Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ข่าว : มหกรรมหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 18 วันที่ 16-27 ตุลาคม 2556






ประชาชนแห่ซื้อหนังสือในงาน "มหกรรมหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 18" พบรายได้สะพัดแล้วมากกว่า 300 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมงานตลอดสัปดาห์มากกว่า 1.3 ล้านคน นายกสมาคมฯผู้จัดพิมพ์เชื่อ ยอดผู้ร่วมงานและยอดขายเกินเป้า พร้อมโต้แทนเยาวชนไม่ได้อ่านน้อยลง แต่หันอ่านสื่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้น ย้ำอ่านอะไรไม่สำคัญขอให้รักการอ่านจะช่วยให้มีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น

ข่าววันนี้ (23 ต.ค.2556) ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศวันที่ 8 ของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 18 (Book Expo Thailand 2013) ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 16-27 ต.ค. 2556 โดยปีนี้จัดภายใต้แนวคิด "หนังสือเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนโลก" นั้น มีประชาชนจำนวนมากทุกเพศทุกวัยเดินต่างทางมาเลือกซื้อและสรรหาหนังสือกลับบ้าน โดยในวันปิยมหาราช ซึ่งถือเป็นวันหยุดนั้นมีผู้ปกครองพาบุตรหลานมาร่วมสนุกกับกิจกรรมภายในงาน และร่วมกันสรรหาหนังสืออย่างคึกคัก
       
       นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือฯ ภายในรอบสัปดเาห์คือ ตั้งแต่วันที่ 16 - 22 ต.ค. ขณะนี้มีมากกว่า 1.3 ล้านคนแล้ว ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 ล้านคนขึ้นไป ซึ่งคาดว่าตลอดทั้ง 12 วันของการจัดงานจะมียอดผู้มาร่วมงานเกินเป้าที่วางไว้ ขณะที่ยอดขายหนังสือภายในงานปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 600 ล้านบาท ขณะนี้มีการจัดจำหน่ายหนังสือไปแล้วมากกว่า 300 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องยอดขายแล้ว วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดงานมหกรรมหนังสือฯ หรืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและนานาชาติ ซึ่งจัดไปเมื่อช่วงปลาย มี.ค. - ต้น เม.ย. นั้น ล้วนต้องการรณรงค์ให้คนไทยหันมาอ่านหนังสือให้มากขึ้น
       
       "เท่าที่จัดงานสัปดาห์หนังสือฯและงานมหกรรมหนังสือฯ มา พบว่า ผู้มาร่วมงานมีเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงว่าประชาชนคนไทยให้ความสนใจกับหนังสือและการอ่านมากยิ่งขึ้น แต่จากการวัดสถิติการอ่านของประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติกลับพบว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง ตรงนี้คิดว่าเป็นในเรื่องภาพรวมของประเทศ เพราะการจัดทั้งสองงานนั้นเป็นการจัดงานในกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว" นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าวและว่า สำหรับสาเหตุที่ไม่จัดงานดังกล่าวที่ต่างจังหวัด เพราะพบว่า เมื่อเกิดการจัดงานขึ้นพบว่าประชาชนให้ความสนใจมาร่วมงานและซื้อหนังสือจำนวนมาก เรียกได้ว่าขายดี แต่หลังจากงานเสร็จสิ้นลงหนึ่งเดือนจะพบว่า ร้านขายหนังสือในเมืองๆ นั้นยอดจำหน่ายจะตกลงทันที เพราะไม่มีใครมาซื้อหนังสือ เนื่องจากได้หนังสือที่ต้องการกันหมดแล้ว
       
       ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สังคมเป็นห่วงเรื่องเด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง นายจรัญ กล่าวว่า หากพูดถึงหนังสืออาจเป็นเรื่องจริงที่เด็กอ่านน้อยลง แต่หากเป็นการอ่านทั้งหมดตนคิดว่าไม่น่าใช่ เพราะทุกวันนี้เด็กสนใจการอ่านมากขึ้น เพียงแต่สิ่งที่เขาอ่านไม่ใช่หนังสือ แต่เปลี่ยนไปเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น อ่านผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมการอ่านเช่นนี้ยังรวมไปถึงประชาชนทั่วไปด้วย เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่เห็นได้ชัดเจนว่าสมัยก่อนเมื่อขึ้นรถไฟชินคันเซ็นจะพบแต่คนอ่านหนังสือ แต่ปัจจุบันจะพบว่าคนญี่ปุ่นหันมาอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เหล่านี้หมดแล้ว เรียกได้ว่าอ่านหนังสือน้อยลง แต่สถิติการอ่านของเขายังคงที่เท่าเดิม
       
