Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ข่าว : มหกรรมหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 18 วันที่ 16-27 ตุลาคม 2556






ประชาชนแห่ซื้อหนังสือในงาน "มหกรรมหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 18" พบรายได้สะพัดแล้วมากกว่า 300 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมงานตลอดสัปดาห์มากกว่า 1.3 ล้านคน นายกสมาคมฯผู้จัดพิมพ์เชื่อ ยอดผู้ร่วมงานและยอดขายเกินเป้า พร้อมโต้แทนเยาวชนไม่ได้อ่านน้อยลง แต่หันอ่านสื่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้น ย้ำอ่านอะไรไม่สำคัญขอให้รักการอ่านจะช่วยให้มีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น

ข่าววันนี้ (23 ต.ค.2556) ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศวันที่ 8 ของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 18 (Book Expo Thailand 2013) ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 16-27 ต.ค. 2556 โดยปีนี้จัดภายใต้แนวคิด "หนังสือเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนโลก" นั้น มีประชาชนจำนวนมากทุกเพศทุกวัยเดินต่างทางมาเลือกซื้อและสรรหาหนังสือกลับบ้าน โดยในวันปิยมหาราช ซึ่งถือเป็นวันหยุดนั้นมีผู้ปกครองพาบุตรหลานมาร่วมสนุกกับกิจกรรมภายในงาน และร่วมกันสรรหาหนังสืออย่างคึกคัก
       
       นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือฯ ภายในรอบสัปดเาห์คือ ตั้งแต่วันที่ 16 - 22 ต.ค. ขณะนี้มีมากกว่า 1.3 ล้านคนแล้ว ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 ล้านคนขึ้นไป ซึ่งคาดว่าตลอดทั้ง 12 วันของการจัดงานจะมียอดผู้มาร่วมงานเกินเป้าที่วางไว้ ขณะที่ยอดขายหนังสือภายในงานปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 600 ล้านบาท ขณะนี้มีการจัดจำหน่ายหนังสือไปแล้วมากกว่า 300 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องยอดขายแล้ว วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดงานมหกรรมหนังสือฯ หรืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและนานาชาติ ซึ่งจัดไปเมื่อช่วงปลาย มี.ค. - ต้น เม.ย. นั้น ล้วนต้องการรณรงค์ให้คนไทยหันมาอ่านหนังสือให้มากขึ้น
       
       "เท่าที่จัดงานสัปดาห์หนังสือฯและงานมหกรรมหนังสือฯ มา พบว่า ผู้มาร่วมงานมีเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงว่าประชาชนคนไทยให้ความสนใจกับหนังสือและการอ่านมากยิ่งขึ้น แต่จากการวัดสถิติการอ่านของประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติกลับพบว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง ตรงนี้คิดว่าเป็นในเรื่องภาพรวมของประเทศ เพราะการจัดทั้งสองงานนั้นเป็นการจัดงานในกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว" นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าวและว่า สำหรับสาเหตุที่ไม่จัดงานดังกล่าวที่ต่างจังหวัด เพราะพบว่า เมื่อเกิดการจัดงานขึ้นพบว่าประชาชนให้ความสนใจมาร่วมงานและซื้อหนังสือจำนวนมาก เรียกได้ว่าขายดี แต่หลังจากงานเสร็จสิ้นลงหนึ่งเดือนจะพบว่า ร้านขายหนังสือในเมืองๆ นั้นยอดจำหน่ายจะตกลงทันที เพราะไม่มีใครมาซื้อหนังสือ เนื่องจากได้หนังสือที่ต้องการกันหมดแล้ว
       
       ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สังคมเป็นห่วงเรื่องเด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง นายจรัญ กล่าวว่า หากพูดถึงหนังสืออาจเป็นเรื่องจริงที่เด็กอ่านน้อยลง แต่หากเป็นการอ่านทั้งหมดตนคิดว่าไม่น่าใช่ เพราะทุกวันนี้เด็กสนใจการอ่านมากขึ้น เพียงแต่สิ่งที่เขาอ่านไม่ใช่หนังสือ แต่เปลี่ยนไปเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น อ่านผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมการอ่านเช่นนี้ยังรวมไปถึงประชาชนทั่วไปด้วย เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่เห็นได้ชัดเจนว่าสมัยก่อนเมื่อขึ้นรถไฟชินคันเซ็นจะพบแต่คนอ่านหนังสือ แต่ปัจจุบันจะพบว่าคนญี่ปุ่นหันมาอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เหล่านี้หมดแล้ว เรียกได้ว่าอ่านหนังสือน้อยลง แต่สถิติการอ่านของเขายังคงที่เท่าเดิม
       
       นายจรัญ กล่าวอีกว่า เด็กและเยาวชนจะอ่านจากหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญคือกลัวเด็กจะไม่อ่านผ่านสื่อใดเลย ตรงนี้เราต้องเร่งรณรงค์สร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เด็กและเยาวชนให้ได้ก่อน คือจะอ่านผ่านแท็บเล็ต สมาร์ทโฟนก็ได้ ขอให้มีจิตใจที่รักการอ่าน ส่วนข้อกังวลที่ว่าข้อมุลเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตไม่มีสาระเทียบเท่ากับหนังสือซึ่งผ่านการกลั่นกรองมาถึงมือผู้อ่านแล้วนั้น ตนเชื่อว่าเมื่อเด็กและเยาวชนอ่านมากขึ้นก็จะมีวุฒิภาวะมากขึ้น และสามารถกลั่นกรองเนื้อหาในการอ่านได้
       
       "หากอยากให้เด็กและเยาวชน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น ผู้จัดทำหนังสือจะต้องปรับตัว เพราะข้อมูลต่างๆ สามารถหาได้ผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว คอนเทนต์ในหนังสือจึงต้องตอบโจทย์กลุ่มผู้อ่านที่มากไปกว่าข้อมูลในอินเทอร์เน็ต" นายจรัญ กล่าว

คัดข่าวจากเว็บไซต์ http://www.webkroo.com/index.php?topic=1712

"ครู" ในศตวรรษที่ 21 จุดเปลี่ยนการศึกษาข้ามพรมแดน



"ครู" ในศตวรรษที่ 21 จุดเปลี่ยนการศึกษาข้ามพรมแดน

ในโลกแห่งการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลสำคัญต่อการผลักดันทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถสร้างขีดความสามารถและศักยภาพตั้งแต่วัยเด็กคือ "ครู" ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะที่สำคัญ

ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ และต่อยอดจนนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าและยั่งยืน บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด จึงได้จัดงาน "เวิลด์ไดแด็ค เอเชีย 2013" โดยเปิดโอกาสให้ครู, อาจารย์,ผู้บริหารการศึกษา, นักวิชาการ และผู้ที่อยู่ในวงการการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในวงเสวนาต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย

โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคศตวรรษที่ 21 ที่ก้าวผ่านมาประชิดตัวมากขึ้น บทบาทของ "ครู" จึงต้องปรับเปลี่ยนกลไกทางการศึกษาให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบกับการสร้างฐานความรู้ใหม่เพื่อเดินหน้าสู่การเปิดกว้างทางการเรียนรู้ข้ามพรมแดน

ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายอีกประการหนึ่งของการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเรื่องนี้ "ศ.ตัน อุน เซง"คณบดีคณะครุศาสตร์ สถาบันการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ (NIE) ชี้แนวทางที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาครูให้ได้มาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศ ภายใต้การปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การศึกษาข้ามพรมแดนของภูมิภาคอาเซียน : โอกาสและความท้าทายของประชาคมอาเซียน" ว่า "ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการศึกษาเป็นเสมือนการลงทุนทางความรู้ในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพของประชากรในการเชื่อมโยงไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศของตนเอง ฉะนั้นในฐานะครูผู้มีบทบาทสำคัญทางการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญต่อการมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ภายใต้บริบทที่หลากหลายในภูมิภาคอาเซียน"

โดยโจทย์ของครูอาเซียนในวันนี้คือ...
จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนมุ่งสู่คุณภาพแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างมีมาตรฐาน
ซึ่งผมขอเสนอ 3 แนวทาง ประกอบด้วย

