Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

10 มารยาทในสังคมออนไลน์ที่ควรรู้

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมทุกวันนี้อาจดูแหว่งวิ่นไปบ้าง คนออฟฟิศเดียวกัน ยืนอยู่ใกล้ๆ กันอาจไม่ได้คุยกัน พ่อแม่ลูกอยู่บ้านเดียวกันก็อาจไม่ได้คุยกัน ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพราะส่วนหนึ่งของเวลาที่เรามีถูกย้ายไปทำการอยู่บนสังคมออนไลน์ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

เมื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น วันนี้เราจึงนำมารยาท และสิ่งที่ไม่ควรกระทำบนสังคมออนไลน์มาฝากกัน จะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ

1.ไม่ควรโพสต์ภาพอาหารยั่วยวนใจบ่อยๆ
คนเล่นเฟซบุ๊กหลายคนอาจปฏิเสธว่าไม่จริง เราออกจะชอบดูภาพอาหาร ยิ่งหน้าตาชวนกินยิ่งชอบ แถมถ้าบอกร้านมาด้วยจะตามไปชิมเมนูที่โพสต์แน่ๆ แต่ก็อย่าลืมว่าในจำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊กนั้นอาจมีคนที่กำลังลดน้ำหนัก เป็นเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ หรือถูกสั่งห้ามกินอาหารหน้าตาอร่อยๆ แบบที่คุณกำลังโพสต์ และภาพเหล่านั้นก็จะยิ่งบาดตาบาดใจพวกเขาจนพากันกด Like ให้ภาพของคุณไม่ได้

2.ไม่ควรกด Like พร่ำเพรื่อ

เพราะเพื่อนในเฟซบุ๊กมีหลายประเภท ทั้งเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนชาวต่างชาติ เพื่อนสมัยเรียนประถม ที่จากกันไปนาน และเพิ่งมีโอกาสได้เจอกันอีกครั้ง หรือเพื่อนห่างๆ ที่แอดไว้ตั้งนานนมแล้วแต่ไม่ได้สานสัมพันธ์ใดๆ กันต่อ ดังนั้น การคลิก Like ไปทั่วกระทั่งในเรื่อง – ภาพของเพื่อนที่เราห่างเหินมานาน ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางใดๆ ในชีวิตเขาในตอนนี้ ก็อาจถูกตีความว่าเราเสแสร้ง ไม่จริงใจได้

3.ไม่โพสต์เรื่องส่วนตัวบนวอลล์คนอื่น

มีช่องทางอีกมากสำหรับคนสองคนที่ต้องการจะสื่อสารเรื่องส่วนตัวของ กันและกัน ส่งแมสเซจก็ได้ ส่งเมลก็ได้ ส่ง SMS ก็ได้ คุยทาง MSN ก็ได้ แต่ไม่ใช่การมาโพสต์บนหน้าวอลล์ส่วนตัว เพราะเพื่อนๆ ของเจ้าของวอลล์คนนั้นจะร่วมรับรู้รับทราบทั้งหมด ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ควรจะต้องมารู้ด้วยเลย และนั่นอาจไม่ดีต่อตัวคุณในที่สุดที่ดูเป็นคนไม่มีมารยาท

4.ไม่โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับเซ็กซ์

ถ้าไม่นับแก๊งของหนุ่มๆ ในออฟฟิศบางแห่งที่นิยมแชร์ภาพสาวสวยกันแล้ว การที่คนเราจะโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับเซ็กซ์ลงบนสังคมออนไลน์ก็อาจทำให้ เพื่อนๆ คนอื่นของคุณกระอักกระอ่วนใจได้ ยิ่งหากเป็นกิจกรรมทางเพศของตัวคุณเองด้วยแล้วยิ่งไม่เหมาะสมอย่างมาก

5.ไม่แท็กเรื่อยเปื่อย

อย่าอัปโหลดทุกภาพที่มีในกล้อง และควรพิจารณาองค์ประกอบในภาพนั้นก่อนว่าดีพอหรือไม่ที่จะโพสต์ออกไป นอกจากนั้น สาวๆ หลายคนอาจเลิกคบกับคุณแน่ๆ ถ้าคุณแท็กภาพที่คุณดูดีสุดๆ แต่เพื่อนสาวที่อยู่ในภาพไม่ได้ดูดีเท่า ดังนั้น หากมีภาพดังกล่าวอยู่ ลองถามตัวเองว่า ถ้าคุณเป็นคนที่กำลังทำหน้าตลกๆ หรือนั่งพุงย้อย คุณจะยังโพสต์ภาพนั้นให้สังคมออนไลน์ร่วมรับรู้หรือไม่