       นายจรัญ กล่าวอีกว่า เด็กและเยาวชนจะอ่านจากหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญคือกลัวเด็กจะไม่อ่านผ่านสื่อใดเลย ตรงนี้เราต้องเร่งรณรงค์สร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เด็กและเยาวชนให้ได้ก่อน คือจะอ่านผ่านแท็บเล็ต สมาร์ทโฟนก็ได้ ขอให้มีจิตใจที่รักการอ่าน ส่วนข้อกังวลที่ว่าข้อมุลเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตไม่มีสาระเทียบเท่ากับหนังสือซึ่งผ่านการกลั่นกรองมาถึงมือผู้อ่านแล้วนั้น ตนเชื่อว่าเมื่อเด็กและเยาวชนอ่านมากขึ้นก็จะมีวุฒิภาวะมากขึ้น และสามารถกลั่นกรองเนื้อหาในการอ่านได้
       
       "หากอยากให้เด็กและเยาวชน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น ผู้จัดทำหนังสือจะต้องปรับตัว เพราะข้อมูลต่างๆ สามารถหาได้ผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว คอนเทนต์ในหนังสือจึงต้องตอบโจทย์กลุ่มผู้อ่านที่มากไปกว่าข้อมูลในอินเทอร์เน็ต" นายจรัญ กล่าว

คัดข่าวจากเว็บไซต์ http://www.webkroo.com/index.php?topic=1712

"ครู" ในศตวรรษที่ 21 จุดเปลี่ยนการศึกษาข้ามพรมแดน



"ครู" ในศตวรรษที่ 21 จุดเปลี่ยนการศึกษาข้ามพรมแดน

ในโลกแห่งการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลสำคัญต่อการผลักดันทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถสร้างขีดความสามารถและศักยภาพตั้งแต่วัยเด็กคือ "ครู" ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะที่สำคัญ

ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ และต่อยอดจนนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าและยั่งยืน บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด จึงได้จัดงาน "เวิลด์ไดแด็ค เอเชีย 2013" โดยเปิดโอกาสให้ครู, อาจารย์,ผู้บริหารการศึกษา, นักวิชาการ และผู้ที่อยู่ในวงการการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในวงเสวนาต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย

โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคศตวรรษที่ 21 ที่ก้าวผ่านมาประชิดตัวมากขึ้น บทบาทของ "ครู" จึงต้องปรับเปลี่ยนกลไกทางการศึกษาให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบกับการสร้างฐานความรู้ใหม่เพื่อเดินหน้าสู่การเปิดกว้างทางการเรียนรู้ข้ามพรมแดน

ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายอีกประการหนึ่งของการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเรื่องนี้ "ศ.ตัน อุน เซง"คณบดีคณะครุศาสตร์ สถาบันการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ (NIE) ชี้แนวทางที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาครูให้ได้มาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศ ภายใต้การปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การศึกษาข้ามพรมแดนของภูมิภาคอาเซียน : โอกาสและความท้าทายของประชาคมอาเซียน" ว่า "ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการศึกษาเป็นเสมือนการลงทุนทางความรู้ในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพของประชากรในการเชื่อมโยงไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศของตนเอง ฉะนั้นในฐานะครูผู้มีบทบาทสำคัญทางการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญต่อการมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ภายใต้บริบทที่หลากหลายในภูมิภาคอาเซียน"

โดยโจทย์ของครูอาเซียนในวันนี้คือ...
จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนมุ่งสู่คุณภาพแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างมีมาตรฐาน
ซึ่งผมขอเสนอ 3 แนวทาง ประกอบด้วย

"หนึ่ง
การบูรณาการระหว่างครูในอาเซียน โดยผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดให้กับประเทศของตนเองอย่างมีมาตรฐานในระดับอาเซียน ซึ่งการร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยขจัดปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐาน ให้พร้อมสู่การปฏิรูปการศึกษาใหม่อย่างมีคุณภาพเทียบเท่าในระดับสากล"