"หนึ่ง
การบูรณาการระหว่างครูในอาเซียน โดยผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดให้กับประเทศของตนเองอย่างมีมาตรฐานในระดับอาเซียน ซึ่งการร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยขจัดปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐาน ให้พร้อมสู่การปฏิรูปการศึกษาใหม่อย่างมีคุณภาพเทียบเท่าในระดับสากล"

"เช่นเดียวกับการเตรียมครูให้มีคุณภาพ ซึ่งครูที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 จะต้องมีความสามารถในการเตรียมหลักสูตรที่ผสมผสานให้กับผู้เรียนในอาเซียนอย่างเหมะสม เพราะแน่นอนว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เมื่อเรามีประชากรทางการศึกษาที่หลากหลายทั้งวัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษา ฉะนั้นสิ่งนี้คือส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในอาเซียน"
"สอง การลงทุนเพื่อการศึกษาในระดับประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งครู, นักวิจัย, สถาบันการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องจับมือร่วมกันสร้างแนวคิดในการกำหนดนโยบายและรูปแบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีและความต่างทางเชื้อชาติในสังคมให้ได้ผลสัมฤทธิ์จนเกิดเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด ตรงนี้คือปัจจัยสำคัญเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันต่อไป"

"สาม ครูจะต้องสวมบทบาทสำคัญในสถาบัน โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการใฝ่รู้ที่เน้นสมรรถนะและทักษะเพื่อเสริมสร้างพื้นฐานทางการศึกษา ขณะเดียวกันครูจะต้องเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ

ด้วยตนเอง โดยเฉพาะเรื่องการปรับเปลี่ยนหลักสูตรหรือบทเรียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ของผู้เรียนตลอดเวลา ทั้งหมดนี้คือการสร้างอัตลักษณ์เชิงบวกให้กับครูอย่างแท้จริง"

เมื่อทั้ง 3 แนวทางประกอบเข้าด้วยกัน "ศ.ตัน อุน เซง" บอกว่า จะทำให้เราเห็นภาพใหม่ของ "ครู" ที่สามารถออกแบบการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของผู้เรียนอย่างแท้จริง

"จนทำให้ผู้เรียนมีกรอบแนวความคิดที่แตกต่างและกว้างขึ้น ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานทางความคิดเพื่อนำไปต่อยอดสู่การปฏิบัติ และสิ่งที่จะทำให้วิธีการนี้เกิดผล
อย่างเป็นรูปธรรม เราจะต้องกำหนดตัวชี้วัดในการประเมินผลของผู้เรียนและครูไปพร้อม ๆ กัน เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพของหลักสูตรให้ดีขึ้นต่อไป"

ทั้งหมดนี้คือมิติใหม่ของ "ครู" ในศตวรรษที่ 21 ที่ผู้เรียนทั้งอาเซียนวาดภาพฝันไว้
.............................................................................................................. 
จากเว็บไซต์  http://www.kruwandee.com/news-id8113.html

โพสต์เมื่อ วันที่ 23 ตุลาคม 2556

หลักสูตรการศึกษาแบบก็อปปี้...อันตรายของการศึกษาไทย !!!



หลักสูตรการศึกษาแบบก็อปปี้...อันตรายของการศึกษาไทย !!!


      จำนวน 0.5 หน่วยกิตหรือ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คือเวลาที่การเรียนนาฏศิลป์ของเด็กไทย เวลา 1 ชั่วโมงที่ว่าถูกตั้งคำถามต่อว่าหากนำมาเป็นเวลาในเรียนในวิชาอื่น จะเพียงพอในการพัฒนาศักยภาพทางการเรียนรู้ของเด็กไทย จนทักษะทางด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จะพัฒนาขึ้นได้เท่าเทียมประเทศอื่น ๆ จริงหรือ

        ร่างหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานฉบับใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการที่ลดเหลือเพียง 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จากเดิมที่มี 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กันว่าร่างหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ไม่ได้มีการนำหลักสูตรวิชานาฏศิลป์บรรจุไว้ในหลักสูตรใหม่

   แม้ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ถอดวิชานาฏศิลป์ไทยออกจากหลักสูตรแต่อย่างใด โดยระบุว่าวิชานาฏศิลป์ถูกจัดเข้าไปในกลุ่มสังคมและความเป็นมนุษย์เหมือนวิชาศิลปะหลายฝ่ายตั้งคำถามแก่ สพฐ. ว่า การที่เด็กไทยอ่อนทักษะทางด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ทำไมจึงไม่ไปแก้ปัญหาให้ตรงจุด และเกี่ยวข้องอย่างไรกับหลักสูตรนาฏศิลป์ ซึ่งเป็นรายวิชาที่มีพื้นที่ตารางสอนในโรงเรียนเพียง 0.5 หน่วยกิตหรือประมาณ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

        ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม และผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า แนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ออกมาช่วงหลังๆ ดูเหมือนจะพยายามลอกเลียนแบบประเทศต่างๆ โดยพยายามเอาระบบคุณภาพการศึกษาของต่างประเทศที่เห็นกันไปว่าประสบความสำเร็จ เอาประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ และพยายามลอกเลียนแบบมาปรับใช้ในการศึกษาของไทย “เป็นเรื่องที่อันตรายต่อการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะ เพราะมันยากที่จะไปคัดลอกระบบการศึกษาของต่างประเทศ ที่มีวัฒนธรรมต่างกัน ความคิด ความอ่าน พฤติกรรมของคนต่างกันมาใช้กับประเทศไทย ดังนั้นต้องระลึกไว้เสมอว่าประเทศไทยมีหลักสูตรนาฏศิลป์ไทย เพื่อบอกว่าเรามีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการเกิดขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหา อย่าเป็นตัวสร้างปัญหาเสียเอง”

      นอกจากนี้ยังมองว่าแต่ละประเทศมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน แม้แต่ประเทศเดียวกันยังมีรายละเอียดหลักสูตรแตกต่างกัน แต่ละประเทศ แต่ละพื้นที่มิศิลปวัฒนธรรมแตกต่างกัน ที่มักจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเด็ก เช่น ประเทศสเปน ที่ถือว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแบบก้าวกระโดด ยังมีการระบุไว้ชัดเจนว่าต้องให้ความสำคัญเชิงสร้างสรรค์ในเรื่องศิลปวัฒนธรรม โดยบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กนักเรียน รวมทั้งโรงเรียนประถมศึกษาในสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก ที่สามารถผสมผสานศิลปะกับการเรียนภาษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว

       นั่นหมายความว่าวิธีการเรียนการสอนของประเทศที่พัฒนาแล้วในเชิงวัตถุนิยม มีวิธีการเรียนการสอนแตกต่างไปจากระบบการศึกษาของประเทศไทย ที่ผู้บริหารบังคับครู ครูบังคับนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองก็บังคับนักเรียน สุดท้ายเด็กนักเรียนกลายเป็นเหมือนกระโถนหรือหุ่นยนต์ ถูกลดทอนคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ในมิติอื่นๆ ไป คุณค่าของเด็กถูกตัดสินกันเพียงตัวเลขและค่าคะแนนเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ได้เสนอแนะในการจัดการเรียนการสอนของไทยว่า การบริหารจัดการที่กระทรวงศึกษาธิการควรมุ่งคิดแนวนโยบายที่ควรสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากรให้กับโรงเรียนต่างๆ ให้พร้อม ทั้งคุณภาพครู ชีวิตความเป็นอยู่ของครู เทคโนโลยีการศึกษา วัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน และความปลอดภัยในชีวิตของบุคลากรทางการศึกษาและเด็กนักเรียน การเรียนการสอนควรมุ่งเน้นให้เด็กมีความเป็นมนุษย์ครบ ทั้งในเชิงของคุณค่า จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ มีจิตใจที่รักความสงบ รับผิดชอบดูแลห่วงใยตนเองและผู้อื่น กตัญญูรู้คุณแผ่นดิน อนุรักษ์ความเป็นไทย และในเชิงวัตถุนิยมต้องมีความรู้ในเชิงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ควบคู่กันไป