6.ไม่ใช้เฟซบุ๊กสะกดรอยคนอื่น
คนบางคนก็ใช้เฟซบุ๊กในการสืบทราบข่าวคราวความเป็นไปของคนอื่่น เช่น อดีตแฟน สาวคนใหม่ของอดีตแฟน คนที่เราแอบชอบ คนที่เราเกลียด คนที่มายุ่งกับแฟนเรา ซึ่งขอบอกว่าการแอบล้วงข้อมูลเหล่านี้เป็นการกระทำที่เสียเวลาและเสีย พลังงานมากทีเดียว

7.ไม่โพสต์ข้อความกล่าวร้ายคนอื่น

คนบางคนเลิกคบกันก็เพราะการโพสต์จิกกัดกันนี่เอง และควรจะเลิกคิดใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความกล่าวร้ายคนอื่นโดยเด็ดขาด เพราะข้อความที่คุณโพสต์จะเห็นกันได้ทั่วไป และอาจผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งคู่กรณีอาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากคุณได้ด้วย

8.ไม่ควรโพสต์เรื่องทุกอย่างรอบตัว

เพราะบางคนโพสต์ทุกเรื่องในชีวิตลงไปบนเฟซบุ๊ก ทั้งร้านอาหาร ครอบครัว เพื่อนฝูง จนเพื่อนๆ ในลิสต์รับทราบความเป็นไปของเธอตลอดเวลา แล้วแบบนี้จะเหลืออะไรไว้ให้คุยกันเมื่อยามพบหน้า ลองหยุดโพสต์ดูบ้างอาจทำให้ชีวิตของคุณน่าค้นหายิ่งขึ้น

9.ไม่โพสต์ภาพตัวเองถูกทำร้าย

ใครก็ตามที่กล้าโพสต์รูปตัวเองถูกทำร้ายลงบนโลกออนไลน์ รับรองว่า เป็นเรื่องกระหึ่มแน่นอน หรือแม้จะเป็นภาพอาการบาดเจ็บที่น่าหวาดเสียวก็เช่นเดียวกัน เช่น ภาพนิ้วถูกมีดบาดจะขาดมิขาดแหล่ ฯลฯ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะเห็นภาพนั้น แม้ว่าเขาเห็นแล้วจะรู้สึกเสียใจ สลดใจไปกับคุณด้วยก็ตาม

10.ไม่โพสต์นินทาเจ้านายหรือที่ทำงาน
เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรทำ หากต้องการโพสต์จริงๆ ก็ตั้งกลุ่มลับเฉพาะกันไป อย่าโพสต์ออกมาในที่สาธารณะและเพื่อนๆ ในลิสต์ทุกคนสามารถรับรู้ได้ เพราะมันจะไม่ดีต่อตัวคุณและต่อองค์กรที่ทำงานอยู่ รวมถึงเจ้านายในอนาคตของคุณด้วย เพราะเจ้านายเดี๋ยวนี้ก็เช็กประวัติคนที่จะรับเข้าทำงานจากเฟซบุ๊กกันบ้าง แล้วเช่นกัน
ทั้งหมดนี้อาจเป็นรูปแบบการใช้งานที่ควรหลีกเลี่ยง หรือเลือกใช้ให้เหมาะสมสำหรับท่านที่ต้องการมีตัวตนอยู่บนสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัยนั่นเอง
ขอบคุณบทความดีๆจาก

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประกาศผล GAT/PAT พบเด็กไทยคิดวิเคราะห์ไม่เป็น

Pic_304337


สทศ.ประกาศผลสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1/2556 เผยเด็กไทยยังคิดวิเคราะห์ไม่เป็น เตรียมวัดผลภาษาอังกฤษคนไทยรับอาเซียน หรือเพื่อคัดคนเข้าทำงานและเรียนต่อ

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) แถลงผลการสอบแบบวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT และแบบวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT ครั้งที่ 1/2556 ซึ่งสอบวันที่ 6-9 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า สทศ.ประกาศผลสอบเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 02.00 น. การประกาศผลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำหรับผลการวิเคราะห์คะแนนสอบนั้น พบว่าภาพรวมคะแนน GAT/PAT ปีนี้ไม่แตกต่างจากคะแนนสอบเดือน ธ.ค.ปีีที่ผ่านมา