"เช่นเดียวกับการเตรียมครูให้มีคุณภาพ ซึ่งครูที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 จะต้องมีความสามารถในการเตรียมหลักสูตรที่ผสมผสานให้กับผู้เรียนในอาเซียนอย่างเหมะสม เพราะแน่นอนว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เมื่อเรามีประชากรทางการศึกษาที่หลากหลายทั้งวัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษา ฉะนั้นสิ่งนี้คือส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในอาเซียน"
"สอง การลงทุนเพื่อการศึกษาในระดับประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งครู, นักวิจัย, สถาบันการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องจับมือร่วมกันสร้างแนวคิดในการกำหนดนโยบายและรูปแบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีและความต่างทางเชื้อชาติในสังคมให้ได้ผลสัมฤทธิ์จนเกิดเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด ตรงนี้คือปัจจัยสำคัญเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันต่อไป"

"สาม ครูจะต้องสวมบทบาทสำคัญในสถาบัน โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการใฝ่รู้ที่เน้นสมรรถนะและทักษะเพื่อเสริมสร้างพื้นฐานทางการศึกษา ขณะเดียวกันครูจะต้องเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ

ด้วยตนเอง โดยเฉพาะเรื่องการปรับเปลี่ยนหลักสูตรหรือบทเรียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ของผู้เรียนตลอดเวลา ทั้งหมดนี้คือการสร้างอัตลักษณ์เชิงบวกให้กับครูอย่างแท้จริง"

เมื่อทั้ง 3 แนวทางประกอบเข้าด้วยกัน "ศ.ตัน อุน เซง" บอกว่า จะทำให้เราเห็นภาพใหม่ของ "ครู" ที่สามารถออกแบบการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของผู้เรียนอย่างแท้จริง

"จนทำให้ผู้เรียนมีกรอบแนวความคิดที่แตกต่างและกว้างขึ้น ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานทางความคิดเพื่อนำไปต่อยอดสู่การปฏิบัติ และสิ่งที่จะทำให้วิธีการนี้เกิดผล
อย่างเป็นรูปธรรม เราจะต้องกำหนดตัวชี้วัดในการประเมินผลของผู้เรียนและครูไปพร้อม ๆ กัน เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพของหลักสูตรให้ดีขึ้นต่อไป"

ทั้งหมดนี้คือมิติใหม่ของ "ครู" ในศตวรรษที่ 21 ที่ผู้เรียนทั้งอาเซียนวาดภาพฝันไว้
.............................................................................................................. 
จากเว็บไซต์  http://www.kruwandee.com/news-id8113.html

โพสต์เมื่อ วันที่ 23 ตุลาคม 2556

หลักสูตรการศึกษาแบบก็อปปี้...อันตรายของการศึกษาไทย !!!



หลักสูตรการศึกษาแบบก็อปปี้...อันตรายของการศึกษาไทย !!!


      จำนวน 0.5 หน่วยกิตหรือ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คือเวลาที่การเรียนนาฏศิลป์ของเด็กไทย เวลา 1 ชั่วโมงที่ว่าถูกตั้งคำถามต่อว่าหากนำมาเป็นเวลาในเรียนในวิชาอื่น จะเพียงพอในการพัฒนาศักยภาพทางการเรียนรู้ของเด็กไทย จนทักษะทางด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จะพัฒนาขึ้นได้เท่าเทียมประเทศอื่น ๆ จริงหรือ

        ร่างหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานฉบับใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการที่ลดเหลือเพียง 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จากเดิมที่มี 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กันว่าร่างหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ไม่ได้มีการนำหลักสูตรวิชานาฏศิลป์บรรจุไว้ในหลักสูตรใหม่

   แม้ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ถอดวิชานาฏศิลป์ไทยออกจากหลักสูตรแต่อย่างใด โดยระบุว่าวิชานาฏศิลป์ถูกจัดเข้าไปในกลุ่มสังคมและความเป็นมนุษย์เหมือนวิชาศิลปะหลายฝ่ายตั้งคำถามแก่ สพฐ. ว่า การที่เด็กไทยอ่อนทักษะทางด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ทำไมจึงไม่ไปแก้ปัญหาให้ตรงจุด และเกี่ยวข้องอย่างไรกับหลักสูตรนาฏศิลป์ ซึ่งเป็นรายวิชาที่มีพื้นที่ตารางสอนในโรงเรียนเพียง 0.5 หน่วยกิตหรือประมาณ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

        ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม และผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า แนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ออกมาช่วงหลังๆ ดูเหมือนจะพยายามลอกเลียนแบบประเทศต่างๆ โดยพยายามเอาระบบคุณภาพการศึกษาของต่างประเทศที่เห็นกันไปว่าประสบความสำเร็จ เอาประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ และพยายามลอกเลียนแบบมาปรับใช้ในการศึกษาของไทย “เป็นเรื่องที่อันตรายต่อการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะ เพราะมันยากที่จะไปคัดลอกระบบการศึกษาของต่างประเทศ ที่มีวัฒนธรรมต่างกัน ความคิด ความอ่าน พฤติกรรมของคนต่างกันมาใช้กับประเทศไทย ดังนั้นต้องระลึกไว้เสมอว่าประเทศไทยมีหลักสูตรนาฏศิลป์ไทย เพื่อบอกว่าเรามีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการเกิดขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหา อย่าเป็นตัวสร้างปัญหาเสียเอง”

      นอกจากนี้ยังมองว่าแต่ละประเทศมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน แม้แต่ประเทศเดียวกันยังมีรายละเอียดหลักสูตรแตกต่างกัน แต่ละประเทศ แต่ละพื้นที่มิศิลปวัฒนธรรมแตกต่างกัน ที่มักจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเด็ก เช่น ประเทศสเปน ที่ถือว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแบบก้าวกระโดด ยังมีการระบุไว้ชัดเจนว่าต้องให้ความสำคัญเชิงสร้างสรรค์ในเรื่องศิลปวัฒนธรรม โดยบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กนักเรียน รวมทั้งโรงเรียนประถมศึกษาในสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก ที่สามารถผสมผสานศิลปะกับการเรียนภาษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว

       นั่นหมายความว่าวิธีการเรียนการสอนของประเทศที่พัฒนาแล้วในเชิงวัตถุนิยม มีวิธีการเรียนการสอนแตกต่างไปจากระบบการศึกษาของประเทศไทย ที่ผู้บริหารบังคับครู ครูบังคับนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองก็บังคับนักเรียน สุดท้ายเด็กนักเรียนกลายเป็นเหมือนกระโถนหรือหุ่นยนต์ ถูกลดทอนคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ในมิติอื่นๆ ไป คุณค่าของเด็กถูกตัดสินกันเพียงตัวเลขและค่าคะแนนเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ได้เสนอแนะในการจัดการเรียนการสอนของไทยว่า การบริหารจัดการที่กระทรวงศึกษาธิการควรมุ่งคิดแนวนโยบายที่ควรสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากรให้กับโรงเรียนต่างๆ ให้พร้อม ทั้งคุณภาพครู ชีวิตความเป็นอยู่ของครู เทคโนโลยีการศึกษา วัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน และความปลอดภัยในชีวิตของบุคลากรทางการศึกษาและเด็กนักเรียน การเรียนการสอนควรมุ่งเน้นให้เด็กมีความเป็นมนุษย์ครบ ทั้งในเชิงของคุณค่า จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ มีจิตใจที่รักความสงบ รับผิดชอบดูแลห่วงใยตนเองและผู้อื่น กตัญญูรู้คุณแผ่นดิน อนุรักษ์ความเป็นไทย และในเชิงวัตถุนิยมต้องมีความรู้ในเชิงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ควบคู่กันไป