   ดังนั้นหลักสูตรนาฏศิลป์ไทยจึงยังเป็นส่วนสำคัญของหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กไทยต่อไป ส่วนผลการเรียนที่ดีขึ้นของเด็กนักเรียน ทั้งทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น คุณภาพของครู ความสามารถของครูในเทคนิคการสอน ที่จะสามารถทำงานร่วมกับเด็กนักเรียน นอกจากนี้ยังขึ้นกับความสนใจ ความพร้อมของเด็กนักเรียนเป็นสำคัญ ระยะเวลาเป็นเพียงปัจจัยประกอบเท่านั้น ถ้ามีเวลามากแค่ครูมีคุณภาพไม่เพียงพอ ไม่สามารถทำให้เด็กสนใจหรือเข้าใจได้การเอาเวลาที่เรียนนาฏศิลป์มาเพื่มให้แก่วิชาเหล่านี้ก็จะได้ไม่คุ้มเสีย หากนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการไม่คำนึงถึงความสำคัญของหลักสูตรนาฏศิลป์ ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการทำลายเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์ความเป็นไทย ไม่ใช่เป็นตัวทำลายความเป็นไทยเสียเอง “เหตุผลสำคัญประการเดียวที่หลักสูตรนาฏศิลป์ไทย ควรอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของไทย คือ การรักษาความเป็นไทยเอาไว้ กระทรวงศึกษาธิการต้องเรียนรู้ เข้าใจ และเข้าถึงเด็กนักเรียน ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่มีลักษณะเป็นเพียงตัวเลข เป็นเพียงเครื่องจักรอย่างเดียว”



โพสต์เมื่อวันที่ : 23 ต.ค. 2556

คัดบทความ วันที่ 23 ตค.2556


ทางสู่หายนะการศึกษาไทย : การทดสอบวัดผลกลาง



บทความดีๆที่สมควรเผยแพร่


    ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจลคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปฏิรูปการศึกษาในปี ๒๕๔๒ เพราะเดินแนวทางผิดพลาด ทำให้การศึกษาไทยอยู่ในสภาพ เน้นการสอนวิชา และสอนเพื่อสอบ ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วโลกว่าเป็นแนวทางที่ผิด  พร้อมๆ กับข่าวนักการศึกษาของประเทศที่คุณภาพการศึกษาติดอันดับดีที่สุดของโลก คือฟินแลนด์และฮ่องกง มาเล่าแนวทางของเขา ในงาน Educa 2013 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ก็มีข่าวกระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายใหญ่ สวนทางกับวิธีการของฟินแลนด์ 

       แน่นอนประเทศไทยไม่ใช่ฟินแลนด์ เราแตกต่างจากเขาหลายด้าน แต่นโยบายเน้นการทดสอบวัดผลกลาง จะยกระดับคุณภาพการศึกษาขึ้น หรือจะยิ่งซ้ำเติมให้คุณภาพการศึกษาไทยเลวลงไปอีก? คนไทยทุกคนควรช่วยกันไตร่ตรอง และออกความเห็น เพราะนี่คือนโยบายสาธารณะ และการศึกษาเป็นอนาคตของบ้านเมือง  พลเมืองไทยทุกคนต้องช่วยกันยกระดับคุณภาพการศึกษา All for Education 

ผมขอฟันธงว่า นโยบายและมาตรการเน้นใช้การทดสอบวัดผลกลาง จะทำให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำลงไปอีก

เพราะอะไร? ...  
เพราะจะทำให้การศึกษาไทยจมดิ่งหุบเหวของ "การสอนวิชา"
และ "การสอนเพื่อสอบ"  ลึกลงไปอีก
 

การสอนวิชา เป็นการศึกษาแห่งอดีต เป็นการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๐ และ ๑๙ ไม่ใช่การศึกษาเพื่อพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต หรือการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑

การสอบวัดผลกลาง สอบได้เพียงตัววิชาหรือเนื้อความรู้ ไม่สามารถสอบสมรรถภาพรวมเพื่อการเป็นพลเมือง (และพลโลก) ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Skills) ได้ ย้ำว่าการเรียนรู้สมัยใหม่ ผู้เรียนต้องได้มากกว่าความรู้ โดยต้องฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริงหรือเสมือนจริง จนเกิดทักษะในการใช้ความรู้ และทักษะในการสร้างความรู้ขึ้นใช้เอง ตลอดจนทักษะในการเรียนรู้

ทักษะอีกตัวหนึ่งที่ต้องการอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่ คือทักษะความร่วมมือ (collaboration skills)
การทดสอบวัดผลกลางจะวัดทักษะเหล่านี้อย่างไร? 


การศึกษาที่แท้จริง มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนทั้งคน พัฒนาทั้งด้านนอกและด้านใน การพัฒนาด้านในได้แก่การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ความมีน้ำใจ การเห็นแก่ส่วนรวม การช่วยเหลือผู้อื่น ความริเริ่มสร้างสรรค์ จินตนาการ การทดสอบวัดผลกลางจะวัดคุณสมบัติด้านในเหล่านี้อย่างไร?

การพัฒนาคนทั้งคน มีเป้าหมายพัฒนารอบด้าน ทั้งด้านพุทธิปัญญา การพัฒนาด้านอารมณ์ ด้านสังคม ด้านจิตใจหรือจิตวิญญาณ ด้านสุนทรียะ และด้านกายภาพ แต่การบังคับใช้การทดสอบวัดผลกลางจะวัดได้เฉพาะด้านพุทธิปัญญาเท่านั้น การทดสอบวัดผลกลางจึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้การศึกษาไทยไม่เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาคนรอบด้านยิ่งขึ้นไปอีก ที่จริงตอนนี้อาการก็หนักมากอยู่แล้ว น่าเป็นห่วงว่า มาตรการเข้มงวดกับการทดสอบวัดผลกลาง จะยิ่งทำให้โรงเรียนและครู ยิ่งไม่เอาใจใส่พัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็ก ที่ไม่ใช่ด้านรู้วิชา ที่นำไปตอบข้อสอบได้

ลองหันไปดูตัวอย่างแนวทางของฟินแลนด์ ซึ่งมีผู้สรุปไว้ใน นสพ. เดอะ เนชั่น ฉบับวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ ไว้อย่างดีมาก และอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่
http://www.nationmultimedia.com/national/The-FINNS-claim-that-quality-teaching-makes-great--30216996.html
และผมได้นำมาตีความเผยแพร่ต่อที่ http://www.gotoknow.org/posts/550899

หัวใจของความสำเร็จของการศึกษาฟินแลนด์คือ เขาใช้ครูเป็นปัจจัยขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่ใช้การทดสอบ นั่นคือเขาเชื่อถือครูของเขา (trust-based responsibility) ให้ครูเป็นผู้ทดสอบความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของศิษย์ โดยครูต้องรับผิดชอบต่อความแม่นยำในการทดสอบ และกระทรวงศึกษาธิการก็คอยช่วยให้ครูประเมินได้อย่างแม่นยำ

ฟินแลนด์ขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาโดยเชื่อถือไว้วางใจครู ให้เกียรติครู และคอยช่วยเหลือให้ครูรับเกียรตินั้นได้ โดยที่ครูต้องรับผิดชอบ และขวนขวายเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา คนที่ไม่เรียนรู้มาเป็นครูไม่ได้ คนที่จะมาเป็นครูต้องเลือกเฟ้นมาอย่างดี ครูที่ดีจะมีฐานะความเป็นอยู่ดี

" ครู "  เท่านั้นที่จะสามารถประเมินพัฒนาการของเด็กแบบครบด้านได้ จากการคลุกคลีและสังเกตพฤติกรรมของเด็ก เพื่อช่วยเหลือแนะนำในฐานะ “โค้ช” ของการเรียนรู้ แบบที่ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ (learning by doing)

ระบบการศึกษาที่ไม่ให้เกียรติ ไม่ไว้วางใจครู ไม่ส่งเสริมให้ครูเป็นตัวหลัก ในการรับผิดชอบการประเมินผลการเรียนรู้ของศิษย์ แบบประเมินรอบด้าน น่าจะเป็นการศึกษาที่ผิดพลาด

