Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

สร้างนิสัยรักเรียน ตอนที่ 1

         

จับความจาก Teaching Outside the Box : How to Grab Your Students by Their Brains เขียนโดย LouAnne Johnson  บทที่ ๖ Motivation and Morale Boosters

พื้นฐานสมองของเด็กมีความสามารถในการเรียนรู้สูงกว่าที่เราคิด   แต่เด็กจำนวนมากขาด “ไฟ” (inspiration / motivation) ในการเรียน ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย   หากครูรู้จักกระตุ้น “ไฟปรารถนา” แห่งการเรียนรู้ของเด็ก   อย่างเหมาะสม   หรือรู้จักปัดเป่าปัจจัยลบ   ภารกิจของครูจะง่ายขึ้นมาก   และเป็นภารกิจที่ให้ความชุ่มชื่นแก่หัวใจได้มาก

หน้าที่ของ “ครูเพื่อศิษย์” คือ นำชีวิตของนักเรียนเข้าสู่ ความสนุกสนานในการเรียน (The Joy of Learning) ซึ่งจะทำให้มีนิสัยรักเรียน   อย่าปล่อยให้ศิษย์ตกอยู่ใต้สภาพ ความทุกข์ระทมในการเรียน ซึ่งจะทำให้มีนิสัยเกลียดการเรียน

นี่คือหัวใจในหน้าที่ครู

หัวใจในหน้าที่ครูคือสร้างนิสัยรักเรียน   ซึ่งสำคัญกว่าการรู้เนื้อหาวิชา

ต่อไปนี้เป็นหลัก ๒๘ ประการ สำหรับสร้างนิสัยรักเรียน สร้างพลังหรือ “ไฟ” ในการเรียนรู้ ของศิษย์



๑. ให้นักเรียนเชื่อว่าความสำเร็จในการเรียนเป็นสิ่งเป็นไปได้   หากนักเรียนมีความพยายามด้วยตนเอง   โดยครูจะอยู่เคียงข้าง คอยช่วยเหลือ   แต่นักเรียนต้องเรียนเอง ครูเรียนแทนไม่ได้
      เคล็ดลับคือ อย่าตั้งโจทย์ง่ายให้เด็กเรียนอ่อนทำ   ให้ใช้โจทย์ที่ท้าทายตามปกติหรือยากกว่าปกติ  แล้วครูช่วยเหลือให้เด็กเรียนอ่อนใช้ความพยายามจนทำได้   โดยบอกเด็กว่าครูเชื่อว่าเธอฉลาดพอที่จะทำโจทย์ที่ยากขนาดนี้ได้  แต่พื้นของเธอไม่ดี จึงต้องใช้ความพยายามมากหน่อยในเบื้องตัน โดยครูจะช่วย   บ่อยเข้าเด็กจะเกิดทักษะในการเรียน เกิดความมั่นใจในตนเอง  
     วิธีสร้างความมั่นใจในตนเองแบบสุดๆ คือหาโจทย์ในระดับที่สูงกว่าความรู้ในชั้นเรียน   เช่นวิชาที่สูงกว่าชั้นเรียนของเด็ก ๒ ชั้น   หรือหากเด็กเรียน ม. ปลาย เอาโจทย์มหาวิทยาลัยปี ๑ มาให้ทำ   โดยบอกเด็กด้วยว่าเป็นโจทย์ระดับสูงเช่นนั้น   บอกว่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถของเด็ก   โดยครูจะช่วยเหลือให้ความรู้บางด้านที่เด็กยังเรียนไม่ถึง   และช่วยแนะอีกบางด้าน   เมื่อเด็กทำโจทย์นี้ได้ ก็จะเกิดความมั่นใจในสมองของตนเอง

๒. ประเมินเจตคติของนักเรียนต่อตนเอง ต่อวิชาเรียน ต่อชั้นเรียนและต่อโรงเรียน 
        โดยเขียนหรือฉายคำถามบนกระดาน ให้นักเรียนตอบอย่างตรงไปตรงมา   จะใส่ชื่อหรือไม่ก็ได้ (แต่ครูก็เก็บกระดาษคำตอบให้เรียงกันจนรู้อยู่ดีว่าใครเขียนข้อความที่น่าตกใจหรือน่าสนใจ)   บอกเด็กว่าคนที่ทำโจทย์นี้จะได้คะแนนเต็มทุกคน หากทำอย่างตั้งใจ   โจทย์คือ
     - ชอบอะไรมากที่สุดต่อโรงเรียน
     - ชอบอะไรน้อยที่สุด
     - วิชาที่ชอบมากที่สุด / น้อยที่สุด คืออะไร
     - ชอบอ่านหนังสือหรือไม่ ทำไมจึงชอบ/ไม่ชอบ
ขั้นตอนที่ ๒ จะทำหรือไม่ก็ได้   คือครูเลือกอ่านบางข้อความต่อชั้นเรียน   เพื่อกระตุ้นการอภิปรายออกความเห้นเพิ่มเติม
ขั้นตอนที่ ๓ คือนำกระดาษคำตอบกลับบ้าน เอาไปอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์  อ่านระหว่างบรรทัด  อ่านลายมือ อ่านสำนวน  เพื่อทำความรู้จักนักเรียนแต่ละคนในมิติที่ลึก เช่นรู้งานอดิเรก ของเด็ก


