปหลักสูตรและสามารถนำไปใช้ได้จริง
จำเป็นต้องดำเนินการใน 
ส่วน คือ
  • รับฟังความคิดเห็นอย่างเต็มที่ของผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ผลิต คือคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ไปจนถึงผู้ที่จะนำไปใช้ในระดับสถานศึกษา
  • ส่งต่อเรื่องนี้จากคณะกรรมการหลักสูตรฯ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จากนั้นเสนอให้ รมว.ศธ. ลงนามประกาศใช้ต่อไป ซึ่งต้องการดำเนินโดยเร็วที่สุด โดยผ่านกระบวนการรับฟังอย่างดีและมีประสิทธิผล คือ ใช้แล้วเกิดผลดีจริงๆ และสอดคล้องกับการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาไทย ที่จะต้องมีการปรับปรุงการเรียนการสอนคู่ขนานไปกับหลักสูตร เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นและให้การดำเนินการทั้งหมดได้ผลดี มีประสิทธิผล และสามารถดำเนินการไปพร้อมกันได้


ในส่วนของสาระสำคัญของหลักสูตรใหม่ 

ก็คือ การปรับหลักสูตรให้สอดรับกับคุณลักษณะพึงประสงค์ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ ทักษะการทำงาน ทักษะทางอาชีพ และการเรียนรู้ใหม่ๆ ในโลกที่มีข้อมูลข่าวสารมากมายอย่างไม่จำกัด ที่สามารถเผยแพร่หรือเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว เพื่อต้องการให้ผู้เรียนมีความสามารถในการเรียนรู้และมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำเนื้อหาสาระ โดยจะต้องปรับการเรียนการสอน เช่น ภาษาต่างประเทศ จะเน้นการเรียนเพื่อการสื่อสาร เรียนจากการใช้จริง รวมทั้งต้องปรับระบบการทดสอบวัดผลด้วย

นอกจากนี้ จำนวนชั่วโมงเรียนคาดว่าจะน้อยลง แต่จะจัดการเรียนด้วยวิธีการที่หลากหลาย เน้นทักษะการเรียนรู้ โครงงาน การแก้ปัญหา ซึ่งเรื่องของเวลาการเรียนจะต้องพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “ใช้เวลาเรียนมาก ได้ความรู้น้อย” เพราะในประเทศที่มีการแข่งขันด้านการศึกษาสูงๆ จำนวนเวลาเรียนจะรวมทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน คือ เวลาทำการบ้าน เวลาเตรียมตัว บางประเทศใช้เวลาเรียนมากจึงสำเร็จ แต่บางประเทศสำเร็จทั้งๆ ที่ใช้เวลาน้อยกว่า และบางประเทศเรียนไม่มากแต่ใช้เวลาที่เหลือในการทำกิจกรรมในโรงเรียน เป็นต้น





ความเห็นหลากหลาย
ต่อ
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551

นางสาววีณา อัครธรรม ที่ปรึกษา สพฐ.ด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ กล่าวว่า พบข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ดังนี้
  • หลักสูตรไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้หลายด้าน  เช่น โครงสร้างเวลาเรียนชั้น ป.1-3 ไม่เอื้อต่อการพัฒนาการอ่าน การเขียน ควรจัดแบบบูรณาการ โดยเฉพาะกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เวลาเรียนยังไม่สอดคล้องกับจำนวนตัวชี้วัด และขอบข่ายแต่ละชั้นปีของสมรรถนะ คุณลักษณะ และทักษะ/กระบวนการไม่ชัดเจน
  • สถานศึกษาให้ความสำคัญกับรายวิชาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาวิชาการ มากกว่าทักษะชีวิตและการไปสู่อาชีพ โดยจัดการเรียนการสอนเน้นเนื้อหาสาระมากกว่าทักษะกระบวนการ ยึดหนังสือเรียน หน่วยการเรียนรู้/แผนการสอนของเอกชน จัดติววิชาการในเวลาของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และเน้นการประเมินเพื่อการตัดสิน
  • การดำเนินการของ สพฐ. ได้แก่ เน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน จัดแผนการเรียนรู้คละชั้นสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก จัดหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ แผนการจัดการเรียนรู้ 200 วัน รวมทั้งวิเคราะห์ตัวชี้วัดเพื่อใช้สนับสนุนการเรียนรู้ และจัดทำแนวทางพัฒนาและวัดผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์


นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ผู้วิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นำเสนอผลการวิจัย เรื่องการปรับหลักสูตรแกนกลาง ตามแนวทางการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

แนวคิดสำหรับหลักสูตรในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ 1) หลักสูตรกระชับ เน้นความสำคัญของแนวคิดหลัก คำถามสำคัญ กระบวนการ และวิธีการเรียนรู้ในสาขาวิชา โดยยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง 2) หลักสูตรช่างคิด เน้นการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงควบคู่กับการเรียนรู้เนื้อหา ผสมผสานเนื้อหากับกระบวนการเรียนรู้ภายใต้สถานการณ์จริง และการตั้งคำถาม “อย่างไร” และ “ทำไม”  และ 3) หลักสูตรเชิงบูรณาการ เปิดโอกาสให้มีการจัดการเรียนการสอนข้ามสาขาวิชาผ่านโครงงาน ปัญหา หรือชุดประสบการณ์ และจัดคาบเรียนแบบหลอมรวม
โดยมีข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุง ดังนี้
  • หลักการ เน้นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้หรือคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ ทำงาน และการดำรงชีวิต รวมทั้งจัดแบ่งสมรรถนะผู้เรียนอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทักษะอื่นๆ อย่างรอบด้าน และสอดแทรกสมรรถนะเข้าไปในหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง
  • สาระการเรียนรู้ ได้แก่ จัดการเรียนรู้โดยอิงกลุ่มสาระวิชา อิงการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการ และจัดกลุ่มการเรียนรู้ให้เหลือเพียง กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มภาษาและการสื่อสาร (รวมภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ) คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษาและมนุษยศาสตร์ เพื่อให้สถานศึกษามีอิสระในการจัดการเรียนรู้ ออกแบบสื่อการเรียนรู้และนำ ICT มาใช้สนับสนุนการเรียนการสอนแบบใหม่
  • มาตรฐานการเรียนรู้ ได้แก่ ผสมผสานทักษะการสื่อสาร การแก้ไขปัญหา และความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้กับสถานการณ์จริง เน้นแนวคิดหลักของกลุ่มสาระวิชา เช่น กระบวนการแก้ไขปัญหาและใช้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ การหาความจริงด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ฯ เป็นต้น
  • เวลาเรียน ต้องปรับเวลาเรียนขั้นต่ำทั้งหมดให้น้อยลงตามแนวคิด “สอนน้อยลง เรียนรู้มากขึ้น” การกำหนดจำนวนเวลาเรียนแต่ละกลุ่มสาระไม่ควรเป็นแบบตายตัว เพื่อให้สถานศึกษามีอิสระในการจัดการเรียนรู้ และออกแบบการเรียนรู้เชิงบูรณาการได้มากขึ้น
  • การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ได้แก่ ประเมินจากความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ สนับสนุนการประเมินผลงานระดับสถานศึกษา และประเมินความเข้าใจและประยุกต์ใช้ความรู้ในระดับชาติ ปรับตัวชี้วัดจากทุกชั้นปีเป็นระดับช่วงชั้น ระดับ ปรับตัวชี้วัดให้อิงทักษะหรือผลลัพธ์ในการเรียนรู้ที่สะท้อนพัฒนาการในแต่ละระดับอย่างชัดเจน และจัดทำชุดตัวชี้วัดที่หลากหลายสำหรับโรงเรียนที่ไม่สามารถออกแบบตัวชี้วัดด้วยตนเอง