โดยปีนี้ GAT คะแนนเต็ม 300 คะแนน เฉลี่ย 114.30 แบ่งเป็น GAT 1 เฉลี่ย 65.23, GAT 2 เฉลี่ย 49.07 PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ เฉลี่ย 40.61, PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 86.20, PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ เฉลี่ย 91.11, PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ เฉลี่ย 58.07, PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู เฉลี่ย 127.31, PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ เฉลี่ย 109.88, PAT 7.1 ภาษาฝรั่งเศส เฉลี่ย 84.83, PAT 7.2 เยอรมัน เฉลี่ย 87.52, PAT 7.3 ญี่ปุ่น เฉลี่ย 90.84, PAT 7.4 จีน เฉลี่ย 81.24, PAT 7.5 อาหรับ เฉลี่ย 88.24, PAT 7.6 บาลี เฉลี่ย 97.63 โดยวิชาที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก คือ PAT5, GAT, PAT6 ตามลำดับ

รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อดูช่วงคะแนนสอบของแต่ละวิชา พบว่า ส่วนใหญ่นักเรียนจะได้คะแนนฐานนิยม หรือผู้ที่ได้คะแนนในช่วงนั้นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงคะแนน 60.01-90.00 ได้แก่ PAT2, PAT3, PAT 7.1-7.6 ส่วนวิชาที่มีช่วงคะแนนฐานนิยมสูงสุดที่อยู่ในช่วงคะแนน 120.01-150.00 คือ PAT 5 และช่วงคะแนนต่ำสุดที่มีผู้สอบได้จำนวนมากที่สุดคือ GAT 1 คือ ช่วงคะแนนที่ 0.00-30.00 คิดเป็นร้อยละ 31.12 ของผู้เข้าสอบ หรือ 100,512 คน โดยในส่วนของ GAT 1 คือ การคิดวิเคราะห์แก้โจทย์ปัญหา เป็นสิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพยายามปรับปรุงวิธีการสอน ให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น โดย สทศ.ก็จะส่งข้อมูลดังกล่าวให้ สพฐ. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงวิธีการสอนต่อไป

ส่วนผลการวิเคราะห์ คุณภาพข้อสอบนั้น ผอ.สทศ. กล่าวว่า ทั้งค่าความเชื่อมั่น ค่าความยาก และค่าอำนาจจำแนก ของข้อสอบปีนี้ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา แต่พบว่า ข้อสอบ PAT 2 วิทยาศาสตร์ มีค่าอำนาจจำแนกค่อนข้างต่ำ ซึ่งตนจะให้ทีมงานวิเคราะห์หาสาเหตุอีกครั้ง ส่วนการสอบครั้งนี้มีนักเรียนทำผิดระเบียบ 9 คน โดยนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบและเกิดเสียงดัง สทศ.จึงไม่ประกาศผลสอบในวิชานั้นๆ ซึ่งน่ายินดีที่การทำผิดระเบียบและการทุจริตการสอบลดลงมาก เพราะ สทศ.เข้มงวดมาก
"สทศ.กำลังดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับข้อสอบ GAT/PAT ที่ดำเนินการมาทั้งหมด ว่าข้อสอบดังกล่าวสามารถทำนายการเรียนของผู้เรียนในมหาวิทยาลัยได้มากน้อย เพียงใด การวัดผลมีความเหมาะสมหรือไม่ และจะทำให้ผู้เรียนดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยก็ให้การสนับสนุนการวิจัย นอกจากนี้ สทศ.ยังเตรียมจัดทำการทดสอบภาษาอังกฤษและภาษาไทย สำหรับวัดระดับภาษาอังกฤษของคนไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และประโยชน์ในการนำเข้าไปศึกษาต่อและคัดบุคคลเข้าทำงาน" รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ สทศ.ได้แจ้งว่า สำหรับผู้ที่ประสงค์ขอยื่นคำร้องขอดูกระดาษคำตอบ GAT/PAT สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 8-11 พ.ย. 2555 ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. โดยยื่นด้วยตัวเอง หรือให้ผู้แทนมายื่นเอกสารพร้อมหลักฐาน ณ ห้องประชุม สทศ. (เลขที่ 128 อาคารพญาไท พลาซ่า ชั้น 35-36 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม.

สามารถดาวน์โหลดเอกสารแบบคำร้องจากเว็บไซต์ สทศ. http://www.niets.or.th หรือรับได้ที่ สทศ. ณ จุดรับคำร้อง พร้อมยื่นสำเนาบัตรประชาชนและรับรองสำเนาถูกต้อง และเสียค่าธรรมเนียมวิชาละ 20 บาทต่อคน โดย สทศ.จะให้บริการดูกระดาษคำตอบตามลำดับการยื่นร้องในวันที่ 17-18 พ.ย. 2555.

  ข่าว :ไทยรัฐออนไลน์  7 พฤศจิกายน 2555



ผลปรากฏเช่นนี้ ..ก็ต้องวิเคราะห์กันละ
  • เด็กคิดไม่เป็น
  • หรือผู้ใหญ่คิดไม่เป็น
คุณภาพของประเทศไทยเชียวนะคะ...