Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2561

ศัลยาผู้เขียนบทบุพเพสันนิวาส


การะเกด ตัวละครนำในละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส"Image copyrightBROADCAST THAI TELEVISION / ช่อง 3
คำบรรยายภาพการะเกด ตัวละครนำในละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" เป็นบทประพันธ์โดย รอมแพง เขียนบทละครโดย ศัลยา

ผู้เขียนบทละคร "บุพเพสันนิวาส" แนะเขียนบทละครโทรทัศน์อย่างไรให้ดึงดูดใจในยุคดิจิทัล

"ศัลยา สุขะนิวัตติ์" นักเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง "บุพเพสันนิวาส" ระบุ การเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่ดี "อย่าหยุดเรียนรู้" พร้อมปรับตัวกับสูตรสำเร็จใหม่ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
หลังจากละคร "บุพเพสันนิวาส" กลายเป็นกระแสความนิยมในบรรดากลุ่มผู้ชม นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และผู้นำในสังคมได้นำมาหยิบยกเป็นประเด็นเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์แล้ว ละครเรื่องดังกล่าวกลายเป็นบทเรียนสำคัญของผู้ผลิตละครยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถสู้กับวิกฤตของธุรกิจทีวีในยุคถดถอยนี้ไปได้
"ในการเขียนบทละครแต่ละเรื่องในยุคนี้ ในใจก็คิดว่าจะเขียนให้มัดใจคนดูกว่า 10-20 ล้านคน คนดูแล้วต้องอิ่มเอมใจ" ศัลยา บอกกับบีบีซีไทย
เมื่อถามว่าทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ นักเขียนมือทองที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมาเป็นเวลามากกว่า 35 ปี และฝากผลงานไม่น้อยกว่า 100 เรื่อง ผู้นี้บอกว่า "การลงมือเขียนในแต่ละฉาก เอาตัวเข้าไปอยู่ในบท ให้เห็นภาพ บางทีก็ได้ยินเสียง ต้องมองเห็นกับตา มีความเข้าใจเรื่องราว เข้าไปให้ถึงของตัวละคร นิสัยใจคอของตัวละคร ในทุกเหตุการณ์ อย่างครบถ้วน"
ศัลยายอมรับว่า ชั่วโมงบินและประสบการณ์ก็มีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมให้กลายเป็นตัวเธอในปัจจุบัน ทำให้เธอมีเทคนิคเฉพาะตัว อย่างไรก็ตาม เทคนิคต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะนำพาละครไปสู่ความสำเร็จหากไม่หาทางศึกษารูปแบบใหม่ๆ ในต่างประเทศ และอย่าหยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
"อาจจะต้องศึกษาจากละครชาติอื่น อย่างละครเกาหลีบ้าง ละครฝรั่งบ้าง แล้วเอามาเปรียบเทียบกันระหว่าง ขนบไทยที่ประสบความสำเร็จ และสูตรสำเร็จของละครต่างชาติ ว่าเขาทิ้งปมไว้อย่างไร ตอบโต้กันอย่างไร" เธออธิบาย

นักแสดงเกาหลีใต้กำลังเข้าฉากในละครImage copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพการศึกษาการดำเนินเรื่อง สูตรสำเร็จของละครในต่างประเทศ อย่างละครเกาหลี ก็เป็นวิธีหนึ่งในการศึกษาข้อมูลประกอบการเขียนบทละครของ ศัลยา
Grey presentational line