๓. ปรับเจตคติ   โดยทำแบบฝึกหัด ให้เขียนต่อประโยค  “ฉันจำใจ.....” และ “ฉันไม่สามารถทำ......”  และอภิปรายเรื่องพลังทางเลือก หรือพลังใจ ต่อความสำเร็จ   รวมทั้งทำความเข้าใจ Maslow’s hierarchy of needs ด้วย   โดยบอกเด็กว่าความเข้าใจและปฏิบัติตามหลักการนี้จะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิตในภายหน้า
     ที่สำคัญยิ่งคือครูต้องปรับเจตคติของตนเองด้วย ให้มีเจตคติเชิงบวก เชิงต่อสู้ฟันฝ่า เพื่อทำตัวเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์   รวมทั้งมีความรักความหวังดีต่อศิษย์โดยทั่วหน้าเสมอกัน  ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง   และที่สำคัญคือ ฟังเด็ก  
     ครูเลาแอนน์เล่าเรื่องครูถามนักเรียนทุกเช้า “ใครมีคำถามที่ต้องการถามครูบ้าง”   ซึ่งตามปกติจะไม่มีใครถาม   แต่ถ้าครูถามทุกเช้า สักวันหนึ่งจะมีคนถาม แล้วการตั้งคำถามและคุยกันอย่างอิสระก็จะเกิดขึ้น  เกิดเจตนคติที่เปิดเผยต่อกัน สนิทสนมกัน  และที่สำคัญที่สุด เป็นการเปิดจินตนาการของเด็ก
    จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ (ไอน์สไตน์)

๔. จัดกิจกรรมกระตุ้นสมองซีกขวา 
    ครูที่ไม่ได้สอนวิชาศิลปะ ดนตรี การแสดง อาจเผลอสอนแต่ด้านการคิด ซึ่งใช้แต่สมองซีกซ้าย จนนักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย   จึงควรสลับให้มีกิจกรรมเรียนรู้ของสมองซีกขวาบ้าง   เป็นการเอื้อต่อนักเรียนที่มีธรรมชาติเป็น right-brain thinker   โดยครูต้องเข้าใจว่าครูส่วนใหญ่เป็น left-brain thinker   ในขณะที่นักเรียนส่วนใหญ่เป็น right-brain thinker
    “ครูเพื่อศิษย์” ต้องสะสมเกมต่างๆ ที่เหมาะสมไว้ให้เด็กเล่น โดยเฉพาะเกมสมองซีกขวา เช่น Right-Brain Word Puzzle ในหนังสือ  เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ พักสมอง สร้างความสนุกสนาน  และเกิดการเรียนรู้หลากหลายมิติ
     โดยครูต้องสนใจสังเกตนักเรียนที่มีสไตล์การเรียนรู้ ๓ แบบ คือ (๑) จากการดู (ตา)  (๒) จากการฟัง (หู)  และ (๓) จากการเคลื่อนไหว (kinesthetic)

๕. ขอ feedback จากนักเรียนบ่อยๆ   เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน   และเพื่อแสดงให้นักเรียนเห็นว่า ครูแคร์หรือเคารพความเห็นที่ตรงไปตรงมาของนักเรียน   แต่ต้องย้ำให้นักเรียนเข้าใจว่าการตัดสินใจเป็นเรื่องของครู   แต่ครูจะเอาความเห็นของนักเรียนไปประกอบการตัดสินใจด้วย   และครูต้องอย่าหลงเป็นคู่กรณีของนักเรียนที่ก้าวร้าว   เขียนความเห็นแบบหาเรื่อง
 
๖. ทบทวนทฤษฎีของ Maslow   โดยถ้านักเรียนยังอายุน้อย ครูต้องทำให้เข้าใจง่าย   มีประโยชน์คือ ช่วยให้นักเรียนเข้าใจตนเอง  มีความมั่นคงทางอารมณ์ดีขึ้น   และเกิดความเชื่อมั่นว่าครูเอาใจใส่หวังดีต่อนักเรียนจริงๆ

