Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ข่าว : มหกรรมหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 18 วันที่ 16-27 ตุลาคม 2556






ประชาชนแห่ซื้อหนังสือในงาน "มหกรรมหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 18" พบรายได้สะพัดแล้วมากกว่า 300 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมงานตลอดสัปดาห์มากกว่า 1.3 ล้านคน นายกสมาคมฯผู้จัดพิมพ์เชื่อ ยอดผู้ร่วมงานและยอดขายเกินเป้า พร้อมโต้แทนเยาวชนไม่ได้อ่านน้อยลง แต่หันอ่านสื่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้น ย้ำอ่านอะไรไม่สำคัญขอให้รักการอ่านจะช่วยให้มีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น

ข่าววันนี้ (23 ต.ค.2556) ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศวันที่ 8 ของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 18 (Book Expo Thailand 2013) ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 16-27 ต.ค. 2556 โดยปีนี้จัดภายใต้แนวคิด "หนังสือเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนโลก" นั้น มีประชาชนจำนวนมากทุกเพศทุกวัยเดินต่างทางมาเลือกซื้อและสรรหาหนังสือกลับบ้าน โดยในวันปิยมหาราช ซึ่งถือเป็นวันหยุดนั้นมีผู้ปกครองพาบุตรหลานมาร่วมสนุกกับกิจกรรมภายในงาน และร่วมกันสรรหาหนังสืออย่างคึกคัก
       
       นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือฯ ภายในรอบสัปดเาห์คือ ตั้งแต่วันที่ 16 - 22 ต.ค. ขณะนี้มีมากกว่า 1.3 ล้านคนแล้ว ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 ล้านคนขึ้นไป ซึ่งคาดว่าตลอดทั้ง 12 วันของการจัดงานจะมียอดผู้มาร่วมงานเกินเป้าที่วางไว้ ขณะที่ยอดขายหนังสือภายในงานปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 600 ล้านบาท ขณะนี้มีการจัดจำหน่ายหนังสือไปแล้วมากกว่า 300 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องยอดขายแล้ว วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดงานมหกรรมหนังสือฯ หรืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและนานาชาติ ซึ่งจัดไปเมื่อช่วงปลาย มี.ค. - ต้น เม.ย. นั้น ล้วนต้องการรณรงค์ให้คนไทยหันมาอ่านหนังสือให้มากขึ้น
       
       "เท่าที่จัดงานสัปดาห์หนังสือฯและงานมหกรรมหนังสือฯ มา พบว่า ผู้มาร่วมงานมีเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงว่าประชาชนคนไทยให้ความสนใจกับหนังสือและการอ่านมากยิ่งขึ้น แต่จากการวัดสถิติการอ่านของประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติกลับพบว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง ตรงนี้คิดว่าเป็นในเรื่องภาพรวมของประเทศ เพราะการจัดทั้งสองงานนั้นเป็นการจัดงานในกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว" นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าวและว่า สำหรับสาเหตุที่ไม่จัดงานดังกล่าวที่ต่างจังหวัด เพราะพบว่า เมื่อเกิดการจัดงานขึ้นพบว่าประชาชนให้ความสนใจมาร่วมงานและซื้อหนังสือจำนวนมาก เรียกได้ว่าขายดี แต่หลังจากงานเสร็จสิ้นลงหนึ่งเดือนจะพบว่า ร้านขายหนังสือในเมืองๆ นั้นยอดจำหน่ายจะตกลงทันที เพราะไม่มีใครมาซื้อหนังสือ เนื่องจากได้หนังสือที่ต้องการกันหมดแล้ว
       
       ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สังคมเป็นห่วงเรื่องเด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง นายจรัญ กล่าวว่า หากพูดถึงหนังสืออาจเป็นเรื่องจริงที่เด็กอ่านน้อยลง แต่หากเป็นการอ่านทั้งหมดตนคิดว่าไม่น่าใช่ เพราะทุกวันนี้เด็กสนใจการอ่านมากขึ้น เพียงแต่สิ่งที่เขาอ่านไม่ใช่หนังสือ แต่เปลี่ยนไปเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น อ่านผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมการอ่านเช่นนี้ยังรวมไปถึงประชาชนทั่วไปด้วย เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่เห็นได้ชัดเจนว่าสมัยก่อนเมื่อขึ้นรถไฟชินคันเซ็นจะพบแต่คนอ่านหนังสือ แต่ปัจจุบันจะพบว่าคนญี่ปุ่นหันมาอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เหล่านี้หมดแล้ว เรียกได้ว่าอ่านหนังสือน้อยลง แต่สถิติการอ่านของเขายังคงที่เท่าเดิม
       
       นายจรัญ กล่าวอีกว่า เด็กและเยาวชนจะอ่านจากหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญคือกลัวเด็กจะไม่อ่านผ่านสื่อใดเลย ตรงนี้เราต้องเร่งรณรงค์สร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เด็กและเยาวชนให้ได้ก่อน คือจะอ่านผ่านแท็บเล็ต สมาร์ทโฟนก็ได้ ขอให้มีจิตใจที่รักการอ่าน ส่วนข้อกังวลที่ว่าข้อมุลเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตไม่มีสาระเทียบเท่ากับหนังสือซึ่งผ่านการกลั่นกรองมาถึงมือผู้อ่านแล้วนั้น ตนเชื่อว่าเมื่อเด็กและเยาวชนอ่านมากขึ้นก็จะมีวุฒิภาวะมากขึ้น และสามารถกลั่นกรองเนื้อหาในการอ่านได้
       
       "หากอยากให้เด็กและเยาวชน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น ผู้จัดทำหนังสือจะต้องปรับตัว เพราะข้อมูลต่างๆ สามารถหาได้ผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว คอนเทนต์ในหนังสือจึงต้องตอบโจทย์กลุ่มผู้อ่านที่มากไปกว่าข้อมูลในอินเทอร์เน็ต" นายจรัญ กล่าว

คัดข่าวจากเว็บไซต์ http://www.webkroo.com/index.php?topic=1712