Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561

เปิดภาพประวัติศาสตร์ 12 ตัวละครจากบุพเพสันนิวาส

เปิดภาพประวัติศาสตร์ 12 ตัวละครจากบุพเพสันนิวาส มีตัวตนจริงในอดีต!



1.สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (รับบทโดยปราปต์ปฎล สุวรรณบาง)

พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของพระองค์ กรุงศรีอยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองมากในหลายด้าน โดยเฉพาะการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นผู้นำคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสถึง 4 ครั้ง และยังรับวัฒนธรรมตะวันตกอีกหลายอย่างเข้ามา รวมทั้งวิทยาการต่างๆ เช่น กล้องดูดาว การสร้างน้ำพุ และการวางระบบประปามาใช้ในกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย



2.สมเด็จพระเพทราชา (รับบทโดยศรุต วิจิตรานนท์)

ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์หลังสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ปราสาททองเสด็จสวรรคต พระองค์เป็นผู้ขับไล่กองกำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา มีการทำสนธิสัญญาเรื่องการขนย้ายทหารและทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกไป ทรงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่ เรียกว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กรุงศรีอยุธยาหลายด้านทีเดียว



3.สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (รับบทโดยจิรายุ ตันตระกูล)

บางคนอาจไม่คุ้นกับชื่อนี้ เพราะในละครเป็นเหตุการณ์ในสมัยที่พระองค์ยังดำรงยศเป็นหลวงสรศักดิ์ค่ะ ตามพงศาวดารกล่าวว่าพระองค์เป็นพระโอรสลับๆ ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เติบโตมาในฐานะบุตรชายของสมเด็จพระเพทราชา มีชื่อเดิมว่าเดื่อ ด้วยพระอุปนิสัยดุร้ายและทรงโปรดปรานการล่าสัตว์ ทำให้ประชาชนต่างเรียกพระองค์ว่าพระเจ้าเสือนั่นเอง

4.พระโหราธิบดี (รับบทโดยนิรุตติ์ ศิริจรรยา)

อีกหนึ่งบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เพราะนอกจากจะเป็นครูของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว ท่านยังเป็นผู้ประพันธ์ “จินดามณี” ตำราเรียนเล่มแรกของไทยในปีพ.ศ.2215 ด้วย และยังสามารถทำนายอนาคตได้แม่นยำ ครั้งหนึ่งเคยทำนายจะเกิดไฟไหม้พระราชวังภายใน 3 วัน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงเสด็จไปอยู่นอกวัง หลังจากนั้นก็เกิดฟ้าผ่าลงที่หลังคาพระราชวัง ทำให้ลามเป็นไฟไหม้ขึ้นตามคำทำนายจริงๆ



5.ศรีปราชญ์ (รับบทโดยณฐณพ ชื่นหิรัญ)

แม้ในละครศรีปราชญ์จะไม่ได้มีบทบาทมากนัก แต่ในประวัติศาสตร์เขาคือบุคคลสำคัญแห่งวงการการแต่งหนังสือ ศรีปราชญ์เป็นลูกชายของพระโหราธิบดี ด้วยฝีมือการแต่งโคลงกลอนที่เป็นเลิศทำให้เขาขึ้นชื่อว่าเป็นกวีเอกแห่งแผนดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่กลับทำความผิดจึงถูกเนรเทศไปอยู่นครศรีธรรมราช เมื่อไปอยู่นครศรีธรรมราชก็ถูกใส่ร้ายว่าลักลอบคบชู้กับภรรยาของเจ้าเมืองและถูกประหารชีวิตในที่สุด

6.ขุนศรีวิสารวาจา (รับบทโดยธนวรรธน์ วรรธนะภูติ)

ตัวละครที่มีบทบาทที่สุดในละครเรื่องนี้ แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏว่าขุนศรีวิสารวาจาเป็นบุตรของพระโหราธิบดีตามที่ละครเล่าแต่อย่างใด เขาเป็นหนึ่งในคณะทูตที่นำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสในปีพ.ศ. 2229 โดยขุนศรีวิสารวาจาเดินทางไปในตำแหน่งตรีทูตค่ะ


7.เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) (รับบทโดยชาติชาย งามสรรพ์)

ในละครเรียกว่าออกญาโกษาธิบดีนั่นเองค่ะ ส่วนปานเป็นชื่อจริงของท่าน ท่านเป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต (บัว) ซึ่งเป็นพระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นคนเฉลียวฉลาด ไหวพริบหลักแหลม ช่างสังเกต และพูดจาคมคาย ท่านมีผลงานด้านการทูตโดดเด่นหลายครั้งโดยเฉพาะครั้งที่ท่านรับตำแหน่งหัวหน้าคณะราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส จนทำให้ไทยรอดพ้นจากการคุกคามของฮอลันดา และท่านยังเป็นต้นตระกูลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักกรีอีกด้วย


8.เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) (รับบทโดยสุรศักดิ์ ชัยอรรถ)