หัวใจสำคัญของคุณภาพการศึกษา  คือ เด็กต้องเรียนรู้ในระดับ “รู้จริง” (mastery learning) ไม่ใช่เรียนรู้แบบผิวเผินอย่างการศึกษาไทยในปัจจุบัน และจะยิ่งส่งเสริมความผิวเผินโดยระบบการสอบวัดผลกลาง
  • เมื่อไรการศึกษาเน้นเป้าหมาย “สอนเพื่อสอบ” การศึกษานั้นไม่มีทาง “เรียนแบบรู้จริง” 
  • เมื่อไรระบบการศึกษาเน้นที่การสอน ไม่เน้นการเรียน การศึกษานั้นไม่มีทางทำให้เด็ก “รู้จริง”
  • เมื่อไรก็ตาม ครูเป็นเจ้าของการสอน ไม่ใช่เด็กเป็นเจ้าของการเรียน การศึกษานั้นไม่มีทางทำให้เด็ก “รู้จริง” 

วิธีการเน้นการสอบวัดผลกลาง เป็นวิธีการของ Education 2.0
ในขณะนี้การศึกษาต้องเข้าสู่ Education 3.0 





วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

โศกนาฏกรรมภาษาไทย นักเรียน ป.๒-ม.๖, ครู และผู้บริหารสถานศึกษา เขียนคำระดับชั้น ป.๑ ไม่ได้้

บทความนี้คัดมาเพื่อการศึกษา
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ พบว่า
๑.ไม่มีการระบุวันเดือนปีที่ทดสอบ และ ไม่มีการระบุหน่วยงานที่ทดสอบ
๒.กลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนไม่มีภาคใต้
๓.กลุ่มตัวอย่างที่เป็นครูและผู้บริหารโรงเรียนไม่มีภาคเหนือ
๔.กลุ่มคำที่ใช้ทดสอบครูและผู้บริหาร จำนวน ๒๐ คำ ระบุว่าเป็นกลุ่มคำระดับมาตรฐานชั้น ป.๑ ได้แก่ 
 
  • เปรี้ยงปร้าง 
  • ครืดคราด 
  • ขี้เถ้าแกลบ 
  • เยิ่นเย้อ 
  • โขลกพริก 
  • หละหลวม 
  • ระลอกพลิ้ว 
  • เมื่อยล้า 
  • ต้วมเตี้ยม 
  • ทะนุถนอม 
  • กระหยิ่มยิ้มย่อง 
  • หลีกเร้น 
  • คลั่งไคล้ 
  • โสร่งปาเต๊ะ 
  • กระฉอกกระฉ่อน 
  • บ้องแบ๊ว 
  • ชะโงกง้ำ 
  • ระล่ำระลัก 
  • เลือนราง 
  • สล้างเสลา   
ทั้ง ๒๐ คำดังกล่าวนี้เป็นคำที่มีอักษรนำ, คำควบกล้ำ, คำตามมาตราตัวสะกด, คำที่ผันด้วยวรรณยุกต์ทั้ง ๕ เสียง  เพียงแต่มีหลายคำที่ไม่ใช่คำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นคำไม่คุ้นหู เป็นคำที่ใช้ในบทประพันธ์ เช่นคำว่า ระลอกพริ้ว, สล้างเสลา, ชะโงกง้ำ ผู้เขียนจึงจะขอศึกษากับครู ชั้น ป.๑ ว่าเป็นกลุ่มคำระดับมาตรฐาน ของ ชั้น ป.๑ จริงหรือไม่



รายละเอียดของบทความ มีดังนี้

โศกนาฏกรรมภาษาไทย
นักเรียน ป.๒-ม.๖ครู และผู้บริหารสถานศึกษา
เขียนคำระดับชั้น ป.๑ ไม่ได้ !!!

** สภาพ ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่ตกต่ำย่ำแย่ของนักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ทุกภูมิภาค ระหว่าง พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๖ เมื่อใช้คำระดับมาตรฐานชั้น ป.๑ ให้นักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา เขียนตามคำบอก” ปรากฏความจริงที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ ทั้งนักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษาสอบตกจำนวนมาก !!!

กรอบมาตรฐานคำระดับชั้น ป.๑ ที่ใช้ทดสอบนักเรียน ๕๐ คำประกอบด้วยมาตรฐานแห่งความครอบคลุมต่อไปนี้

๑.คำที่มีพยัญชนะต้นอักษร ๓ หมู่
๒.คำที่ตรงมาตราทั้ง ๙ แม่
๓.คำที่มีสระต่างๆ ไม่น้อยกว่า ๒๐ สระ
๔.คำควบกล้ำและอักษรนำ
๕.คำที่ผันเสียงอักษรทั้ง ๓ หมู่

คำทดสอบเขียนตามคำบอกชุดที่ ๑ ประกอบด้วย กาแฟ ทอผ้า มะลิลา สึนามิ อายิโนะ เตาะแตะ ฉอเลาะ เล้าไก่ เข้าถ้ำ ขยำขยี้ ปิงปอง โผงผาง ข้างล่าง ทุ่งนาแล้ง อึ่งอ่าง ไอโอดีน ปิ่นโต เส้นด้าย เล่นโขน ฟ้อนรำ ซุ่มซ่าม ยิ้มแย้ม อ่อนน้อม รอยเท้า กุ้งฝอย ผิวขาว แน่วแน่ ของฝาก ปึกแผ่น กุ๊กกิ๊ก ชอกช้ำ เจียระไน เผื่อแผ่ ด้ามมีด ฮึดสู้ โหดร้าย หุบเหว ตะเกียบ บ่ายเบี่ยง เลื่อนเวลา ทะเล่อทะล่า จดบันทึก ส้วมซึม กวยจั๊บ พริกเผ็ด ปลาบปลื้ม รื่นเริง หยิ่งผยอง เคลื่อนคล้อย สลักเสลา
กำหนด ๕๐ คำ ๕๐ คะแนนนักเรียนที่ได้คะแนนต่ำกว่า ๒๕ คะแนนถือว่า ไม่ผ่าน” การทดสอบ ซึ่งผลจากการทดสอบบางโรงเรียน มีดังนี้

ตัวอย่างการทดสอบนักเรียนจังหวัดภาคเหนือ 

๑.โรงเรียนขนาดเล็ก
ป.๒-๓ นักเรียนที่เข้าทดสอบ ๒๗ คนผู้สอบผ่าน ๐ คนผู้สอบไม่ผ่าน ๒๗ คน (๑๐๐%)
ป.๔-๖ นักเรียนที่เข้าทดสอบ ๔๒ คนผู้สอบผ่าน ๒ คนผู้สอบไม่ผ่าน ๔๐ คน (๙๕.๒๐%)

๒.โรงเรียนขนาดกลางโรงที่ ๑
ป.๔-๖ นักเรียนที่เข้าทดสอบ ๑๐๖ คนผู้สอบผ่าน ๑๕ คนผู้สอบไม่ผ่าน ๙๑ คน (๘๕.๘๐%)
ม.๑-๓ นักเรียนที่เข้าทดสอบ ๘๘ คนผู้สอบผ่าน ๒๙ คนผู้สอบไม่ผ่าน ๕๙ คน (๖๗.๐๐%)
๓.โรงเรียนขนาดกลางโรงที่ ๒
ป.๒ - ม.๓  นักเรียนที่เข้าทดสอบ ๒๒๓ คนผู้สอบผ่าน ๖๖ คนผู้สอบไม่ผ่าน ๑๕๗ คน (๗๐.๔๐%)    

๔.โรงเรียนขนาดใหญ่
ป.๔-๖ นักเรียนที่เข้าทดสอบ ๒๗๖ คนผู้สอบผ่าน ๘๕ คนผู้สอบไม่ผ่าน ๑๙๑ คน (๖๙.๒๐%)
ม.๑ นักเรียนที่เข้าทดสอบ ๘๔ คนผู้สอบผ่าน ๔๐ คนผู้สอบไม่ผ่าน ๔๒ คน (๕๒.๓๐%)

ตัวอย่างการทดสอบนักเรียน กทม.