ต้องรู้จริงเมื่อเขียนละครอิงประวัติศาสตร์
ศัลยา จบการศึกษาจากเรียนรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าสู่วงการละครผ่านการชักชวนของ ไพรัช สังวริบุตร ผู้กำกับและผู้จัดละครจากค่ายดาราวิดีโอ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับช่อง 7 ที่ผ่านมาเธอเขียนบทละครโทรทัศน์หลากหลายประเภททั้ง ละครสะท้อนสังคมสร้างสรรค์ครอบครัว ละครพื้นบ้าน ละครร่วมสมัย แต่ส่วนใหญ่ผู้ชมคนไทยมักคุ้นเคยกับผลงานที่เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ เช่น คู่กรรม นางทาส สายโลหิต และแผลเก่า
"ยอมรับว่าการเขียนบทละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ยากกว่าการเขียนละครชีวิตทั่วไป ยากในแง่การเรียงลำดับเหตุการณ์ จะแจกแจกเหตุการณ์อย่างไรให้คนดูสนุกติดตามไป ไม่เหมือนกับการเขียนละครรัก ที่จะเน้นเรื่องความขัดแย้งในครอบครัว ในสังคมทั่วไป โดยที่ไม่มีเค้าเรื่องของประวัติศาสตร์มาเกี่ยวข้อง" เธออธิบาย

ศัลยา สุขะนิวัตติ์Image copyrightศัลยา สุขะนิวัตติ์

ศัลยายกตัวอย่าง ตอนที่เธอเขียนบทละครเรื่อง "แผลเก่า" ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ชื่อดังของ "ไม้ เมืองเดิม" นอกจากการเข้าถึงตัวละครได้แล้วเธอบอกว่าเธอจะต้องเข้าถึงและซึมซับความเป็น "ไม้ เมืองเดิม" ทำให้เธอตัดสินใจหาเรื่องที่เขาเป็นผู้ประพันธ์ทุกเล่ม เพื่อทำความเข้าใจความคิดของผู้ประพันธ์ เข้าสภาพแวดล้อมของผู้ประพันธ์ มองให้เห็นท้องทุ่งนาในแบบเฉพาะตัวของผู้แต่ง เพื่อให้ละครยังคงเป็นละครและแตกต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆ
"ฉากหนึ่งอาจจะใช้เวลาเขียนครึ่งวันก็ยังไม่เสร็จ ต้องถามตัวเองเสมอว่า คนดูจะเข้าใจ และดูแล้วรู้เรื่องไหม อันนี้จะต้องอ่านใจคนดูให้ได้ ที่ผ่านมา เทคนิคส่วนตัวคือ การเชื่อความคิดครั้งที่สอง (Second thought) ซึ่งจะดีกว่า" เธออธิบาย
สำหรับคำอธิบายของคำว่า "ความคิดครั้งที่สอง" ของศัลยา คือ เมื่อเขียนไปแล้วคิดว่าดีที่สุด ก็ลองหวนกับไปอ่านอีกครั้ง ส่วนใหญ่จะความคิดครั้งสองที่ได้จะดีกว่าครั้งแรก

ตัวละครในบุพเพสันนิวาสImage copyrightBROADCAST THAI TELEVISION/ ช่อง 3

ความยากของละครอิงประวัติศาสตร์อีกอย่างก็คือ เนื้อหาจะต้องยืนอยู่บนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่จะสามารถค้นคว้าได้ใกล้ความจริงที่สุด ณ ห้วงเวลานั้น และต้องไม่หลุดกรอบที่ผู้ประพันธ์ได้กำหนดไว้ หากยกตัวอย่างละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" เธอบอกว่า ในหนังสือระบุถึงตัวละครไว้หลายตัว ซึ่งไม่ได้เพิ่ม หรือลดตัวไหน เขียนตามนั้น ต้องเข้าใจนิสัยใจคอของแต่ละตัวละครอย่างถ่องแท้ หากว่าในบทประพันธ์เขียนไว้อย่างรวบรัด เพราะเป็นการเขียนที่เหมาะสำหรับการอ่าน ก็ต้องใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม เพราะต้องทำให้เป็นภาพเพื่อใช้ผลิตเป็นละคร ซึ่งมีคนดูหลากหลายมากขึ้น