พี่ชายของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นพระสหายของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาตั้งแต่วัยเยาว์และเป็นขุนศึกที่ออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่พระองค์จนได้สมญานามว่า “ขุนเหล็ก” ดำรงตำแหน่งพระคลังระหว่างปีพ.ศ.2200 – 2226 ส่วนสาเหตุการถึงแก่อสัญกรรมของท่านถูกกล่าวไว้ 2 แบบคือถึงแก่อสัญกรรมเพราะอาการป่วย และถูกใส่ร้ายว่ารับสินบน ทำให้ถูกเฆี่ยนจนถึงแก่อสัญกรรม

 9.คอนสแตนติน ฟอลคอน (รับบทโดยหลุยส์ สก็อตต์)
นักผจญภัยชาวกรีก เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาในฐานะพ่อค้า สามารถเรียนรู้ภาษาไทยได้ในเวลาไม่นานนัก เป็นคนมีความสามารถหลายด้านจนกลายเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ได้เข้ารับราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาและได้รับตำแหน่งสมุหเสนาในเวลาไม่นาน ภายหลังได้รับการอวยยศเป็นถึงเจ้าพระยาวิชเยนทร์ แต่ด้วยความที่เป็นคนโปรดและสนิทสนมกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดผลเสียตามมาภายหลังถึงขึ้นโดนสั่งประหารชีวิต



10.มารี กีมาร์ หรือท้าวทองกีบม้า (รับบทโดยสุษิรา แอนจิลีน่า)

ภรรยาของคอนสแตนติน ฟอลคอน ชื่อเต็มว่ามารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา เธอมีเชื้อสายโปรตุเกส เบงกอล และญี่ปุ่น ซึ่งมีบทบาทต่อวงการขนมไทยมาก เพราะเธอคือราชินีแห่งขนมไทย ผู้นำขนมโปรตุเกสมาดัดแปลงให้เป็นขนมไทยหลายชนิด เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และขนมชั้น ส่วนชื่อท้าวทองกีบม้านั้นก็เพี้ยนมาจากชื่อมารี กีมาร์ของเธอนั่นเอง


11.พระปีย์ (รับบทโดยธชย ประทุมวรรณ)

พระราชโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับความไว้วางใจจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างมากถึงขั้นได้ปรนนิบัติรับใช้พระองค์อย่างใกล้ชิด โดยจะทรงเรียกพระปีย์ว่า “อ้ายเตี้ย” ตามรูปลักษณ์ เป็นคนพูดจาไพเราะ โวหารดี ต่อมาถูกสมเด็จพระเพทราชาสำเร็จโทษในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วยเหตุผลทางการเมือง


 12.สมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาทิพ (รับบทโดยเจนจิรา จันทรศร)
บางแห่งออกพระนามพระองค์ว่าพระราชกัลยาณี เป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระสิริโฉมงดงามมาก นอกจากนี้พระองค์ยังมีบทบาทอยู่มากในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา เพราะได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายขวา แต่หลังพระเจ้าเสือขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็เสด็จออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ใกล้กับวัดพุทไธศวรรย์ และเสด็จสวรรคตที่พระตำหนักแห่งนั้นเอง

http://www.undubzapp.com/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87

วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2561

ศัลยาผู้เขียนบทบุพเพสันนิวาส


การะเกด ตัวละครนำในละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส"Image copyrightBROADCAST THAI TELEVISION / ช่อง 3
คำบรรยายภาพการะเกด ตัวละครนำในละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" เป็นบทประพันธ์โดย รอมแพง เขียนบทละครโดย ศัลยา

ผู้เขียนบทละคร "บุพเพสันนิวาส" แนะเขียนบทละครโทรทัศน์อย่างไรให้ดึงดูดใจในยุคดิจิทัล

"ศัลยา สุขะนิวัตติ์" นักเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง "บุพเพสันนิวาส" ระบุ การเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่ดี "อย่าหยุดเรียนรู้" พร้อมปรับตัวกับสูตรสำเร็จใหม่ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
หลังจากละคร "บุพเพสันนิวาส" กลายเป็นกระแสความนิยมในบรรดากลุ่มผู้ชม นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และผู้นำในสังคมได้นำมาหยิบยกเป็นประเด็นเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์แล้ว ละครเรื่องดังกล่าวกลายเป็นบทเรียนสำคัญของผู้ผลิตละครยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถสู้กับวิกฤตของธุรกิจทีวีในยุคถดถอยนี้ไปได้
"ในการเขียนบทละครแต่ละเรื่องในยุคนี้ ในใจก็คิดว่าจะเขียนให้มัดใจคนดูกว่า 10-20 ล้านคน คนดูแล้วต้องอิ่มเอมใจ" ศัลยา บอกกับบีบีซีไทย
เมื่อถามว่าทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ นักเขียนมือทองที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมาเป็นเวลามากกว่า 35 ปี และฝากผลงานไม่น้อยกว่า 100 เรื่อง ผู้นี้บอกว่า "การลงมือเขียนในแต่ละฉาก เอาตัวเข้าไปอยู่ในบท ให้เห็นภาพ บางทีก็ได้ยินเสียง ต้องมองเห็นกับตา มีความเข้าใจเรื่องราว เข้าไปให้ถึงของตัวละคร นิสัยใจคอของตัวละคร ในทุกเหตุการณ์ อย่างครบถ้วน"
ศัลยายอมรับว่า ชั่วโมงบินและประสบการณ์ก็มีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมให้กลายเป็นตัวเธอในปัจจุบัน ทำให้เธอมีเทคนิคเฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม เทคนิคต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะนำพาละครไปสู่ความสำเร็จหากไม่หาทางศึกษารูปแบบใหม่ๆ ในต่างประเทศ และอย่าหยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
"อาจจะต้องศึกษาจากละครชาติอื่น อย่างละครเกาหลีบ้าง ละครฝรั่งบ้าง แล้วเอามาเปรียบเทียบกันระหว่าง ขนบไทยที่ประสบความสำเร็จ และสูตรสำเร็จของละครต่างชาติ ว่าเขาทิ้งปมไว้อย่างไร ตอบโต้กันอย่างไร" เธออธิบาย

