Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ทางสู่หายนะการศึกษาไทย : การทดสอบวัดผลกลาง



บทความดีๆที่สมควรเผยแพร่


    ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจลคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปฏิรูปการศึกษาในปี ๒๕๔๒ เพราะเดินแนวทางผิดพลาด ทำให้การศึกษาไทยอยู่ในสภาพ เน้นการสอนวิชา และสอนเพื่อสอบ ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วโลกว่าเป็นแนวทางที่ผิด  พร้อมๆ กับข่าวนักการศึกษาของประเทศที่คุณภาพการศึกษาติดอันดับดีที่สุดของโลก คือฟินแลนด์และฮ่องกง มาเล่าแนวทางของเขา ในงาน Educa 2013 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ก็มีข่าวกระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายใหญ่ สวนทางกับวิธีการของฟินแลนด์ 

       แน่นอนประเทศไทยไม่ใช่ฟินแลนด์ เราแตกต่างจากเขาหลายด้าน แต่นโยบายเน้นการทดสอบวัดผลกลาง จะยกระดับคุณภาพการศึกษาขึ้น หรือจะยิ่งซ้ำเติมให้คุณภาพการศึกษาไทยเลวลงไปอีก? คนไทยทุกคนควรช่วยกันไตร่ตรอง และออกความเห็น เพราะนี่คือนโยบายสาธารณะ และการศึกษาเป็นอนาคตของบ้านเมือง  พลเมืองไทยทุกคนต้องช่วยกันยกระดับคุณภาพการศึกษา All for Education 

ผมขอฟันธงว่า นโยบายและมาตรการเน้นใช้การทดสอบวัดผลกลาง จะทำให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำลงไปอีก

เพราะอะไร? ...  
เพราะจะทำให้การศึกษาไทยจมดิ่งหุบเหวของ "การสอนวิชา"
และ "การสอนเพื่อสอบ"  ลึกลงไปอีก
 

การสอนวิชา เป็นการศึกษาแห่งอดีต เป็นการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๐ และ ๑๙ ไม่ใช่การศึกษาเพื่อพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต หรือการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑

การสอบวัดผลกลาง สอบได้เพียงตัววิชาหรือเนื้อความรู้ ไม่สามารถสอบสมรรถภาพรวมเพื่อการเป็นพลเมือง (และพลโลก) ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Skills) ได้ ย้ำว่าการเรียนรู้สมัยใหม่ ผู้เรียนต้องได้มากกว่าความรู้ โดยต้องฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริงหรือเสมือนจริง จนเกิดทักษะในการใช้ความรู้ และทักษะในการสร้างความรู้ขึ้นใช้เอง ตลอดจนทักษะในการเรียนรู้

ทักษะอีกตัวหนึ่งที่ต้องการอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่ คือทักษะความร่วมมือ (collaboration skills)
การทดสอบวัดผลกลางจะวัดทักษะเหล่านี้อย่างไร? 


การศึกษาที่แท้จริง มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนทั้งคน พัฒนาทั้งด้านนอกและด้านใน การพัฒนาด้านในได้แก่การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ความมีน้ำใจ การเห็นแก่ส่วนรวม การช่วยเหลือผู้อื่น ความริเริ่มสร้างสรรค์ จินตนาการ การทดสอบวัดผลกลางจะวัดคุณสมบัติด้านในเหล่านี้อย่างไร?

การพัฒนาคนทั้งคน มีเป้าหมายพัฒนารอบด้าน ทั้งด้านพุทธิปัญญา การพัฒนาด้านอารมณ์ ด้านสังคม ด้านจิตใจหรือจิตวิญญาณ ด้านสุนทรียะ และด้านกายภาพ แต่การบังคับใช้การทดสอบวัดผลกลางจะวัดได้เฉพาะด้านพุทธิปัญญาเท่านั้น การทดสอบวัดผลกลางจึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้การศึกษาไทยไม่เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาคนรอบด้านยิ่งขึ้นไปอีก ที่จริงตอนนี้อาการก็หนักมากอยู่แล้ว น่าเป็นห่วงว่า มาตรการเข้มงวดกับการทดสอบวัดผลกลาง จะยิ่งทำให้โรงเรียนและครู ยิ่งไม่เอาใจใส่พัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็ก ที่ไม่ใช่ด้านรู้วิชา ที่นำไปตอบข้อสอบได้

ลองหันไปดูตัวอย่างแนวทางของฟินแลนด์ ซึ่งมีผู้สรุปไว้ใน นสพ. เดอะ เนชั่น ฉบับวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ ไว้อย่างดีมาก และอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่
http://www.nationmultimedia.com/national/The-FINNS-claim-that-quality-teaching-makes-great--30216996.html
และผมได้นำมาตีความเผยแพร่ต่อที่ http://www.gotoknow.org/posts/550899

หัวใจของความสำเร็จของการศึกษาฟินแลนด์คือ เขาใช้ครูเป็นปัจจัยขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่ใช้การทดสอบ นั่นคือเขาเชื่อถือครูของเขา (trust-based responsibility) ให้ครูเป็นผู้ทดสอบความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของศิษย์ โดยครูต้องรับผิดชอบต่อความแม่นยำในการทดสอบ และกระทรวงศึกษาธิการก็คอยช่วยให้ครูประเมินได้อย่างแม่นยำ

ฟินแลนด์ขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาโดยเชื่อถือไว้วางใจครู ให้เกียรติครู และคอยช่วยเหลือให้ครูรับเกียรตินั้นได้ โดยที่ครูต้องรับผิดชอบ และขวนขวายเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา คนที่ไม่เรียนรู้มาเป็นครูไม่ได้ คนที่จะมาเป็นครูต้องเลือกเฟ้นมาอย่างดี ครูที่ดีจะมีฐานะความเป็นอยู่ดี

" ครู "  เท่านั้นที่จะสามารถประเมินพัฒนาการของเด็กแบบครบด้านได้ จากการคลุกคลีและสังเกตพฤติกรรมของเด็ก เพื่อช่วยเหลือแนะนำในฐานะ “โค้ช” ของการเรียนรู้ แบบที่ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ (learning by doing)

ระบบการศึกษาที่ไม่ให้เกียรติ ไม่ไว้วางใจครู ไม่ส่งเสริมให้ครูเป็นตัวหลัก ในการรับผิดชอบการประเมินผลการเรียนรู้ของศิษย์ แบบประเมินรอบด้าน น่าจะเป็นการศึกษาที่ผิดพลาด

หัวใจสำคัญของคุณภาพการศึกษา  คือ เด็กต้องเรียนรู้ในระดับ “รู้จริง” (mastery learning) ไม่ใช่เรียนรู้แบบผิวเผินอย่างการศึกษาไทยในปัจจุบัน และจะยิ่งส่งเสริมความผิวเผินโดยระบบการสอบวัดผลกลาง
  • เมื่อไรการศึกษาเน้นเป้าหมาย “สอนเพื่อสอบ” การศึกษานั้นไม่มีทาง “เรียนแบบรู้จริง” 
  • เมื่อไรระบบการศึกษาเน้นที่การสอน ไม่เน้นการเรียน การศึกษานั้นไม่มีทางทำให้เด็ก “รู้จริง”
  • เมื่อไรก็ตาม ครูเป็นเจ้าของการสอน ไม่ใช่เด็กเป็นเจ้าของการเรียน การศึกษานั้นไม่มีทางทำให้เด็ก “รู้จริง” 

วิธีการเน้นการสอบวัดผลกลาง เป็นวิธีการของ Education 2.0
ในขณะนี้การศึกษาต้องเข้าสู่ Education 3.0