Grey presentational line

ต้องคิดและเห็นเป็นตัวละคร
"หลายตัวละคร มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่ก็มีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวเขา ตามการบันทึกทางประวัติศาสตร์ก็มีแต่เค้าโครงเท่านั้น อย่าง คุณหลวงสรศักดิ์ ทราบมาเขาเป็นคนชอบชกมวยและดุดัน พอลงมาในบทละครโทรทัศน์ ต้องกำหนดขึ้นเองให้สอดคล้อง ตราบเท่าที่เราพอจะมีข้อมูล" ศัลยากล่าวเพิ่ม
การจะเข้าถึงตัวละครได้ ก็จำเป็นจะต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมของตัวละครนั้นๆ เหตุผลและเหตุการณ์แวดล้อม ทำให้นักเขียนบทโทรทัศน์มือทองผู้นี้ ต้องค้นคว้าจากหนังสือ พงศาวดารและบันทึกทางประวัติศาสตร์มากกว่า 10 เล่ม ในขณะที่แต่ละเล่มก็ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการจึงต้องมีการอ่านเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลข้อเท็จจริงกันอีกที

ศัลยา สุขะนิวัตติ์Image copyrightศัลยา สุขะนิวัตติ์

"สำหรับเรื่องบุพเพสันนิวาส ยากตรงที่การวางฉาก คำพูด การแก้ปัญหาความขัดแย้งในละคร ถือว่ายากหมด...ต้องคิดว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์จริงในละครบนข้อมูลเท่าที่ค้นมาได้ ยอมรับว่าไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์" เธอกล่าวและยอมรับว่า กว่าจะเป็นบทละครนี้ เธอต้องเขียนร่างบทไปแล้วหลายร่าง กว่าจะถึงร่างที่ 7 ซึ่งเป็นร่างสุดท้าย ก่อนจะส่งให้กับบริษัทผู้ผลิตสานงานต่อได้
นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่าง ที่อยู่นอกเหนือจากบทบาทผู้เขียนบทละคร คือ ความเข้าใจของทั้งผู้กำกับและนักแสดงที่จะต้องรับส่งไม้ต่อไป ศัลยาอธิบายว่า คนที่แสดงเป็นตัวละคร "การะเกด" ต้องคิดแบบการะเกด คนที่แสดงเป็นหมื่นสุนทรเทวาก็คิดแบบนั้น ซึ่งก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างดี

Grey presentational line

ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลใหม่ที่ค้นพบ
อย่างไรก็ตาม นักเขียนบทละครผู้นี้บอกว่า ข้อมูลประวัติศาสตร์อาจจะมีส่วนที่ไม่ชัดเจน ต้องเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์และข้อมูลใหม่ ๆ ทางประวัติศาสตร์ เช่น พฤติกรรมของพระเจ้าเอกทัศน์ตอนเสียกรุงอยุธยาครั้งที่ 2 ในละคร "สายโลหิต" ที่เคยออกอากาศมาแล้วเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ถูกสะท้อนออกมาเป็นผู้ที่อ่อนแอ แต่ในบทละครของเธอ ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการผลิต เธอบอกว่า เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเจ้าเอกทัศน์ชุดใหม่มา ว่าพระองค์ทรงมีความพยายามในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ไม่ได้เป็นเหมือนกับที่เคยรับรู้มาก่อน ดังนั้น บทละครเรื่องนี้ที่กำลังผลิตใหม่ ก็ต้องมีการเพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าวด้วย

ศัลยา (ซ้ายสุด) ถ่ายภาพร่วมกับนักแสดงในละครบุพเพสันนิวาสImage copyrightBROADCAST THAI TELEVISION
คำบรรยายภาพศัลยา (ซ้ายสุด) ถ่ายภาพร่วมกับนักแสดงในละครบุพเพสันนิวาส