นักแสดงเกาหลีใต้กำลังเข้าฉากในละครImage copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพการศึกษาการดำเนินเรื่อง สูตรสำเร็จของละครในต่างประเทศ อย่างละครเกาหลี ก็เป็นวิธีหนึ่งในการศึกษาข้อมูลประกอบการเขียนบทละครของ ศัลยา
Grey presentational line

ต้องรู้จริงเมื่อเขียนละครอิงประวัติศาสตร์
ศัลยา จบการศึกษาจากเรียนรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าสู่วงการละครผ่านการชักชวนของ ไพรัช สังวริบุตร ผู้กำกับและผู้จัดละครจากค่ายดาราวิดีโอ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับช่อง 7 ที่ผ่านมาเธอเขียนบทละครโทรทัศน์หลากหลายประเภททั้ง ละครสะท้อนสังคมสร้างสรรค์ครอบครัว ละครพื้นบ้าน ละครร่วมสมัย แต่ส่วนใหญ่ผู้ชมคนไทยมักคุ้นเคยกับผลงานที่เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ เช่น คู่กรรม นางทาส สายโลหิต และแผลเก่า
"ยอมรับว่าการเขียนบทละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ยากกว่าการเขียนละครชีวิตทั่วไป ยากในแง่การเรียงลำดับเหตุการณ์ จะแจกแจกเหตุการณ์อย่างไรให้คนดูสนุกติดตามไป ไม่เหมือนกับการเขียนละครรัก ที่จะเน้นเรื่องความขัดแย้งในครอบครัว ในสังคมทั่วไป โดยที่ไม่มีเค้าเรื่องของประวัติศาสตร์มาเกี่ยวข้อง" เธออธิบาย

ศัลยา สุขะนิวัตติ์Image copyrightศัลยา สุขะนิวัตติ์

ศัลยายกตัวอย่าง ตอนที่เธอเขียนบทละครเรื่อง "แผลเก่า" ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ชื่อดังของ "ไม้ เมืองเดิม" นอกจากการเข้าถึงตัวละครได้แล้วเธอบอกว่าเธอจะต้องเข้าถึงและซึมซับความเป็น "ไม้ เมืองเดิม" ทำให้เธอตัดสินใจหาเรื่องที่เขาเป็นผู้ประพันธ์ทุกเล่ม เพื่อทำความเข้าใจความคิดของผู้ประพันธ์ เข้าสภาพแวดล้อมของผู้ประพันธ์ มองให้เห็นท้องทุ่งนาในแบบเฉพาะตัวของผู้แต่ง เพื่อให้ละครยังคงเป็นละครและแตกต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆ
"ฉากหนึ่งอาจจะใช้เวลาเขียนครึ่งวันก็ยังไม่เสร็จ ต้องถามตัวเองเสมอว่า คนดูจะเข้าใจ และดูแล้วรู้เรื่องไหม อันนี้จะต้องอ่านใจคนดูให้ได้ ที่ผ่านมา เทคนิคส่วนตัวคือ การเชื่อความคิดครั้งที่สอง (Second thought) ซึ่งจะดีกว่า" เธออธิบาย
สำหรับคำอธิบายของคำว่า "ความคิดครั้งที่สอง" ของศัลยา คือ เมื่อเขียนไปแล้วคิดว่าดีที่สุด ก็ลองหวนกับไปอ่านอีกครั้ง ส่วนใหญ่จะความคิดครั้งสองที่ได้จะดีกว่าครั้งแรก

ตัวละครในบุพเพสันนิวาสImage copyrightBROADCAST THAI TELEVISION/ ช่อง 3

ความยากของละครอิงประวัติศาสตร์อีกอย่างก็คือ เนื้อหาจะต้องยืนอยู่บนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่จะสามารถค้นคว้าได้ใกล้ความจริงที่สุด ณ ห้วงเวลานั้น และต้องไม่หลุดกรอบที่ผู้ประพันธ์ได้กำหนดไว้ หากยกตัวอย่างละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" เธอบอกว่า ในหนังสือระบุถึงตัวละครไว้หลายตัว ซึ่งไม่ได้เพิ่ม หรือลดตัวไหน เขียนตามนั้น ต้องเข้าใจนิสัยใจคอของแต่ละตัวละครอย่างถ่องแท้ หากว่าในบทประพันธ์เขียนไว้อย่างรวบรัด เพราะเป็นการเขียนที่เหมาะสำหรับการอ่าน ก็ต้องใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม เพราะต้องทำให้เป็นภาพเพื่อใช้ผลิตเป็นละคร ซึ่งมีคนดูหลากหลายมากขึ้น