๑.โรงเรียนขนาดกลาง 
ป.๒-๖ นักเรียนที่เข้าทดสอบ ๔๖๒ คนผู้สอบผ่าน ๒๔๖ คนผู้สอบไม่ผ่าน ๒๑๖ คน (๔๖.๗๕%)

๒.โรงเรียนขนาดใหญ่ โรงที่ ๑
ป.๒-ม.๓ นักเรียนที่เข้าทดสอบ ๑,๓๙๓ คนผู้สอบผ่าน ๘๖๘ คนผู้สอบไม่ผ่าน ๕๒๕ คน (๓๗.๖๙%)

๓.โรงเรียนขนาดใหญ่ โรงที่ ๒
ป.๒ – ๖ นักเรียนที่เข้าทดสอบ ๑,๒๐๐ คนผู้สอบผ่าน ๗๐๐ คนผู้สอบไม่ผ่าน ๕๐๐ คน (๔๑.๖๗%) โรงเรียนนี้ได้ตัดจำนวนที่เป็นเศษออก

ตัวอย่างการทดสอบนักเรียนภาคตะวันออก

๑.โรงเรียนขนาดเล็ก 
ป.๒-๖ นักเรียนที่เข้าทดสอบ ๕๑ คนผู้สอบผ่าน ๒๐ คนผู้สอบไม่ผ่าน ๓๑ คน (๖๐.๗๐%)

ตัวอย่างการทดสอบนักเรียนภาคกลาง

๑.โรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่  
ป.๒-ม.๕ นักเรียนที่เข้าทดสอบเฉพาะนักเรียนกินนอนบางส่วน ๔๒ คนผู้สอบผ่าน ๒๘ คนผู้สอบไม่ผ่าน ๑๔ คน (๓๓.๓๓%)

-----------------------------------------------------

ผลการทดสอบครูและผู้บริหารสถานศึกษา

          เมื่อ คัดเลือกคำ ๒๐ คำในระดับมาตรฐานชั้น ป.๑ อีกบางกลุ่มมาให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาทดสอบเขียนตามคำบอกบ้าง ก็ได้พบคำตอบที่น่าตกใจยิ่งนัก นั่นคือคำทดสอบเขียนตามคำบอกสำหรับครูและผู้บริหารสถานศึกษา ที่ประกอบด้วย เปรี้ยง ปร้าง ครืดคราด ขี้เถ้าแกลบ เยิ่นเย้อ โขลกพริก หละหลวม ระลอกพลิ้ว เมื่อยล้า ต้วมเตี้ยม ทะนุถนอม กระหยิ่มยิ้มย่อง หลีกเร้น คลั่งไคล้ โสร่งปาเต๊ะ กระฉอกกระฉ่อน บ้องแบ๊ว ชะโงกง้ำ ระล่ำระลัก เลือนราง สล้างเสลา ... ผลการทดสอบ มีดังนี้

ตัวอย่างการทดสอบภาคตะวันออก

๑.ครูสังกัดการปกครองท้องถิ่น โรงเรียนที่ ๑
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๑๕ คนผ่าน ๘ คนไม่ผ่าน ๗ คน (๔๗.๖๗%)
๒.ครูสังกัดการปกครองท้องถิ่น โรงเรียนที่ ๒
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๖ คนผ่าน ๒ คนไม่ผ่าน ๔ คน (๖๖.๖๗%)
๓.ครูสังกัดการปกครองท้องถิ่น โรงเรียนที่ ๓
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๒๕ คนผ่าน ๑๐ คนไม่ผ่าน ๑๕ คน (๖๐.๐๐%)
๔.ครูสังกัดการปกครองท้องถิ่น โรงเรียนที่ ๔ 
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๒๒ คนผ่าน ๔ คนไม่ผ่าน ๑๘ คน (๘๑.๘๒%)
๕.ครูสังกัดการปกครองท้องถิ่น โรงเรียนที่ ๕ 
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๑๕ คนผ่าน ๕ คนไม่ผ่าน ๑๐ คน (๖๖.๖๗%)
ฯลฯ

ตัวอย่างการทดสอบภาคกลาง

๑.ครูสังกัด สพป. จังหวัดที่ ๑
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๔๓ คนผ่าน ๒๖ คนไม่ผ่าน ๑๗ คน (๓๙.๕๓%)
๒.ครูสังกัด สพป. จังหวัดที่ ๒ 
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๑๐๖ คนผ่าน ๕๔ คนไม่ผ่าน ๕๒ คน (๔๙.๐๖%)
๓.ครูสังกัด สพป. จังหวัดที่ ๓ 
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๑๙๒ คนผ่าน ๑๑๖ คนไม่ผ่าน ๗๖ คน (๓๙.๕๘%)
๔.ครูสังกัด กทม. โรงเรียนที่ ๑ 
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๔๒ คนผ่าน ๓๕ คนไม่ผ่าน ๗ คน (๑๖.๖๗%)
๕.ครูสังกัด กทม. โรงเรียนที่ ๒
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๕๙ คนผ่าน ๔๓ คนไม่ผ่าน ๑๖ คน (๒๗.๑๒%)
ฯลฯ

ตัวอย่างการทดสอบภาคอีสาน

๑.ครูสังกัด สพป. จังหวัดที่ ๑ 
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๑๑๓ คนผ่าน ๘๖ คนไม่ผ่าน ๒๗ คน (๒๓.๘๙%)
๒.ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพป. จังหวัดที่ ๑ 
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๑๐๑ คนผ่าน ๖๘ คนไม่ผ่าน ๓๓ คน (๓๒.๖๗ %)
ฯลฯ

ตัวอย่างการทดสอบภาคใต้

๑. ครูสังกัด สพป. จังหวัดที่ ๑
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๑๙๔ คนผ่าน ๑๑๖ คนไม่ผ่าน ๗๘ คน (๔๐.๒๑%)
๒.ครูสังกัด สพป. จังหวัดที่ ๒
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๒๐๒ คนผ่าน ๑๓๔ คนไม่ผ่าน ๖๘ คน (๓๓.๖๖ %)
๓.ครูสังกัด สพป. จังหวัดที่ ๓
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๑๒๑ คนผ่าน ๔๘ คนไม่ผ่าน ๗๓ คน (๖๐.๓๓%)
๔.ครูสังกัด สช. จังหวัดที่ ๔
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๗๐ คนผ่าน ๒๖ คนไม่ผ่าน ๔๔ คน (๖๒.๘๖%)
๕.ครูและผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สช. จังหวัดที่ ๕
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๒๕ คนผ่าน ๕ คนไม่ผ่าน ๒๐ คน (๘๐.๐๐%)
๖.ครูสังกัด สพป. จังหวัดที่ ๖
จำนวนครูที่เข้าทดสอบ ๙๓ คนผ่าน ๗๒ คนไม่ผ่าน ๒๑ คน (๒๒.๕๘%)
ฯลฯ
...
หมายเหตุ คำ ทดสอบทั้งที่ใช้กับนักเรียนและครูข้างต้น นอกจากคัดเลือกโดยหลักแห่งความครอบคลุมมาตรฐานดังที่กล่าวแล้ว ยังเลือกโดยมุ่งวัดประเมินทักษะการเขียนมากกว่าทักษะความจำ  ซึ่งการเลือกคำทดสอบในหลักการนี้จะสามารถวัดประเมินการเขียนได้อย่างมี ประสิทธิภาพ  และไม่จำเป็นต้องสอบอ่าน  เพราะว่าคำใดที่ผู้เขียนเขียนได้ คำนั้นเขาย่อมอ่านได้อย่างแน่นอน 

ผศ.ศิวกานท์  ปทุมสูติ
ทุ่งสักอาศรม อู่ทอง สุพรรณบุรี
---------------------------------
ตัวอย่างลายมือครู "เขียนตามคำบอก"


 http://www.oknation.net/blog/krugarn/2013/09/20/entry-1


อีกหนึ่งบทความที่เกี่ยวข้อง
สกูีปข่าว "ไทยรัฐ" (๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕)
http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/261071