   ดังนั้นหลักสูตรนาฏศิลป์ไทยจึงยังเป็นส่วนสำคัญของหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กไทยต่อไป ส่วนผลการเรียนที่ดีขึ้นของเด็กนักเรียน ทั้งทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น คุณภาพของครู ความสามารถของครูในเทคนิคการสอน ที่จะสามารถทำงานร่วมกับเด็กนักเรียน นอกจากนี้ยังขึ้นกับความสนใจ ความพร้อมของเด็กนักเรียนเป็นสำคัญ ระยะเวลาเป็นเพียงปัจจัยประกอบเท่านั้น ถ้ามีเวลามากแค่ครูมีคุณภาพไม่เพียงพอ ไม่สามารถทำให้เด็กสนใจหรือเข้าใจได้การเอาเวลาที่เรียนนาฏศิลป์มาเพื่มให้แก่วิชาเหล่านี้ก็จะได้ไม่คุ้มเสีย หากนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการไม่คำนึงถึงความสำคัญของหลักสูตรนาฏศิลป์ ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการทำลายเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์ความเป็นไทย ไม่ใช่เป็นตัวทำลายความเป็นไทยเสียเอง “เหตุผลสำคัญประการเดียวที่หลักสูตรนาฏศิลป์ไทย ควรอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของไทย คือ การรักษาความเป็นไทยเอาไว้ กระทรวงศึกษาธิการต้องเรียนรู้ เข้าใจ และเข้าถึงเด็กนักเรียน ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่มีลักษณะเป็นเพียงตัวเลข เป็นเพียงเครื่องจักรอย่างเดียว”



โพสต์เมื่อวันที่ : 23 ต.ค. 2556

คัดบทความ วันที่ 23 ตค.2556


ทางสู่หายนะการศึกษาไทย : การทดสอบวัดผลกลาง



บทความดีๆที่สมควรเผยแพร่


    ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจลคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปฏิรูปการศึกษาในปี ๒๕๔๒ เพราะเดินแนวทางผิดพลาด ทำให้การศึกษาไทยอยู่ในสภาพ เน้นการสอนวิชา และสอนเพื่อสอบ ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วโลกว่าเป็นแนวทางที่ผิด  พร้อมๆ กับข่าวนักการศึกษาของประเทศที่คุณภาพการศึกษาติดอันดับดีที่สุดของโลก คือฟินแลนด์และฮ่องกง มาเล่าแนวทางของเขา ในงาน Educa 2013 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ก็มีข่าวกระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายใหญ่ สวนทางกับวิธีการของฟินแลนด์ 

       แน่นอนประเทศไทยไม่ใช่ฟินแลนด์ เราแตกต่างจากเขาหลายด้าน แต่นโยบายเน้นการทดสอบวัดผลกลาง จะยกระดับคุณภาพการศึกษาขึ้น หรือจะยิ่งซ้ำเติมให้คุณภาพการศึกษาไทยเลวลงไปอีก? คนไทยทุกคนควรช่วยกันไตร่ตรอง และออกความเห็น เพราะนี่คือนโยบายสาธารณะ และการศึกษาเป็นอนาคตของบ้านเมือง  พลเมืองไทยทุกคนต้องช่วยกันยกระดับคุณภาพการศึกษา All for Education 

ผมขอฟันธงว่า นโยบายและมาตรการเน้นใช้การทดสอบวัดผลกลาง จะทำให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำลงไปอีก

เพราะอะไร? ...  
เพราะจะทำให้การศึกษาไทยจมดิ่งหุบเหวของ "การสอนวิชา"
และ "การสอนเพื่อสอบ"  ลึกลงไปอีก
 

การสอนวิชา เป็นการศึกษาแห่งอดีต เป็นการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๐ และ ๑๙ ไม่ใช่การศึกษาเพื่อพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต หรือการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑

การสอบวัดผลกลาง สอบได้เพียงตัววิชาหรือเนื้อความรู้ ไม่สามารถสอบสมรรถภาพรวมเพื่อการเป็นพลเมือง (และพลโลก) ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Skills) ได้ ย้ำว่าการเรียนรู้สมัยใหม่ ผู้เรียนต้องได้มากกว่าความรู้ โดยต้องฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริงหรือเสมือนจริง จนเกิดทักษะในการใช้ความรู้ และทักษะในการสร้างความรู้ขึ้นใช้เอง ตลอดจนทักษะในการเรียนรู้

ทักษะอีกตัวหนึ่งที่ต้องการอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่ คือทักษะความร่วมมือ (collaboration skills)
การทดสอบวัดผลกลางจะวัดทักษะเหล่านี้อย่างไร? 


การศึกษาที่แท้จริง มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนทั้งคน พัฒนาทั้งด้านนอกและด้านใน การพัฒนาด้านในได้แก่การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ความมีน้ำใจ การเห็นแก่ส่วนรวม การช่วยเหลือผู้อื่น ความริเริ่มสร้างสรรค์ จินตนาการ การทดสอบวัดผลกลางจะวัดคุณสมบัติด้านในเหล่านี้อย่างไร?