Grey presentational line

ต้องคิดและเห็นเป็นตัวละคร
"หลายตัวละคร มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่ก็มีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวเขา ตามการบันทึกทางประวัติศาสตร์ก็มีแต่เค้าโครงเท่านั้น อย่าง คุณหลวงสรศักดิ์ ทราบมาเขาเป็นคนชอบชกมวยและดุดัน พอลงมาในบทละครโทรทัศน์ ต้องกำหนดขึ้นเองให้สอดคล้อง ตราบเท่าที่เราพอจะมีข้อมูล" ศัลยากล่าวเพิ่ม
การจะเข้าถึงตัวละครได้ ก็จำเป็นจะต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมของตัวละครนั้นๆ เหตุผลและเหตุการณ์แวดล้อม ทำให้นักเขียนบทโทรทัศน์มือทองผู้นี้ ต้องค้นคว้าจากหนังสือ พงศาวดารและบันทึกทางประวัติศาสตร์มากกว่า 10 เล่ม ในขณะที่แต่ละเล่มก็ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการจึงต้องมีการอ่านเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลข้อเท็จจริงกันอีกที

ศัลยา สุขะนิวัตติ์Image copyrightศัลยา สุขะนิวัตติ์

"สำหรับเรื่องบุพเพสันนิวาส ยากตรงที่การวางฉาก คำพูด การแก้ปัญหาความขัดแย้งในละคร ถือว่ายากหมด...ต้องคิดว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์จริงในละครบนข้อมูลเท่าที่ค้นมาได้ ยอมรับว่าไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์" เธอกล่าวและยอมรับว่า กว่าจะเป็นบทละครนี้ เธอต้องเขียนร่างบทไปแล้วหลายร่าง กว่าจะถึงร่างที่ 7 ซึ่งเป็นร่างสุดท้าย ก่อนจะส่งให้กับบริษัทผู้ผลิตสานงานต่อได้
นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่าง ที่อยู่นอกเหนือจากบทบาทผู้เขียนบทละคร คือ ความเข้าใจของทั้งผู้กำกับและนักแสดงที่จะต้องรับส่งไม้ต่อไป ศัลยาอธิบายว่า คนที่แสดงเป็นตัวละคร "การะเกด" ต้องคิดแบบการะเกด คนที่แสดงเป็นหมื่นสุนทรเทวาก็คิดแบบนั้น ซึ่งก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างดี

Grey presentational line

ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลใหม่ที่ค้นพบ
อย่างไรก็ตาม นักเขียนบทละครผู้นี้บอกว่า ข้อมูลประวัติศาสตร์อาจจะมีส่วนที่ไม่ชัดเจน ต้องเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์และข้อมูลใหม่ ๆ ทางประวัติศาสตร์ เช่น พฤติกรรมของพระเจ้าเอกทัศน์ตอนเสียกรุงอยุธยาครั้งที่ 2 ในละคร "สายโลหิต" ที่เคยออกอากาศมาแล้วเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ถูกสะท้อนออกมาเป็นผู้ที่อ่อนแอ แต่ในบทละครของเธอ ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการผลิต เธอบอกว่า เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเจ้าเอกทัศน์ชุดใหม่มา ว่าพระองค์ทรงมีความพยายามในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ไม่ได้เป็นเหมือนกับที่เคยรับรู้มาก่อน ดังนั้น บทละครเรื่องนี้ที่กำลังผลิตใหม่ ก็ต้องมีการเพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าวด้วย

ศัลยา (ซ้ายสุด) ถ่ายภาพร่วมกับนักแสดงในละครบุพเพสันนิวาสImage copyrightBROADCAST THAI TELEVISION
คำบรรยายภาพศัลยา (ซ้ายสุด) ถ่ายภาพร่วมกับนักแสดงในละครบุพเพสันนิวาส

เมื่อถามผู้เขียนบทมือทองผู้นี้ว่า มีเรื่องใดที่พึงพอใจมากที่สุด เธอบอกว่าพอใจทุกเรื่องที่ทำมา แต่ที่อิ่มเอมใจที่สุดคือละคร "คู่กรรม" ที่ออกอากาศเมื่อปี 2533 นำแสดงโดย "เบิร์ด" ธงชัย แมคอินไตย์ กับ "กวาง" กมลชนก เขมะโยธิน ซึ่งเธออธิบายว่า นอกเหนือไปจากบทประพันธ์ เรื่องราวที่เกิดขึ้น การกำกับการแสดง การออกแบบ การเล่น ฉาก มีความสมบูรณ์และกลมกลืนกันมาก เหมาะสมกับยุคสมัยนั้น นอกจากนี้การพูดจากกันในละครยังใช้น้ำเสียงได้อย่างเหมาะสม
"นี่แหละเป็นที่สุดของละครในความคิดของฉัน" เธอกล่าวทิ้งท้าย
ตลอดกว่า 35 ปี ผลงานของศัลยาต้องผ่านตาผู้ชมเกือบทุกปี ยกเว้นบางปีเท่านั้นที่ไม่มีผลงานออกสู่จอทีวี หากไม่นับความสำเร็จจากละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" จากข้อมูลที่รวบรวมในเว็บไซต์วิกิพีเดีย ก็แสดงให้เห็นว่าในปีนี้ (2561) นับว่าเป็นปีทองของเธอเลยทีเดียว เนื่องจากผลงานของเธอจะออกสู่สายตาผู้ชมมากที่สุดเท่าที่เคยทำมาถึง 7 เรื่อง
อย่างไรก็ตามนักเขียนบทละครผู้นี้บอกว่า การเขียนแต่ละตอนต้องอุทิศเวลา ผ่านการประเมิน การไตร่ตรอง ให้ตกผลึกให้ดีเสียก่อนที่จะยอมปล่อยออกมาและส่งต่อให้กับทีมผู้ผลิตละครอีกที

