ในโลกแห่งการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลสำคัญต่อการผลักดันทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถสร้างขีดความสามารถและศักยภาพตั้งแต่วัยเด็กคือ "ครู" ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะที่สำคัญ
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ และต่อยอดจนนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าและยั่งยืน บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด จึงได้จัดงาน "เวิลด์ไดแด็ค เอเชีย 2013" โดยเปิดโอกาสให้ครู, อาจารย์,ผู้บริหารการศึกษา, นักวิชาการ และผู้ที่อยู่ในวงการการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในวงเสวนาต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย
โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคศตวรรษที่
21 ที่ก้าวผ่านมาประชิดตัวมากขึ้น บทบาทของ
"ครู"
จึงต้องปรับเปลี่ยนกลไกทางการศึกษาให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ประกอบกับการสร้างฐานความรู้ใหม่เพื่อเดินหน้าสู่การเปิดกว้างทางการเรียนรู้ข้ามพรมแดน
ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายอีกประการหนึ่งของการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเรื่องนี้ "ศ.ตัน อุน เซง"คณบดีคณะครุศาสตร์ สถาบันการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ (NIE) ชี้แนวทางที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาครูให้ได้มาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศ ภายใต้การปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การศึกษาข้ามพรมแดนของภูมิภาคอาเซียน : โอกาสและความท้าทายของประชาคมอาเซียน" ว่า "ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการศึกษาเป็นเสมือนการลงทุนทางความรู้ในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพของประชากรในการเชื่อมโยงไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศของตนเอง ฉะนั้นในฐานะครูผู้มีบทบาทสำคัญทางการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญต่อการมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ภายใต้บริบทที่หลากหลายในภูมิภาคอาเซียน"
โดยโจทย์ของครูอาเซียนในวันนี้คือ...
จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนมุ่งสู่คุณภาพแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างมีมาตรฐาน
ซึ่งผมขอเสนอ 3 แนวทาง ประกอบด้วย
"หนึ่ง การบูรณาการระหว่างครูในอาเซียน โดยผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดให้กับประเทศของตนเองอย่างมีมาตรฐานในระดับอาเซียน ซึ่งการร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยขจัดปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐาน ให้พร้อมสู่การปฏิรูปการศึกษาใหม่อย่างมีคุณภาพเทียบเท่าในระดับสากล"
"เช่นเดียวกับการเตรียมครูให้มีคุณภาพ ซึ่งครูที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 จะต้องมีความสามารถในการเตรียมหลักสูตรที่ผสมผสานให้กับผู้เรียนในอาเซียนอย่างเหมะสม เพราะแน่นอนว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เมื่อเรามีประชากรทางการศึกษาที่หลากหลายทั้งวัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษา ฉะนั้นสิ่งนี้คือส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในอาเซียน"
"สอง การลงทุนเพื่อการศึกษาในระดับประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งครู,
นักวิจัย, สถาบันการศึกษา
และกระทรวงศึกษาธิการ
จะต้องจับมือร่วมกันสร้างแนวคิดในการกำหนดนโยบายและรูปแบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีและความต่างทางเชื้อชาติในสังคมให้ได้ผลสัมฤทธิ์จนเกิดเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด
ตรงนี้คือปัจจัยสำคัญเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันต่อไป"
"สาม ครูจะต้องสวมบทบาทสำคัญในสถาบัน โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการใฝ่รู้ที่เน้นสมรรถนะและทักษะเพื่อเสริมสร้างพื้นฐานทางการศึกษา ขณะเดียวกันครูจะต้องเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ
ด้วยตนเอง โดยเฉพาะเรื่องการปรับเปลี่ยนหลักสูตรหรือบทเรียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ของผู้เรียนตลอดเวลา ทั้งหมดนี้คือการสร้างอัตลักษณ์เชิงบวกให้กับครูอย่างแท้จริง"
เมื่อทั้ง 3 แนวทางประกอบเข้าด้วยกัน "ศ.ตัน อุน เซง" บอกว่า จะทำให้เราเห็นภาพใหม่ของ "ครู" ที่สามารถออกแบบการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของผู้เรียนอย่างแท้จริง
"จนทำให้ผู้เรียนมีกรอบแนวความคิดที่แตกต่างและกว้างขึ้น ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานทางความคิดเพื่อนำไปต่อยอดสู่การปฏิบัติ และสิ่งที่จะทำให้วิธีการนี้เกิดผล
อย่างเป็นรูปธรรม
เราจะต้องกำหนดตัวชี้วัดในการประเมินผลของผู้เรียนและครูไปพร้อม ๆ กัน
เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพของหลักสูตรให้ดีขึ้นต่อไป"
ทั้งหมดนี้คือมิติใหม่ของ
"ครู" ในศตวรรษที่ 21 ที่ผู้เรียนทั้งอาเซียนวาดภาพฝันไว้
..............................................................................................................
ที่มาของข่าว : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 ตุลาคม 2556
จากเว็บไซต์ http://www.kruwandee.com/news-id8113.html
โพสต์เมื่อ
วันที่ 23 ตุลาคม 2556