การพัฒนาคนทั้งคน มีเป้าหมายพัฒนารอบด้าน ทั้งด้านพุทธิปัญญา การพัฒนาด้านอารมณ์ ด้านสังคม ด้านจิตใจหรือจิตวิญญาณ ด้านสุนทรียะ และด้านกายภาพ แต่การบังคับใช้การทดสอบวัดผลกลางจะวัดได้เฉพาะด้านพุทธิปัญญาเท่านั้น การทดสอบวัดผลกลางจึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้การศึกษาไทยไม่เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาคนรอบด้านยิ่งขึ้นไปอีก ที่จริงตอนนี้อาการก็หนักมากอยู่แล้ว น่าเป็นห่วงว่า มาตรการเข้มงวดกับการทดสอบวัดผลกลาง จะยิ่งทำให้โรงเรียนและครู ยิ่งไม่เอาใจใส่พัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็ก ที่ไม่ใช่ด้านรู้วิชา ที่นำไปตอบข้อสอบได้

ลองหันไปดูตัวอย่างแนวทางของฟินแลนด์ ซึ่งมีผู้สรุปไว้ใน นสพ. เดอะ เนชั่น ฉบับวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ ไว้อย่างดีมาก และอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่
http://www.nationmultimedia.com/national/The-FINNS-claim-that-quality-teaching-makes-great--30216996.html
และผมได้นำมาตีความเผยแพร่ต่อที่ http://www.gotoknow.org/posts/550899

หัวใจของความสำเร็จของการศึกษาฟินแลนด์คือ เขาใช้ครูเป็นปัจจัยขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่ใช้การทดสอบ นั่นคือเขาเชื่อถือครูของเขา (trust-based responsibility) ให้ครูเป็นผู้ทดสอบความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของศิษย์ โดยครูต้องรับผิดชอบต่อความแม่นยำในการทดสอบ และกระทรวงศึกษาธิการก็คอยช่วยให้ครูประเมินได้อย่างแม่นยำ

ฟินแลนด์ขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาโดยเชื่อถือไว้วางใจครู ให้เกียรติครู และคอยช่วยเหลือให้ครูรับเกียรตินั้นได้ โดยที่ครูต้องรับผิดชอบ และขวนขวายเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา คนที่ไม่เรียนรู้มาเป็นครูไม่ได้ คนที่จะมาเป็นครูต้องเลือกเฟ้นมาอย่างดี ครูที่ดีจะมีฐานะความเป็นอยู่ดี

" ครู "  เท่านั้นที่จะสามารถประเมินพัฒนาการของเด็กแบบครบด้านได้ จากการคลุกคลีและสังเกตพฤติกรรมของเด็ก เพื่อช่วยเหลือแนะนำในฐานะ “โค้ช” ของการเรียนรู้ แบบที่ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ (learning by doing)

ระบบการศึกษาที่ไม่ให้เกียรติ ไม่ไว้วางใจครู ไม่ส่งเสริมให้ครูเป็นตัวหลัก ในการรับผิดชอบการประเมินผลการเรียนรู้ของศิษย์ แบบประเมินรอบด้าน น่าจะเป็นการศึกษาที่ผิดพลาด

หัวใจสำคัญของคุณภาพการศึกษา  คือ เด็กต้องเรียนรู้ในระดับ “รู้จริง” (mastery learning) ไม่ใช่เรียนรู้แบบผิวเผินอย่างการศึกษาไทยในปัจจุบัน และจะยิ่งส่งเสริมความผิวเผินโดยระบบการสอบวัดผลกลาง
  • เมื่อไรการศึกษาเน้นเป้าหมาย “สอนเพื่อสอบ” การศึกษานั้นไม่มีทาง “เรียนแบบรู้จริง” 
  • เมื่อไรระบบการศึกษาเน้นที่การสอน ไม่เน้นการเรียน การศึกษานั้นไม่มีทางทำให้เด็ก “รู้จริง”
  • เมื่อไรก็ตาม ครูเป็นเจ้าของการสอน ไม่ใช่เด็กเป็นเจ้าของการเรียน การศึกษานั้นไม่มีทางทำให้เด็ก “รู้จริง” 

วิธีการเน้นการสอบวัดผลกลาง เป็นวิธีการของ Education 2.0
ในขณะนี้การศึกษาต้องเข้าสู่ Education 3.0