บุคลากรมืออาชีพในวงการทีวีไทยยังขาดแคลน

แม้ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโทรทัศน์จะมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากจำนวนช่องที่เพิ่มจาก 6 ช่อง มาเป็น 26 ช่องในปัจจุบัน ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาในธุรกิจทีวีก็เข้าสู่ช่วงถดถอย เพราะความนิยมในสื่อสังคมออนไลน์ภายหลังเทคโนโลยีการสื่อสารได้รับการพัฒนามาขึ้นโดยมีเครือข่าย 3G/4G มาเป็นสปริงบอร์ด
จำนวนช่องที่เพิ่มมากขึ้นหมายถึงปริมาณเนื้อหารายการโทรทัศน์จะต้องเพิ่มมากขึ้นตาม แต่นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์กลับมองว่า ยังมองหาคุณภาพของงานไม่มากนัก
"แทนที่จะเพิ่มปริมาณและคุณภาพเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีความหลากหลาย แต่ในผ่านมาเกือบ 4 ปี เนื้อหาและคุณภาพกลับไม่พัฒนาเท่าที่ควร" ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยก่อนหน้านี้
สอดคล้องกับความคิดของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสื่อที่ระบุว่า บุคลากรมืออาชีพในธุรกิจโทรทัศน์ยังมีอยู่อย่างจำกัดแม้จำนวนสถานีจะเพิ่มมากขึ้นหลัง กสทช. ทำคลอดทีวีดิจิทัลเมื่อ 5 ปีก่อน
น.ส.พเยาว์ ธรรมธีรสุนทร หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์การซื้อสื่อโทรทัศน์ บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า หากจะพิจารณาจริงๆ แล้วจำนวนบุคลากรในวงการทีวีก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ไม่ว่าจะเป็นดารา ผู้จัดละคร หรือ ผู้ผลิต ก็ยังเป็นกลุ่มเดิมๆ แต่ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงเพียงสถานีเท่านั้น
http://www.bbc.com/thai/thailand-43413965

บุพเพสันนิวาส: ความรุ่งเรืองในอดีต

ตัวละครในเรื่อง บุพเพสันนิวาส


บุพเพสันนิวาส:
ความรุ่งเรืองในอดีตที่คนไทยทุกสมัยใฝ่หา


ตัวละครในเรื่อง บุพเพสันนิวาสImage copyrightBROADCAST THAI TELEVISION/ ช่อง 3

"ปรากฎการณ์บุพเพสันนิวาส" กำลังปกคลุมสังคมไทยขณะนี้ คนไทยจำนวนหนึ่งหันมาสวมใส่ชุด "ไทยโบราณ" ใช้ภาษา "ไทยโบราณ" และหลั่งไหลไปวัดไชยวัฒนาราม ทำให้นักศึกษาประวัติศาสตร์อย่างผมต้องตั้งคำถามว่าความนิยมในละครอิงประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับบริบททางการเมืองของแต่ละยุคสมัยอย่างไร คำตอบที่ได้คือ ทุกครั้งที่ชาติสั่นคลอนจากการเมือง สังคมเกิดความโกลาหล ละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จะกลับมารุ่งเรืองเสมอ
ผมขอแบ่งพัฒนาการของละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ในรอบศตวรรษ ออกเป็น 3 สมัย คือ
1. รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
2. สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
3. พ.ศ.2500 ถึงปัจจุบัน
กบฎ กษัตริย์ และ ภักดี
ความพยายามยึดอำนาจของนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่งในปี พ.ศ. 2455 ซึ่งรู้จักในนามของ "กบฏ ร.ศ. 130" ได้สั่นคลอนสถาบันกษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 6 ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพยายามสร้างสำนึกความเป็นไทยให้เกิดขึ้นผ่านการการดัดแปลงเรื่องราวของวีรบุรุษในตำนานและพงศาวดารเป็นบทละครอิงประวัติศาสตร์ เพื่อให้กษัตริย์เป็นศูนย์กลางของชาติสยาม
วอลเตอร์ วิลลา ผู้ศึกษา อุดมการณ์ชาตินิยมสมัยรัชกาลที่ 6 เขียนไว้ในหนังสือ Chaiyo! King Vajiravudh and the Development of Thai Nationalism ถึงวัตถุประสงค์ของบทละครพระราชนิพนธ์แต่ละเรื่อง เช่น
  • พระร่วง เพื่อตอบสนองการยกย่องกษัตริย์วีรบุรุษในตำนานที่เฉลียวฉลาดและต่อสู้ศัตรูของชาติ
  • ท้าวแสนปม ผู้เป็นบิดาของพระเจ้าอู่ทอง ช่วยเชื่อมโยงบรรพบุรุษของคนไทยที่เชื่อว่าอพยพมาจากทางเหนือ เพื่อทำให้คนไทยเกิดสำนึกว่าตนเองมีรากมาจากที่เดียวกัน และเพื่อส่งเสริมความจงรักภักดีของขุนนางต่อกษัตริย์และชาติ
  • สงครามที่เมืองตาก และ สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพ ถูกนำมาเป็นบทละครแสดงที่สนามเสือป่า
2475-2500: ขุนนาง vs เจ้า
20 ปีหลัง "กบฏ ร.ศ. 130" สถาบันกษัตริย์ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายขุนทหารและปัญญาชน มีผลทำให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น ละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ในสมัยหลังปฏิวัติ 2475 จึงมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ คือ
1. ปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขับเน้นความยิ่งใหญ่ของสามัญชน และขุนนางแทนกษัตริย์ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
2. ส่งเสริมความสามัคคีของคนในชาติเพื่อต่อสู้กับศัตรูภายนอกในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่สอง