ข้อเสนอและประเด็นความคิดเห็นบางส่วนจากการเสวนา
ผศ.ดร.อรรณพ จีนะวัฒน์ ประธานกรรมการประจำสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า หลักสูตรใหม่ควรมีความยืดหยุ่น เน้นเนื้อหาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเน้นพัฒนาผู้เรียนที่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แทนการเป็นผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว ยกระดับจิตใจผู้เรียนให้สามารถอยู่รอดในโลกยุคใหม่ ผลิตครูที่มีความรู้ความสามารถในการสอน STAM และพัฒนาให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี โดยเน้นการเรียนรู้จากContent ในเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการเรียนแบบ Brain-based Learning มากขึ้น
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไส จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า หลักสูตรควรเน้นการเตรียมความพร้อมแก่เด็ก เพื่อให้รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ของโลก เช่น การขาดแคลนอาหาร น้ำและน้ำมัน ปัญหาอาชญากรรม คุณธรรมจริยธรรมเสื่อม จะเสริมด้วยวิชาการด้านใดเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในอนาคต โดยอาจจะใช้จุดเด่นของประเทศ ที่ประเทศอื่นๆ ไม่มี เช่น ธรรมะ การรู้จักตนเอง รู้ที่มา/จุดมุ่งหมายของการใช้ชีวิต คุณธรรมจริยธรรม เป็นต้น

นายชัยอนันต์ แก่นดี ผู้อำนวยการโรงเรียนทวีธาภิเศก กรุงเทพฯ กล่าว่าเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร โดยขอให้มีกระบวนการเรียนการสอนและเครื่องมือในการวัดและประเมินผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

นายก่อศักดิ์ ศรีน้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ขอให้สะท้อนข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับการใช้หลักสูตรฯ พ.ศ.2551 ต่อครู เพื่อสื่อสารและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในระดับสถานศึกษา ห้องเรียน ครูและนักเรียน โดยจะต้องจัดอบรมและให้ความรู้แก่ครูและศึกษานิเทศก์เกี่ยวกับหลักสูตรใหม่ก่อนนำไปใช้เป็นเวลา ปี รวมทั้งเพิ่มตัวชี้วัดเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นลงไปในหลักสูตรด้วย

นางสาวสุภาวดี วงษ์สกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับหลักสูตร แต่ขอให้นำหลักสูตรลงไปถึงครูและห้องเรียนจริงๆ ในส่วนของการพัฒนาครูในระบบให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่สำหรับครูใหม่ที่ศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ควรผลิตด้วยหลักคิดและเนื้อหาหลักสูตรใหม่ รวมทั้งขอให้ผลิตนักวัดและประเมินผลเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดแคลนด้วย

นางสาววิมลรัตน์ ศรีสุข ครูโรงเรียนกำแพงเพชรวิทยาคม จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับการนำผลการประเมินระดับนานาชาติ PISA มาใช้เป็นแนวทางหลักในการปรับปรุงหลักสูตร ทำให้เนื้อหาภูมิปัญญาไทยและความภาคภูมิใจในความเป็นไทยขาดหายไป ส่งผลให้การกำหนดผลเรียนรู้เรื่องของงานบ้าน งานผ้า งานคหกรรม สมุนไพร ฯลฯ ขาดหายไปด้วย

รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมถึงขั้นตอนที่จะต้องให้ความสำคัญคือ การนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติในระดับโรงเรียน ซึ่งจะต้องยกเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพื่อหารือกับผู้จัดทำหลักสูตร ผู้ใช้หลักสูตร หรือผู้มีประสบการณ์ ในการคิดกระบวนการนำหลักสูตรไปสู่โรงเรียนได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการดำเนินการในส่วนอื่นๆ ต่อไปด้วย เช่น การวัดและประเมินผล การออกแบบสื่อการเรียนการสอน โดยได้มอบให้ สพฐ.รวบรวมประเด็นที่จะเป็นกรอบการระดมความเห็นในครั้งต่อไป เพื่อให้การเสวนาเจาะลึกในรายละเอียดและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน.



นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
24/3/2557

จากเว็บไซต์ ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ
http://www.moe.go.th/websm/2014/mar/069.html