เมื่อถามผู้เขียนบทมือทองผู้นี้ว่า มีเรื่องใดที่พึงพอใจมากที่สุด เธอบอกว่าพอใจทุกเรื่องที่ทำมา แต่ที่อิ่มเอมใจที่สุดคือละคร "คู่กรรม" ที่ออกอากาศเมื่อปี 2533 นำแสดงโดย "เบิร์ด" ธงชัย แมคอินไตย์ กับ "กวาง" กมลชนก เขมะโยธิน ซึ่งเธออธิบายว่า นอกเหนือไปจากบทประพันธ์ เรื่องราวที่เกิดขึ้น การกำกับการแสดง การออกแบบ การเล่น ฉาก มีความสมบูรณ์และกลมกลืนกันมาก เหมาะสมกับยุคสมัยนั้น นอกจากนี้การพูดจากกันในละครยังใช้น้ำเสียงได้อย่างเหมาะสม
"นี่แหละเป็นที่สุดของละครในความคิดของฉัน" เธอกล่าวทิ้งท้าย
ตลอดกว่า 35 ปี ผลงานของศัลยาต้องผ่านตาผู้ชมเกือบทุกปี ยกเว้นบางปีเท่านั้นที่ไม่มีผลงานออกสู่จอทีวี หากไม่นับความสำเร็จจากละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" จากข้อมูลที่รวบรวมในเว็บไซต์วิกิพีเดีย ก็แสดงให้เห็นว่าในปีนี้ (2561) นับว่าเป็นปีทองของเธอเลยทีเดียว เนื่องจากผลงานของเธอจะออกสู่สายตาผู้ชมมากที่สุดเท่าที่เคยทำมาถึง 7 เรื่อง
อย่างไรก็ตามนักเขียนบทละครผู้นี้บอกว่า การเขียนแต่ละตอนต้องอุทิศเวลา ผ่านการประเมิน การไตร่ตรอง ให้ตกผลึกให้ดีเสียก่อนที่จะยอมปล่อยออกมาและส่งต่อให้กับทีมผู้ผลิตละครอีกที

บุคลากรมืออาชีพในวงการทีวีไทยยังขาดแคลน

แม้ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโทรทัศน์จะมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากจำนวนช่องที่เพิ่มจาก 6 ช่อง มาเป็น 26 ช่องในปัจจุบัน ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาในธุรกิจทีวีก็เข้าสู่ช่วงถดถอย เพราะความนิยมในสื่อสังคมออนไลน์ภายหลังเทคโนโลยีการสื่อสารได้รับการพัฒนามาขึ้นโดยมีเครือข่าย 3G/4G มาเป็นสปริงบอร์ด
จำนวนช่องที่เพิ่มมากขึ้นหมายถึงปริมาณเนื้อหารายการโทรทัศน์จะต้องเพิ่มมากขึ้นตาม แต่นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์กลับมองว่า ยังมองหาคุณภาพของงานไม่มากนัก
"แทนที่จะเพิ่มปริมาณและคุณภาพเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีความหลากหลาย แต่ในผ่านมาเกือบ 4 ปี เนื้อหาและคุณภาพกลับไม่พัฒนาเท่าที่ควร" ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยก่อนหน้านี้
สอดคล้องกับความคิดของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสื่อที่ระบุว่า บุคลากรมืออาชีพในธุรกิจโทรทัศน์ยังมีอยู่อย่างจำกัดแม้จำนวนสถานีจะเพิ่มมากขึ้นหลัง กสทช. ทำคลอดทีวีดิจิทัลเมื่อ 5 ปีก่อน
น.ส.พเยาว์ ธรรมธีรสุนทร หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์การซื้อสื่อโทรทัศน์ บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า หากจะพิจารณาจริงๆ แล้วจำนวนบุคลากรในวงการทีวีก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ไม่ว่าจะเป็นดารา ผู้จัดละคร หรือ ผู้ผลิต ก็ยังเป็นกลุ่มเดิมๆ แต่ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงเพียงสถานีเท่านั้น
http://www.bbc.com/thai/thailand-43413965