PASSAKORN PRAMUNWONGImage copyrightPASSAKORN PRAMUNWONG
คำบรรยายภาพจอมพล ป.พิบูลสงคราม

หลวงวิจิตรวาทการ นักการทูตและนักการเมืองคนสำคัญเคียงกายจอมพล ป. ได้ประพันธ์บทละคร และกำกับละครอิงประวัติศาสตร์หลายเรื่อง เพื่อปลุกกระแสความจงรักภักดีต่อชาติ ขับเน้นบทบาทของสามัญชนและขุนนางมากขึ้น แทนหน้าที่ของกษัตริย์เพียงฝ่ายเดียว ดังเห็นได้จากละครเรื่อง ราชมนู ศึกถลาง สีหราชเดโช บางระจัน เลือดทหารไทย และเลือดสุพรรณ เป็นต้น และในขณะเดียวกันก็ต้องการลดความสำคัญของราชวงศ์จักรีด้วย ดังเห็นได้จากเรื่อง พระเจ้ากรุงธน
อย่างไรก็ตาม หลวงวิจิตรวาทการยังให้ความสำคัญกับวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาติที่เป็นมรดกตกทอดจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งมีที่มาจากพระราชพงศาวดารที่ยกย่องกษัตริย์วีรบุรุษยังคงมีอิทธิพลอย่างสูง เพื่อเหตุผลการส่งเสริมแนวคิด "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" ในขณะนั้น ดังเห็นได้จากละครอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนผาเมือง และ นเรศวรประกาศอิสรภาพ ทว่า แม้เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ เขาก็ไม่เคยประกาศว่าเป็นเรื่องจริง
"การแสดงละครผิดกับแสดงตำนาน การแสดงตำนานต้องไม่ทำอะไรให้เกินความจริง แต่การแสดงละครมีความจำเป็นต้องแต้มต่อเติมสี ให้มีเรื่องรักโศกเป็นส่วนประกอบ... แม้สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวของเรา ก็ได้ทรงใช้วิธีเดียวกันนี้" (ที่มา: "หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์" โดย ประอรรัตน์ บูรณมาตร์)
ในห้วงเวลาเดียวกัน ฝ่ายนิยมเจ้าได้พยายามต่อสู้ผ่านการแต่งนิยายอิงประวัติศาสตร์เพื่อเชิดชู ความรุ่งเรืองในยุคกษัตริย์ ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ นิยายเรื่องสี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่รวมพิมพ์เป็นเล่มในปี พ.ศ.2496 ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของการมองประวัติศาสตร์ก่อน 2475 ว่าเป็นยุคทอง เทียบกับนับแต่ 2475 ที่เป็น ยุคของความวุ่นวายทางการเมืองและสังคม

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี
คำบรรยายภาพม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ประพันธ์นิยาย สี่แผ่นดิน

2500-ปัจจุบัน: จากสู้คอมมิวนิสต์ สู่ ไทยสู้ไทย
การรัฐประหารโค่นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 16 ก.ย. 2500 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเมืองและชัยชนะของฝ่ายนิยมเจ้า ทำให้นิยายอิงประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมสุดโต่งและวาทกรรมประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมกลายเป็นแกนเรื่องหลัก ผ่านสะครโทรทัศน์ ที่มาหลังการเปิดสถานีช่อง 4 บางขุนพรหม พร้อมกับการขยายตัวของชนชั้นกลาง และความเจริญที่ขยายไปสู่ส่วนภูมิภาค ระหว่างนี้
ในรอบหกทศวรรษนี้ ประเทศไทยผ่านจุดเปลี่ยนผ่านทางเศษฐกิจและการเมืองที่สำคัญหลายเหตุการณ์และความบันเทิงอิงประวัติศาสตร์ก็ล้วนสะท้อนบริบทของแต่ละยุคด้วย จากข้อมูลเชิงสถิติที่รวบรวม สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ
  • 2500-2539
  • 2540-2549
  • 2549-ปัจจุบัน (ดูกราฟประกอบ)

ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์Image copyrightผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