๗. สอนทักษะในการแก้ปัญหา  ซึ่งจะช่วยลดการทำผิดลงได้มาก   เพราะนักเรียนที่ทำผิดส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำที่ขาดการไตร่ตรองให้รอบคอบ  มีปฏิกิริยาโต้ตอบก่อนคิด   ดังนั้นทักษะแรกที่เด็กต้องเรียน คือทักษะในการแก้ปัญหาที่อยู่รอบตัว   เช่น เพื่อนขอลอกการบ้าน  มีเพื่อนเพียง ๑ – ๒ คนรบกวนชั้นเรียนจนไม่มีสมาธิในการเรียน   หรืออาจเป็นเรื่องใหญ่ เช่น เพื่อนชวนเข้าแก๊ง  เพื่อนชวนเสพยา   วิธีการเรียนรู้ทำโดยระดมความคิดเรื่องสาเหตุของปัญหาหลายสาเหตุ  และแนวทางแก้ปัญหาหลายแนวทาง และเลือกแนวทางที่ดีที่สุด ๓ แนวทาง   โดยครูต้องคอยเตือนว่าต้องให้เฉพาะความเห็น หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่คำตัดสินเชิงคุณค่า   แล้วทุกคนจะเรียนรู้เหตุผล และวิธีการแก้ปัญหาเอง   หลังจากนั้นจึงเป็นการประยุกต์มาตรการแก้ปัญหา   และวัดผล

๘. สอนทักษะในการโต้แย้งอย่างได้ผล   โดยต้องทำให้เข้าใจว่าการโต้แย้งไม่ใช่การต่อสู้ เพื่อเอาแพ้ชนะ   แต่เน้นประโยชน์ต่อการเรียนรู้  ทำให้เราเข้าใจเรื่องต่างๆ จากหลายแง่มุม   สิ่งที่ผู้เยาว์ต้องการเรียนรู้ก็คือ การโต้แย้งด้วยท่าทีเคารพผู้อื่น   ไม่ใช่ท่าทีของศัตรูหรือฝ่ายตรงกันข้าม  และการโต้แย้งนั้นไม่นำไปสู่ความรู้สึกไม่ดีต่อกัน   การสอนเรื่องนี้ต้องไม่ใช่ครูยืนพูดหน้าชั้น   แต่ต้องออบแบบกิจกรรมให้นักเรียนทำ   ให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง   ในหนังสือมีตัวอย่างบทเรียนด้วย

๙. สอนให้นักเรียนรู้วิธีพูดกับครูและกับผู้ใหญ่คนอื่นๆ   เด็กบางคนมีความฝังใจว่าพูดกับผู้ใหญ่ทีไรเป็นต้องขัดแย้งหรือทะเลาะกันทุกครั้ง   การฝึกพูดกับผู้ใหญ่จึงมีความจำเป็น   ครูเลาแอนน์ มีวิธีสอนโดยแจกเอกสาร บอกลักษณะของวิธีพูดหรือโต้แย้งกับผู้ใหญ่ที่เป็นวิธีดี กับที่เป็นวิธีไม่ดี   แล้วแจกเอกสารสถานการณ์สมมติของการสนทนาโต้ตอบ สถานการณ์ที่ ๑ จะโต้กันแบบไม่มีข้อยุติ   ให้นักเรียนออกความเห็นว่าสถานการณ์การโต้ตอบนี้มีปัญหาอย่างไร   แล้วให้อ่านสถานการณ์ที่ ๒  ที่ลูกสาวกลับบ้านดึก และโต้ตอบกับพ่อแม่ จนพ่อโกรธและเข้านอน  ลูกสาวคุยต่อกับแม่จนแม่เข้าใจ   คำถามต่อกลุ่มนักเรียนคือ ทั้ง ๓ คน โดยเฉพาะลูกสาวควรพูดว่าอย่างไร จึงจะเกิดการสนทนาโต้ตอบที่ได้ผลดี   ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นการเรียนรู้ทักษะชีวิตที่สำคัญยิ่ง   และเป็นการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว และเพื่อนร่วมชั้น   ซึ่งในอนาคตนักเรียนจะได้เอาไปใช้ในชีวิตการทำงาน ชีวิตครอบครัว และชีวิตทางสังคม

๑๐. จัดให้มีรายงานผลความก้าวหน้าในการเรียนบ่อยๆ  เพื่อเป็นแรงจูงใจต่อการเรียน และลดความวิตกกังวลของนักเรียนว่าตนจะสอบตก   ครูเลาแอนน์ใช้วิธีติดประกาศตารางผลสอบผ่าน คนยังไม่ส่งรายงาน/การบ้าน อย่างเปิดเผย (แต่ไม่บอกคะแนนโดยตรง)   พบว่านักเรียนพอใจ และไม่ขาดส่งรายงาน/การบ้านอีกเลย   โดยครูต้องคอยให้ความมั่นใจว่าคนที่ส่งรายงานทุกครั้ง   ได้คะแนนการทดสอบทุกครั้งเป็นคะแนนผ่าน จะไม่มีทางสอบตก แม้ผลสอบปลายปีจะไม่ดี   เพื่อลดความกังวลของเด็ก

