Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หลักสูตรการศึกษาแบบก็อปปี้...อันตรายของการศึกษาไทย !!!



หลักสูตรการศึกษาแบบก็อปปี้...อันตรายของการศึกษาไทย !!!


      จำนวน 0.5 หน่วยกิตหรือ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คือเวลาที่การเรียนนาฏศิลป์ของเด็กไทย เวลา 1 ชั่วโมงที่ว่าถูกตั้งคำถามต่อว่าหากนำมาเป็นเวลาในเรียนในวิชาอื่น จะเพียงพอในการพัฒนาศักยภาพทางการเรียนรู้ของเด็กไทย จนทักษะทางด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จะพัฒนาขึ้นได้เท่าเทียมประเทศอื่น ๆ จริงหรือ

        ร่างหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานฉบับใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการที่ลดเหลือเพียง 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จากเดิมที่มี 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กันว่าร่างหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ไม่ได้มีการนำหลักสูตรวิชานาฏศิลป์บรรจุไว้ในหลักสูตรใหม่

   แม้ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ถอดวิชานาฏศิลป์ไทยออกจากหลักสูตรแต่อย่างใด โดยระบุว่าวิชานาฏศิลป์ถูกจัดเข้าไปในกลุ่มสังคมและความเป็นมนุษย์เหมือนวิชาศิลปะหลายฝ่ายตั้งคำถามแก่ สพฐ. ว่า การที่เด็กไทยอ่อนทักษะทางด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ทำไมจึงไม่ไปแก้ปัญหาให้ตรงจุด และเกี่ยวข้องอย่างไรกับหลักสูตรนาฏศิลป์ ซึ่งเป็นรายวิชาที่มีพื้นที่ตารางสอนในโรงเรียนเพียง 0.5 หน่วยกิตหรือประมาณ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

        ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม และผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า แนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ออกมาช่วงหลังๆ ดูเหมือนจะพยายามลอกเลียนแบบประเทศต่างๆ โดยพยายามเอาระบบคุณภาพการศึกษาของต่างประเทศที่เห็นกันไปว่าประสบความสำเร็จ เอาประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ และพยายามลอกเลียนแบบมาปรับใช้ในการศึกษาของไทย “เป็นเรื่องที่อันตรายต่อการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะ เพราะมันยากที่จะไปคัดลอกระบบการศึกษาของต่างประเทศ ที่มีวัฒนธรรมต่างกัน ความคิด ความอ่าน พฤติกรรมของคนต่างกันมาใช้กับประเทศไทย ดังนั้นต้องระลึกไว้เสมอว่าประเทศไทยมีหลักสูตรนาฏศิลป์ไทย เพื่อบอกว่าเรามีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการเกิดขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหา อย่าเป็นตัวสร้างปัญหาเสียเอง”

      นอกจากนี้ยังมองว่าแต่ละประเทศมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน แม้แต่ประเทศเดียวกันยังมีรายละเอียดหลักสูตรแตกต่างกัน แต่ละประเทศ แต่ละพื้นที่มิศิลปวัฒนธรรมแตกต่างกัน ที่มักจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเด็ก เช่น ประเทศสเปน ที่ถือว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแบบก้าวกระโดด ยังมีการระบุไว้ชัดเจนว่าต้องให้ความสำคัญเชิงสร้างสรรค์ในเรื่องศิลปวัฒนธรรม โดยบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กนักเรียน รวมทั้งโรงเรียนประถมศึกษาในสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก ที่สามารถผสมผสานศิลปะกับการเรียนภาษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว

       นั่นหมายความว่าวิธีการเรียนการสอนของประเทศที่พัฒนาแล้วในเชิงวัตถุนิยม มีวิธีการเรียนการสอนแตกต่างไปจากระบบการศึกษาของประเทศไทย ที่ผู้บริหารบังคับครู ครูบังคับนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองก็บังคับนักเรียน สุดท้ายเด็กนักเรียนกลายเป็นเหมือนกระโถนหรือหุ่นยนต์ ถูกลดทอนคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ในมิติอื่นๆ ไป คุณค่าของเด็กถูกตัดสินกันเพียงตัวเลขและค่าคะแนนเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ได้เสนอแนะในการจัดการเรียนการสอนของไทยว่า การบริหารจัดการที่กระทรวงศึกษาธิการควรมุ่งคิดแนวนโยบายที่ควรสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากรให้กับโรงเรียนต่างๆ ให้พร้อม ทั้งคุณภาพครู ชีวิตความเป็นอยู่ของครู เทคโนโลยีการศึกษา วัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน และความปลอดภัยในชีวิตของบุคลากรทางการศึกษาและเด็กนักเรียน การเรียนการสอนควรมุ่งเน้นให้เด็กมีความเป็นมนุษย์ครบ ทั้งในเชิงของคุณค่า จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ มีจิตใจที่รักความสงบ รับผิดชอบดูแลห่วงใยตนเองและผู้อื่น กตัญญูรู้คุณแผ่นดิน อนุรักษ์ความเป็นไทย และในเชิงวัตถุนิยมต้องมีความรู้ในเชิงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ควบคู่กันไป


   ดังนั้นหลักสูตรนาฏศิลป์ไทยจึงยังเป็นส่วนสำคัญของหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กไทยต่อไป ส่วนผลการเรียนที่ดีขึ้นของเด็กนักเรียน ทั้งทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น คุณภาพของครู ความสามารถของครูในเทคนิคการสอน ที่จะสามารถทำงานร่วมกับเด็กนักเรียน นอกจากนี้ยังขึ้นกับความสนใจ ความพร้อมของเด็กนักเรียนเป็นสำคัญ ระยะเวลาเป็นเพียงปัจจัยประกอบเท่านั้น ถ้ามีเวลามากแค่ครูมีคุณภาพไม่เพียงพอ ไม่สามารถทำให้เด็กสนใจหรือเข้าใจได้การเอาเวลาที่เรียนนาฏศิลป์มาเพื่มให้แก่วิชาเหล่านี้ก็จะได้ไม่คุ้มเสีย หากนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการไม่คำนึงถึงความสำคัญของหลักสูตรนาฏศิลป์ ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการทำลายเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์ความเป็นไทย ไม่ใช่เป็นตัวทำลายความเป็นไทยเสียเอง “เหตุผลสำคัญประการเดียวที่หลักสูตรนาฏศิลป์ไทย ควรอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของไทย คือ การรักษาความเป็นไทยเอาไว้ กระทรวงศึกษาธิการต้องเรียนรู้ เข้าใจ และเข้าถึงเด็กนักเรียน ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่มีลักษณะเป็นเพียงตัวเลข เป็นเพียงเครื่องจักรอย่างเดียว”



โพสต์เมื่อวันที่ : 23 ต.ค. 2556

คัดบทความ วันที่ 23 ตค.2556