*หมายเหตุ: กราฟแท่งแสดงจำนวนของละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ตามปี พ.ศ. จาก 2500-2561 ส่วนด้านบนที่เป็นแถบสีแดงแสดงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีนัยต่อการเพิ่มขึ้นและลดลงของละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ อนึ่ง ข้อมูลทางสถิติของละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์รวบรวมจากอินเทอร์เน็ต และอาจไม่ครบทุกเรื่อง
สู้คอมมิวนิสต์ ลาว และ ทหาร (2500-2539)
ปัญหาคอมมิวนิสต์เริ่มปรากฏชัดตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ และยุติลงในปี พ.ศ.2523 ด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เท่าที่รวบรวมข้อมูลได้พบว่าในช่วงนี้มีละครทั้งหมด 15 เรื่อง ภาพยนตร์ 7 เรื่อง ภายใต้บริบทของประเทศที่ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ทำให้แกนเรื่องเน้นการต่อสู้และปกป้องชาติกับกษัตริย์ด้วยชีวิต ส่วนใหญ่ผลิตกันในช่วงปลายของสมัยสู้คอมมิวนิสต์ ได้แก่ นเรศวรมหาราช ผู้ชนะสิบทิศ ขุนศึก ลูกทาส บางระจัน และเลือดสุพรรณ
ตลอดสมัยนี้ สี่แผ่นดินเป็นบทประพันธ์ยอดนิยมที่สุด ถูกผลิตซ้ำถึง 3 ครั้ง ในรูปละครโทรทัศน์และ ละครเวที ซึ่งสะท้อนการกลับมาของอำนาจสถาบันกษัตริย์ เพราะฉายครั้งแรกในปี 2504 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ อีกด้านหนึ่ง บ่งชี้ว่าสังคมที่ต้องการกลับไปสู่ยุคทอง
ภายหลังจากปัญหาคอมมิวนิสต์ยุติลง ปริมาณของละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ได้ลดลงเช่นกัน แต่กลับมาผลิตกันอีกครั้งในช่วงที่ไทยขัดแย้งกับลาวจนเกิดสมรภูมิบ้านร่มเกล้าในปี พ.ศ.2531 ในปีนี้จึงเกิดละครอิงประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติ ที่สำคัญเช่น สงครามเก้าทัพ ผู้ชนะสิบทิศ
ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2535-2539 ได้มีการผลิตละครและภาพยนตร์ที่มีแกนเรื่องส่งเสริมความจงรักภักดีต่อกษัตริย์นำกลับมาผลิตซ้ำ เช่น สมเด็จพระสุริโยทัย ขุนศึก สายโลหิต และเรื่องที่เน้นการย้อนกลับไปแก้อดีต เช่น ทวิภพ เป็นต้น
วิกฤตต้มยำกุ้งสู่ทักษิโนมิกส์ (2540-2549)
ละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งประเทศไทยเป็นหนี้ต่างประเทศมหาศาล พร้อมกับทำต้องตามเงื่อนไขที่เจ้าหนี้ไอเอ็มเอฟบังคับไว้ ทำให้เป็นช่วงที่สังคมไทยโหยหา "วีรบุรุษกู้ชาติ" ดังนั้น นับจากปี พ.ศ.2543 มีละครอิงประวัติศาสตร์ถึง 9 เรื่อง เช่น รากนครา อดีตา นิราศสองภพ สายโลหิต สี่แผ่นดิน และฟ้าใหม่ ส่วนภาพยนตร์มี 6 เรื่อง ได้แก่ บางระจัน สุริโยทัย ขุนศึก ทวิภพ และกบฏท้าวศรีสุดาจันทร์

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นหนึ่งในบูรพกษัตริย์ 7 พระองค์ ที่รัฐบาลจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ที่อุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์Image copyrightAFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่อุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ภาพยนตร์ดูจะปลุกเร้าความรู้สึกรักชาติได้ดีกว่าละครมาก เพราะ บางระจัน สุริโยทัย และตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถือเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่มีผู้ชมให้ความสนใจมากที่สุด สุริโยทัยทำรายได้สูงสุด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีของวงการภาพยนตร์ไทย
แต่เรื่องที่สำคัญคือ สุริโยทัย และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากสถาบันระดับสูงและกองทัพ ดังที่รับรู้กันว่ามีแกนเรื่องหลักที่ยกย่องเชิดชูกษัตริย์ ความสามัคคีในชาติ การประกาศอิสรภาพ เอกราช การปราบกบฏหรือศัตรูของชาติ การรอคอยและความหวัง ดูเหมือนจะสอดคล้องกับอารมณ์ของคนในสังคมในเวลานั้น แต่ในด้านกลับกัน หนังทั้งสองเรื่องได้ช่วยเพิ่มความนิยมในสถาบันกษัตริย์และทหารด้วย
การเมืองเหลืองแดง และ 2 รัฐประหาร (2549-ปัจจุบัน)
ประชาธิปไตยไทย "เบ่งบาน" ได้ไม่นาน มาในปี 2549 รัฐบาลรักษาการของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) ถูกรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หนึ่งในข้ออ้างของการยึดอำนาจ คือ สกัดการนองเลือดของประชาชนที่เห็นต่าง 2 ฝ่าย ทว่า รัฐบาลทหารกลับไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จ กระบวนการทางการเมืองบนท้องถนนได้พัฒนาออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ 'เสื้อเหลือง' และ 'เสื้อแดง' จนนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 หรือ "สงกรานต์เลือด" ในปีถัดไปจึงเกิดการผลิตทั้งละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์หลายเรื่อง เช่น วนิดา ทวิภพ ขุนศึก เลือดขัตติยา ผู้ชนะสิบทิศ บางระจัน 2 แต่ที่สำคัญคือเรื่องขุนรองปลัดชู ที่เป็นทุนสนับสนุนจากเอกชนโดยมีเป้าหมายรุกเร้าให้คนในชาติรักชาติและสามัคคีกัน เรื่องนี้ได้รับความนิยมมากกว่าตำนานสมเด็จพระนเรศวร อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ขยายวงลงสู่ภาคประชาชน