ภาษาไทยวิกฤต ทั้งเด็กและครูมาตรฐานต่ำ
ประสบการเรียนรู้และข้อมูลเชิงประจักษ์ระหว่างปีการศึกษา ๒๕๕๒ - ๒๕๕๔
ครูกานท์ (ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ)

 ไม่ว่าจะพูดถึงวันรักการอ่านหรือปีแห่งความรักการอ่าน จนกระทั่งกำหนดเป็นทศวรรษแห่งความรักการอ่านก็ตามที เรื่องนี้ยังยากนักที่จะพัฒนาไปถึงจุดหมายปลายทาง การขับเคลื่อนเชิงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการยังดำเนินไปแบบภาพฝันสวยหรูที่ไร้ความเป็นจริง เท่าที่พบเห็นอย่างมากก็แค่บรรลุผล “ตามรายงานปั้นแต่ง” ตามโครงการต่างๆ ที่จัดทำขึ้นให้สอดคล้องกับ “ตัวบ่งชี้ที่กำหนด” เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น มิอาจปลูกหว่านจิตวิญญาณแห่งรักให้เจริญงอกงามในวิถีชีวิตของเด็กไทยได้ ภาพที่คุ้นตาของเราไม่ว่าในสถานศึกษา ศูนย์การค้า หรือในที่สาธารณะใดๆ ยังคงเห็นแต่เด็กและเยาวชนไทยหมกมุ่นกับโทรศัพท์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ เกลื่อนตา น้อยนักที่เราจะเห็นพวกเขาพกพาหนังสือ หรืออ่านหนังสือ สาเหตุสำคัญก็เพราะว่าวิถีครอบครัวไทย พ่อแม่ และครูไทยยังรักการอ่านน้อย เด็กๆ ยังมีต้นแบบชีวิตในเรื่องนี้น้อย และที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือเด็กไทยอีกจำนวนไม่น้อยยัง “อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” 

 เป็นความจริงที่น่าตกใจเมื่อได้ทดสอบความสามารถในการ “เขียนตามคำบอก” ของเด็กไทยในวันนี้!  จากคำสำหรับทดสอบที่กำหนดมาตรฐานเพียงแค่ระดับทักษะชั้น ป.๑ เท่านั้น ให้นักเรียนตั้งแต่ชั้น ป. ๒ ขึ้นไปเขียนตามคำบอกจำนวน ๕๐ คำ ซึ่งมาตรฐานของคำระดับชั้น ป.๑ จะต้องมีองค์ประกอบครอบคลุมในข้อต่อไปนี้
 ๑.มีพยัญชนะต้นครอบคลุมอักษร ๓ หมู่ (อักษรต่ำ-กลาง-สูง)
 ๒.เป็นคำสะกดตรงมาตราสะกดทั้ง ๙ แม่
 ๓.ประกอบด้วยสระรวมแล้วไม่น้อยกว่า ๒๐ เสียง
 ๔.มีคำควบกล้ำและอักษรนำเบื้องต้น
 ๕.มีคำผันเสียงอักษรครบทั้ง ๓ หมู่

 คำที่กำหนด ๕๐ คำดังกล่าว ได้แก่
 กาแฟ ทอผ้า มะลิลา
 สึนามิ อายิโนะ  เตาะแตะ
 ฉอเลาะ เล้าไก่ เข้าถ้ำ
 ขยำขยี้ ปิงปอง โผงผาง
 ข้างล่าง ทุ่งนาแล้ง อึ่งอ่าง
 ไอโอดีน ปิ่นโต เส้นด้าย
 เล่นโขน ฟ้อนรำ ซุ่มซ่าม
 ยิ้มแย้ม อ่อนน้อม รอยเท้า
 กุ้งฝอย ผิวขาว แน่วแน่
 ของฝาก ปึกแผ่น กุ๊กกิ๊ก
 ชอกช้ำ เจียระไน เผื่อแผ่
 ด้ามมีด ฮึดสู้ โหดร้าย
 หุบเหว ตะเกียบ บ่ายเบี่ยง
 เลื่อนเวลา ทะเล่อทะล่า จดบันทึก 
 ส้วมซึม กวยจั๊บ พริกเผ็ด 
 รื่นเริง ปลาบปลื้ม เคลื่อนคล้อย
 หยิ่งผยอง สลักเสลา

เกณฑ์การทดสอบกำหนด ๕๐ คำเป็น ๕๐ คะแนน นักเรียนที่ได้ ๒๕ คะแนนขึ้นไปจึงถือว่า “ผ่านการทดสอบ” ซึ่งผลการสุ่มทดสอบนักเรียนในภาคต่างๆ มีดังนี้

สุ่มสำรวจโรงเรียนในจังหวัดภาคเหนือจังหวัดหนึ่ง
โรงเรียนที่ ๑ (ขนาดเล็ก)
 ป.๒-๓ นักเรียน ๒๗  คน 
 ผ่าน  - คน  คิดเป็นร้อยละ -
 ไม่ผ่าน  ๒๗ คน  คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐
 ป.๔-๖ นักเรียน ๔๒ คน
 ผ่าน ๒ คน  คิดเป็นร้อยละ ๔.๘๐
 ไม่ผ่าน  ๔๐ คน  คิดเป็นร้อยละ ๙๕.๒๐
โรงเรียนที่ ๒ (ขนาดกลาง)
 ป.๔-๖ นักเรียน ๑๐๖  คน 
 ผ่าน ๑๕ คน  คิดเป็นร้อยละ ๑๔.๒๐
 ไม่ผ่าน  ๙๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๘๕.๘๐
 ม.๑-๓ นักเรียน ๘๘ คน
 ผ่าน ๒๙ คน  คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๐๐
 ไม่ผ่าน  ๕๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๗.๐๐
โรงเรียนที่ ๓ (ขนาดใหญ่)
 ป.๔-๖ นักเรียน ๒๗๖  คน 
 ผ่าน ๘๕ คน  คิดเป็นร้อยละ ๓๐.๘๐
 ไม่ผ่าน  ๑๙๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๙.๒๐
 ม.๑ นักเรียน ๘๔ คน
 ผ่าน ๔๐ คน  คิดเป็นร้อยละ ๔๗.๗๐
 ไม่ผ่าน  ๔๔ คน  คิดเป็นร้อยละ ๕๒.๓๐

สุ่มสำรวจโรงเรียนในจังหวัดภาคกลางจังหวัดที่ ๑
โรงเรียนที่ ๑
  ป.๒-๖ นักเรียน ๕๔  คน 
 ผ่าน ๔๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๗.๗๘ 
 ไม่ผ่าน  ๑๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๒.๒๒

สุ่มสำรวจโรงเรียนในจังหวัดภาคกลางจังหวัดที่ ๒ (กทม.)
โรงเรียนที่ ๑ (ขนาดกลาง)
 ป.๒-๖ นักเรียน ๔๖๒  คน 
 ผ่าน  ๒๔๖ คน  คิดเป็นร้อยละ ๕๓.๒๕
 ไม่ผ่าน  ๒๑๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๖.๗๕
โรงเรียนที่ ๒ (ขนาดใหญ่)
 ป.๒-ม.๓ นักเรียน ๑,๓๙๓  คน 
 ผ่าน  ๘๖๘ คน  คิดเป็นร้อยละ ๖๒.๓๑
 ไม่ผ่าน  ๕๒๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๗.๖๙

สุ่มสำรวจโรงเรียนในจังหวัดภาคตะวันออกจังหวัดหนึ่ง
โรงเรียนที่ ๑
 ป.๒-๖ นักเรียน ๑๒๐  คน 
 ผ่าน  ๕๑ คน  คิดเป็นร้อยละ ๔๒.๕๐
 ไม่ผ่าน  ๖๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๗.๕๐
โรงเรียนที่ ๒
 ป.๒-๖ นักเรียน ๑๓๕  คน 
 ผ่าน  ๓๔ คน  คิดเป็นร้อยละ ๒๕.๒๐
 ไม่ผ่าน  ๑๐๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๔.๘๐
โรงเรียนที่ ๓
  ป.๒-ม.๓ นักเรียน ๑๐๖  คน 
 ผ่าน ๑๕ คน  คิดเป็นร้อยละ ๑๔.๒๐
 ไม่ผ่าน  ๙๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๘๕.๘๐