๑๑. สอนวิธีอ่าน transcript  วัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนรู้ผลการเรียนของตนเอง   ไม่อ่าน transcript ผิดพลาด  จนเมื่อถึงกำหนดเรียนจบชั้นจึงรู้ว่าในรายงานระบุ (ผิด) ว่าตนยังเรียนไม่ครบวิชา   ซึ่งถึงตอนนั้นก็สายเกินแก้   เรื่องแบบนี้เคยเกิดกับลูกสาวคนที่ ๓ ของผมเมื่อเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว   เมื่อเรียนชั้น ม. ๔ และ ๕ เธอไปเรียนและสอบเทียบ ม.๖ เธอได้รับใบรายงานว่าสอบผ่านทุกวิชา   แต่เมื่อไปขอใบรับรองว่าสอบ ม. ๖ ได้เพื่อเอาไปเป็นหลักฐานสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปรากฏว่าในทะเบียนระบุ (ผิด) ว่าเธอยังสอบไม่ผ่าน ๑ วิชา   ทำให้สายเกินแก้  เธอต้องเรียนต่อ ม. ๖ และสอบชิงทุนไปเรียนต่างประเทศ   หากเธอไม่สะเพร่าในการอ่าน transcript ผมก็จะได้มีลูกเป็นหมอ ๑ คน เพราะลูกคนนี้เรียนเก่งมากและอยากเป็นหมอ   แต่เมื่อได้ทุนไปเรียนต่างประเทศก็ไปเรียนอย่างอื่น

๑๒. สอนวิธีกำหนดเป้าหมาย   นักเรียนที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิตของตนเอง มักมีผลการเรียนไม่ดี   และมักโทษคนอื่นสิ่งอื่นต่างๆ นานา ว่าเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวของตน   นักเรียนค้องได้รับการเรียนรู้วิธีตั้งเป้าหมายระยะยาวในชีวิต   แล้วทอนลงเป็นเป้าหมายของช่วงสั้นๆ  แล้วตั้งหน้าบากบั่นหาทางบรรลุเป้าหมายนั้น   ชีวิตก็จะประสบความสำเร็จได้มากขึ้น   เพราะชีวิตมีเป้าหมาย ไม่ล่องลอย   นอกจากเป้าหมายชีวิต   เป้าหมายในการเรียนวิชาก็สมารถใช้หลักการกำหนดเป้าหมายและแบ่งช่วงบรรลุผลทีละส่วนได้เช่นเดียวกัน  

๑๓. สร้างความท้าทาย   ความท้าทายเป็นแรงกระตุ้นความมานะพยายาม   ดังนั้นครูต้องอย่าช่วยเด็กเรียนอ่อนด้วยการหย่อนความยากของบทเรียน   เพราะจะส่งสัญญาณต่อนักเรียนว่าตนเป็นคนด้อยความสามารถ   ต้องบอกนักเรียนว่าครูจะช่วยให้นักเรียนสามารถรับความท้าทายที่ยากนั้นได้   ดดยนักเรียนตัองตั้งใจเรียนเพื่อเอาชนะความท้าทายนั้น

๑๔. ทำให้การทำผิดเป็นสิ่งยอมรับได้   นักเรียนควรได้เข้าใจว่าความผิดพลาดเป็นธรรมดาของมนุษย์   ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย   การที่เราทำพลาด และรู้ว่าพลาด และเรียนรู้ว่าทำไมจึงพลาด คือเส้นทางหนึ่งของการเรียนรู้   ความผิดพลาดจึงไม่ใช่ความชั่วหรือความล้มเหลว   ในการกระทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากสำเร้จร้อยละ ๗๐ ถือว่าเก่งสุดยอด   บางเรื่องทำสำเร็จร้อยละ ๕๐ ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว   ดังนั้นนักเรียนต้องไม่กลัวไม่รังเกียจการทำพลาด เมื่อได้ตั้งใจทำดีที่สุดแล้ว   รวมทั้งครูเองก็เคยผิดพลาดมาแล้วมากมาย   และที่ปฏิบติต่อหรือสอนนักเรียนอยู่นี้ บางส่วนก้มีการผิดพลาดเหมือนกัน  



  เนื่องจากหลัก ๒๘ ประการในการสร้างนิสัยรักเรียนนี้ยาวมาก   จึงขอแบ่งอีก ๑๔ ข้อไปไว้ในตอนที่ ๑๒


วิจารณ์ พานิช
๑๖ เม.ย. ๕๔

ขอบคุณบทความดีๆจาก https://www.gotoknow.org/posts/444229