AFP/Getty ImagesImage copyrightAFP/GETTY IMAGES

2557 ได้เกิดการรัฐประหารอีกครั้ง นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมสัญญาที่จะทำให้คนไทยเกิดความสามัคคี รักชาติและสถาบันกษัตริย์ ซึ่งถูกท้าทายโดยคนบางกลุ่ม หลังรัฐประหารไม่นานนัก ได้มีการฉายภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี ให้ประชาชนเข้าชมฟรี ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ภาคสุดท้ายของหนังเรื่องเดียวกันนี้ไม่ได้รับความนิยมมากนักในปีถัดไป
นับจาก 2557 ถึงปัจจุบัน ปริมาณละครอิงประวัติศาสตร์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีมากกว่า 10 เรื่องในรอบ 5 ปี ได้แก่ บางระจัน ข้าบดินทร์ อตีตา พันท้ายนรสิงห์ ชาติพยัคฆ์ แต่ปางก่อน ฟ้าใหม่ รากนครา หนึ่งฟ้าเดียวกัน ศรีอโยธยา และล่าสุด บุพเพสันนิวาส ที่ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง
จำนวนของละครอิงประวัติศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นบอกอะไรเรา?
จะเห็นได้ว่า ละครทั้งหมดมีโครงเรื่องคล้ายกันคือ ย้อนกลับไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เช่น บางระจัน อตีตา ฟ้าใหม่ และศรีอโยธยา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไทยกำลังถูกรุกรานจากพม่า ทำให้ประชาชนต้องรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับศัตรูและสามัคคีกันดังเช่นที่ใช้กันในยุคของชาตินิยม ดังนั้น สารของละครอิงประวัติศาสตร์จึงวางในบริบทใหม่คือ ส่งเสริมให้คนในชาติรักกันภายใต้ภาวะสังคมที่แตกแยก รู้จักหน้าที่ของตนเองที่มีต่อชาติ และส่งเสริมความสามารถของกษัตริย์

ชุดแต่งกายของ คอนสแตนติน ฟอลคอน ซึ่งรับบทโดย หลุยส์ สก๊อต ในละครเรื่องนี้ถูกมองว่ามีการออกแบบตัดเย็บรวมทั้งทรงผมคล้าย ๆ สมัยวิคตอเรียตอนต้นImage copyrightBROADCAST THAI TELEVISION/ช่อง 3
คำบรรยายภาพหลุยส์ สก๊อต ใน บุพเพสันนิวาส

ทว่า ในห้วงเวลาที่ประวัติศาสตร์ได้ถูกนำมาผลิตซ้ำและดัดแปลงเป็นละครและภาพยนตร์มากมายนี้ มีความพยายามในการปกป้องประวัติศาสตร์นิพนธ์ของชาติในแบบเดิมผ่านประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโส ผู้วิพากษ์ประวัติศาสตร์การกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ 16 ต.ค. 2557 โดยนายทหารยศพลโท 2 ราย แต่ต่อมาเมื่อต้นปีนี่ อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้อง ด้วยเหตุหลักฐานไม่เพียงพอ แต่เจ้าตัวเชื่อเพราะ "พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม"
ในทางกลับกัน ตัวละครหลักของบุพเพสันนิวาส ไม่ได้เป็นกษัตริย์หรือชนชั้นนำชั้นสูงที่จับต้องไม่ได้ เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์ในยุครุ่งเรือง แต่ก็ไม่ได้ขับเน้นความเป็นชาตินิยม ผู้เขียนสร้างสรรค์เรื่องได้อย่างมีสีสัน ท่ามกลางสภาพของสังคมและการเมืองในปัจจุบันที่ยุ่งเหยิง ขาดความมั่นคง เชื่อมั่นต่อรัฐบาล และยากต่อการทำนายอนาคตของประเทศ ภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกของการโหยหาอดีต (Nostalgia) ได้ง่าย การดูละครย้อนยุคสักเรื่องหนึ่ง จึงทำให้ในทางความรู้สึกสามารถหลีกเร้นกลับไปสู่อดีต เพราะอย่างน้อยอดีตก็เป็นสิ่งที่มั่นคงกว่าปัจจุบันและอนาคต
ดังนั้น ละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จึงเป็นเครื่องชี้วัดที่ดีอย่างหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ดังนั้น ความสนใจต่อประวัติศาสตร์ของคนไทยที่เพิ่มขึ้นในเวลานี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนักสักเท่าไหร่
http://www.bbc.com/thai/thailand-43430043