สุ่มสำรวจโรงเรียนในจังหวัดภาคอีสานจังหวัดหนึ่ง
โรงเรียนที่ ๑
 ป.๒-ป.๖ นักเรียน ๓๐๐  คน 
 ผ่าน ๑๗๓ คน  คิดเป็นร้อยละ ๕๗.๖๗
 ไม่ผ่าน  ๑๒๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๒.๓๓
โรงเรียนที่ ๒
 ป.๒-ป.๖ นักเรียน ๒๑๒  คน 
 ผ่าน ๑๐๑ คน  คิดเป็นร้อยละ ๔๗.๖๔
 ไม่ผ่าน  ๑๑๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๒.๓๖

สุ่มสำรวจโรงเรียนในจังหวัดภาคใต้จังหวัดหนึ่ง
โรงเรียนที่ ๑
 ป.๒-ป.๖ นักเรียน ๒๘๕  คน 
 ผ่าน ๑๗๑ คน  คิดเป็นร้อยละ ๖๐.๐๐
 ไม่ผ่าน  ๑๑๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๐.๐๐
 โรงเรียนที่ ๒
 ป.๒-ป.๖ นักเรียน ๑๗๒  คน 
 ผ่าน ๑๑๗ คน  คิดเป็นร้อยละ ๖๘.๐๒
 ไม่ผ่าน  ๕๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๑.๙๘

  สรุป – ค่าเฉลี่ยการสุ่มทดสอบเขียนตามคำบอกจากคำในระดับทักษะชั้น ป.๑ จำนวน ๕๐ คำ (๕๐ คะแนน) ของนักเรียนชั้น ป.๑ – ม.๓ ทุกภาค จำนวน ๓,๘๖๒ คน นักเรียนที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์ ๒๕ คะแนนขึ้นไปมีจำนวน  ๑,๙๘๙ คน  คิดเป็นร้อยละ๕๑.๕๐  สำหรับนักเรียนที่ได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ ๒๕ คะแนนมีจำนวน  ๑,๘๗๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๘.๕๐

 นอกจากนี้ยังได้ใช้หลักการเดียวกันนี้โดยอนุโลมทดสอบครูผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษา ด้วยการกำหนดคำ ๒๐ คำ (๒๐ คะแนน) ให้เขียนตามคำบอกโดยไม่ต้องเขียนชื่อของตนที่กระดาษคำตอบ อาจเขียนรหัสหรือสัญลักษณ์ใดๆ ไว้เป็นเครื่องสังเกตเฉพาะตนหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีความรู้สึกเป็นกังวลกับการถูกเปิดเผยศักยภาพในการเขียนได้หรือเขียนไม่ได้ โดยกำหนดคำ ๒๐ คำที่ครูไม่คุ้นเคยบ้าง ไม่คุ้นเคยบ้าง ดังนี้
  ทะนุถนอม ไซ่ง่อน เลือนราง
  หร็อมแหร็ม ตุ้ยนุ้ย ขะมักเขม้น
  โป๊ะเชะ เคลิบเคลิ้ม ชะโงกง้ำ
  โอ้กอ้าก  ระล่ำระลัก โขยกเขยก
  ฟั่นเชือก หน็อยแน่ เพ่นพ่าน
  ปั้นจิ้มปั้นเจ๋อ เหลาเหย่ เขี้ยวโง้ง   
  ประดักประเดิด ปวกเปียก
  
  ผู้ที่เขียนตามคำบอกได้ ๑๐ คะแนนขึ้นไปถือ “ผ่าน” ในมาตรฐานทักษะ ป.๑ ผลปรากฏว่าครูที่ทดสอบ “ผ่าน” และ “ไม่ผ่าน” ตามเกณฑ์กำหนด มีดังนี้
 สุ่มสำรวจครูในโรงเรียนจังหวัดภาคตะวันออกจังหวัดหนึ่ง
   โรงเรียนที่ ๑  
  จำนวน ๑๕ คน
  ผ่าน ๘ คน  คิดเป็นร้อยละ ๕๓.๓๓
  ไม่ผ่าน ๗ คน  คิดเป็นร้อยละ ๔๗.๖๗
  โรงเรียนที่ ๒  
  จำนวน ๖ คน
  ผ่าน ๒ คน  คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๓๓
  ไม่ผ่าน ๔ คน  คิดเป็นร้อยละ ๖๖.๖๗
  โรงเรียนที่ ๓ 
  จำนวน ๒๕ คน
  ผ่าน ๑๐ คน  คิดเป็นร้อยละ ๔๐.๐๐
  ไม่ผ่าน ๑๕ คน  คิดเป็นร้อยละ ๖๐.๐๐
  โรงเรียนที่ ๔ 
  จำนวน ๒๒ คน
  ผ่าน ๔ คน  คิดเป็นร้อยละ ๑๘.๑๘
  ไม่ผ่าน ๑๘ คน  คิดเป็นร้อยละ ๘๑.๘๒
  โรงเรียนที่ ๕ 
  จำนวน ๑๕ คน
  ผ่าน ๕ คน  คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๓๓
  ไม่ผ่าน ๑๐ คน  คิดเป็นร้อยละ ๖๖.๖๗

 สุ่มสำรวจครูในโรงเรียนจังหวัดภาคกลางบางจังหวัด
  ภาคกลางจังหวัดที่ ๑
   จำนวน ๑๙๒  คน 
   ผ่าน ๑๑๖  คน คิดเป็นร้อยละ ๖๐.๔๒
   ไม่ผ่าน ๗๖  คน คิดเป็นร้อยละ ๓๙.๕๘
  ภาคกลางจังหวัดที่ ๒  
  โรงเรียนที่ ๑ (กทม.)
  จำนวน ๔๒ คน
  ผ่าน ๓๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๘๓.๓๓
  ไม่ผ่าน ๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๖๗
 โรงเรียนที่ ๒ (กทม.)
  จำนวน ๕๙ คน
  ผ่าน ๔๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๒.๘๘
  ไม่ผ่าน ๑๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๗.๑๒
 สุ่มสำรวจครูในโรงเรียนจังหวัดภาคใต้บางจังหวัด
  ภาคใต้จังหวัดที่ ๑
  จำนวน ๑๙๔ คน
  ผ่าน ๑๑๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๙.๗๙
  ไม่ผ่าน ๗๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๐.๒๑
 ภาคใต้จังหวัดที่ ๒
  จำนวน ๒๐๒ คน
  ผ่าน ๑๓๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๖.๓๔
  ไม่ผ่าน ๖๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๖๖
 ภาคใต้จังหวัดที่ ๓
  จำนวน ๑๒๑ คน
  ผ่าน ๔๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๙.๖๗
  ไม่ผ่าน ๗๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๐.๓๓
 สุ่มสำรวจครูและผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดภาคอีสานบางจังหวัด
  ภาคอีสานจังหวัดที่ ๑ (ครูผู้สอน)
  จำนวน ๑๑๓ คน
  ผ่าน ๘๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๖.๑๑
  ไม่ผ่าน ๒๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๓.๘๙
  ภาคอีสานจังหวัดที่ ๒ (ผู้บริหารสถานศึกษา)
  จำนวน ๑๐๑ คน
  ผ่าน ๖๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๗.๓๓
  ไม่ผ่าน ๓๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๒.๖๗
 (ดูตัวอย่างลายมือครูที่ไม่ผ่านเกณฑ์การทดสอบ-จากแนบไฟล์)

 สรุป – ค่าเฉลี่ยการสุ่มทดสอบเขียนตามคำบอกของครูและผู้บริหารสถานศึกษาจากคำระดับมาตรฐานทักษะ ป.๑ จำนวน ๒๐ คำ (๒๐ คะแนน) ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคอีสาน จำนวน ๑,๑๐๗ คน ผู้ที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์ ๑๐ คะแนนขึ้นไปมีจำนวน ๖๗๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๐.๙๘  และผู้ที่ได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ ๒๕ คะแนนมีจำนวน ๔๓๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๙.๐๒
 น่าตกใจนัก!!!

 ปรากฏการณ์การอ่านเขียนของเด็กและครูที่ตกต่ำอย่างหนักดังผลที่แสดง มีสาเหตุสำคัญมาจากกระบวนการเรียนการสอนที่ผิดพลาด และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างก็ยังดื้อดันทุรังกระทำในสิ่งที่ผิดพลาดซ้ำซากกันอยู่ก็คือ
 ๑.การสอนภาษาไทยที่ผิดไปจากวิถีทักษะที่ถูกต้อง นั่นคือการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นแต่ประสบการณ์ภาษาในด้านการ “จำรูปคำ” มากกว่าการ “เปล่ง-ท่อง-อ่าน-สะกด-ผัน-คัด-เขียน”  ...นี่เป็นสาเหตุใหญ่ที่ผิดพลาด ด้วยว่าการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อการอ่านออกเขียนได้เบื้องต้นนั้น จะต้องสอนด้วย “วิถีแจกลูก สะกดคำ ผันเสียง คัดและเขียนตามคำบอก” เป็นหลัก ส่วนวิธีการเรียนการสอนแบบอื่นๆ อาจนำมาใช้ร่วมได้บ้าง แต่ให้เป็นเพียงแค่เสริมการเรียนรู้เท่านั้น
 ๒.เด็กในยุคสมัยปัจจุบันมีภาวะสมาธิสั้นกันมาก  เนื่องจากการเลี้ยงดูที่ผิดพลาด  การบริโภคแบบทุโภชนาการ  การติดสื่ออีเล็กทรอนิคและเกมต่างๆ  ผนวกกับการจัดการเรียนการสอนของครูที่ผิดวิถี (ดังที่กล่าวในข้อ ๑) ที่เน้นความรู้ความจำมากกว่าการฝึกย้ำทักษะ เด็กๆ ที่สมาธิสั้นและเรียนรู้แบบตามรู้ตามจำจะลืมง่าย  ไม่สามารถอ่านได้เขียนได้อย่างแท้จริง จะอ่านได้เขียนได้ก็แต่คำที่จำรูปคำมาเท่านั้น
 ๓.นโยบายและการบริหารจัดการที่ผิดพลาดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งไม่ควรมองข้าม ตั้งแต่ระดับกระทรวง, สพฐ., สมศ, สพป. ถึงระดับโรงเรียนต่างพากันให้ความสำคัญที่ชั้น ป.๓ และ ป.๖ โดยละเลยกับความสำคัญของการเตรียมพื้นฐานการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัยตั้งแต่ระดับอนุบาล และละเลยกับการจัดการเรียนการสอนตามวิถีอ่านเขียนภาษาไทยที่ถูกต้องในระดับ ป.๑ ปล่อยให้การเร่งอวดอ่านเขียนในระดับอนุบาลที่ผิดขั้นตอนทำลายการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย และปล่อยให้ครูที่ไม่มีประสบการณ์ “แจกลูก-สะกดคำ-ผันเสียง-คัดเขียน” สอนระดับ ป.๑ แบบพร่องทักษะ ทั้งขาดการนิเทศและตรวจสอบในระดับที่เหมาะสม

 ทั้งสามสาเหตุแห่งปัญหา ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ยังคงถูกปล่อยปละละเลยในการบริหารจัดการของผู้บริหารการศึกษาทุกระดับ ทั้งที่ถ้าจะเอาจริงกับเรื่องนี้  ก็เป็นสิ่งที่ “แก้ง่ายนิดเดียว” เหมือนที่กล่าวไว้ในหนังสือ “เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว” นั่นแหละ  โดยสาระสำคัญก็คือ โรงเรียนจะต้องจัดทำโครงการป้องกันปัญหาและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ๑.โครงการป้องกันปัญหา โดยจัดการเรียนการสอนแบบปูพื้นความพร้อมระดับอนุบาลให้ถูกต้อง ไม่เร่งร้อนทำลายศักยภาพของเด็ก และจัดการเรียนการสอนสร้างเสริมทักษะภาษาระดับ ป.๑ ให้ถูกต้อง  รวมทั้งมีมาตรฐานทักษะอ่านออกเขียนได้อย่างเพียงพอแท้จริง ๒.โครงการแก้ปัญหาเร่งด่วน ๔ เดือนอ่านออกเขียนได้ สำหรับนักเรียนตั้งแต่ ป.๒ ขึ้นไปทุกคนที่ “ไม่ผ่าน” การทดสอบ ด้วยการสอนแบบ “บันไดทักษะ ๔ ขั้น” ที่ว่า
 ขั้นที่หนึ่ง แจกลูก ให้ผูกจำ
 ขั้นที่สอง อ่านคำ ย้ำวิถี
 ขั้นที่สาม คัดลายมือ ซ้ำอีกที
 ขั้นที่สี่ “เขียนคำบอก” ทุกชั่วโมง
 ทั้งนี้ตามลำดับแบบฝึกและกระบวนการในหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งโรงเรียนที่ได้ตั้งใจจัดทำโครงการแก้ปัญหาร่วมกับ “ทุ่งสักอาศรม” อย่างจริงจัง ต่างก็ได้ประจักษ์ในสัมฤทธิผลมาแล้วในทุกภูมิภาค

 ตัวอย่างโรงเรียนที่สำรวจพบปัญหา “เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” ตามเกณฑ์ที่กำหนด และได้จัดทำโครงการแก้ปัญหา ทั้งที่สำเร็จลุล่วงแล้วและที่กำลังดำเนินการอยู่อีกเป็นจำนวนมาก  บางส่วนที่ได้ติดตามรับรู้ข้อมูลการดำเนินการจริงจัง ได้แก่ สพป.อุทัยธานี เขต ๑ และ ๒, สพป.นครสวรรค์ เขต ๒ แล ๓, สพป.ขอนแก่น เขต ๓, สพป.ปัตตานี เขต ๑ และ ๒, สพป.บุรีรัมย์ เขต ๒, สพป.นครราชสีมา เขต ๒, โรงเรียนสังกัด กทม., โรงเรียนสังกัด สช.ยะลา, โรงเรียนสังกัด กศน.ตาก, กลุ่มโรงเรียน และโรงเรียนทั้งสังกัด สพฐ.และสังกัด สช.อีกหลายแห่ง
 ตัวอย่างโรงเรียนที่แก้ปัญหาสัมฤทธิผล เช่น โรงเรียนวัดไทร สพป.สุพรรณบุรี เขต ๓โรงเรียนบ้านบูดน สพป.ปัตตานี เขต ๒โรงเรียนบ้านคูเมือง สพป.อุราชธานี เขต ๔, โรงเรียนวัดโพธิ์เขียว สพป.สุพรรณบุรี เขต ๒, โรงเรียนบ้านหนองแขมอีโล สพป.ขอนแก่น เขต ๓, โรงเรียนบ้านเขาวง, โรงเรียนอนุบาลลานสัก และโรงเรียนอนุบาลหนองขุนชาติ สพป.อุทัยธานี เขต ๒, โรงเรียนตากสินราชานุสรณ์ สพป.ตาก เขต ๑, โรงเรียนบ้านแสลงโทน โรงเรียนนิคมสร้างตนเอง ๓ และโรงเรียนบ้านไพศาลสามัคคี สพป.บุรีรัมย์ เขต ๒, โรงเรียนมูลนิธิพัฒนาศาสน์ จ.สงขลา, โรงเรียนศรีวิทยา จ.ฉะเชิงเทรา ฯลฯ

 สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของการแก้ปัญหาก็คือกระทรวงศึกษาธิการจะต้องไม่ลืมว่า ขณะนี้ครูผู้สอนเองก็ย่ำแย่ในทางทักษะภาษาอย่างน่าวิตก จะต้องแสวงหาแนวทางแก้ไขทั้งที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าและการป้องกันปัญหาในกระบวนการผลิตสร้างครูในอนาคตอย่างแม่นตรงต่อคุณภาพแท้จริงต่อไปด้วย


จาก http://www.oknation.net/blog/krugarn/2012/05/18/entry-1
วันที่ 22 กันยายน 2556