Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2559

สูตรสร้างเสน่ห์ .... ของครูบรรณารักษ์

สูตรสร้างเสน่ห์  [ ยิ้ม ประณม ก้ม ขาน ]  ของครูบรรณารักษ์  : กัลยาณมิตรที่แสนดี
                                                                                             วัชราภรณ์ วัตรสุข
ยิ้มให้กันวันละนิดจิตแจ่มใส               โลกทั้งใบใหญ่แค่ไหนใช่ปัญหา
ยิ้มด้วยรักยิ้มจากใจใส่เมตตา              ยิ้มเริงร่าตาก็ยิ้มอิ่มหัวใจ
อีกยกมือประณมก้มคารวะ                เหมาะแก่กาลเทศะทุกสมัย
การน้อมไหว้นั้นเป็นเอกลักษณ์ไทย       ขจรไกลงามงดปรากฏนาน
เมื่อไหว้เขาเราได้การไหว้ตอบ             เป็นระบอบแต่โบราณท่านกล่าวขาน
ไหว้ผู้ใหญ่เป็นประจำเหมาะแก่กาล      ไหว้ผู้น้อยก่อเกิดงานบันดาลดล
อีกการก้มคืออ่อนน้อมถ่อมดวงจิต        ฝึกเป็นนิจทำทุกวันนั้นเห็นผล
ตัวชี้วัดค่างานการฝึกตน                  เกิดเป็นคนอ่อนน้อมเป็นเห็นค่างาม
ก้มยอมรับผู้อื่นชื่นในจิต                   ก้มยอมรับมิ่งมิตรไม่เหยียดหยาม
ก้มยอมรับความคิดเห็นเป็นความงาม     ก่อสุขล้ำกรุ่นกมลคนทำงาน
อีกน้ำคำวาจาภาษามนุษย์                เป็นสิ่งสุดประเสริฐที่ขับขาน       
วาจาดีเรื่องยากกลับง่ายพลัน             ก่อเกิดงานบันดาลผลคนสุขใจ
จะพูดขอขออะไรจากใครนั้น              ควรคัดสรรเรียบเรียงไม่ยากไฉน

บวกรอยยิ้ม ก้มไหว้ พูดจากใจ            งานนั้นไซร้ใช่ไกล..ใกล้เอื้อมเอย.



รูปแบบการสร้างเครือข่ายการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่าน

รูปแบบการสร้างเครือข่ายการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่าน
               รูปแบบการสร้างเครือข่ายการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่านประกอบด้วย ๓ รูปแบบ ดังนี้
1.      รวมกลุ่มสนใจ (Community of Practice)  เช่น
·       กลุ่มครูบรรณารักษ์ห้องสมุดในอำเภอเดียวกัน
·       กลุ่มครูบรรณารักษ์ห้องสมุดในเขตพื้นที่เดียวกัน
·       กลุ่มครูที่สนใจสร้าง/พัฒนากิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
·       กลุ่มครูผู้สอนกลุ่มสาระต่างๆ ในโรงเรียนที่สนใจเรื่องการสร้างสื่อส่งเสริมการอ่านและวิธีสอนที่บูรณาการการอ่าน
·       กลุ่มยุวบรรณารักษ์ห้องสมุดกับชมรมรักการอ่าน ชุมนุมยุวบรรณารักษ์ ฯลฯ
·       อื่นๆ

2.      รวมกลุ่มหน่วยงาน (Networked Organization) เช่น
·       กลุ่มครูบรรณารักษ์โรงเรียนในเครือข่าย/เขต/อำเภอเดียวกัน
·       กลุ่มครูบรรณารักษ์โรงเรียนสังกัด สพฐ กับ กศน. /สพม./มหาวิทยาลัย ฯลฯ
·       กลุ่มโรงเรียนห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบและห้องสมุดมีชีวิตที่เป็นเครือข่าย/สมาชิก
·       กลุ่มโรงเรียนที่มีวิธีการปฏิบัติเป็นเลิศ (Best Practice) ด้านการพัฒนาห้องสมุดและด้านการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมกรรมส่งเสริมการอ่านกับกลุ่มโรงเรียนที่สมัครเป็นเครือข่าย ฯลฯ
·       กลุ่มโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาห้องสมุดเป็นกลุ่มอาสาช่วยพัฒนาโรงเรียนที่ต้องการพัฒนา ลักษณะพี่ช่วยน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน เป็นต้น
·       อื่นๆ

3.      รวมกลุ่มทางอินเทอร์เน็ตไม่เห็นตัวกัน (Virtual Community) เช่น
  กลุ่มที่ใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail)
  กลุ่มที่ใช้ Line ในการสร้างกลุ่มติดต่อสื่อสารกัน (เป็น Application
    ที่สามารถใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ทั่วไป
  กลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตติดต่อกันเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network)
    เช่น Face book / Massenger   เป็นต้น
  กลุ่มที่ติดต่อและติดตามผลงานของเครือข่ายในเว็บไซต์   ใน Blog เป็นต้น






สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการประสานงานและการสร้างเครือข่าย
      การประสานงานของครูบรรณารักษ์ที่จะนำพาให้งานการสร้างเครือข่ายสำเร็จลุล่วงด้วยดีนั้นมีประเด็นที่ควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้
               1. รูปแบบการประสานงาน มี ๒ รูปแบบคือ การประสานงานนอกแบบ เป็นกิจกรรมที่ไม่มีรูปแบบแน่นอน อาจจัดทำได้ในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้การประสานงานสำเร็จด้วยดี เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน การพูดคุยกัน   และการประสานงานในแบบ เป็นการปฏิบัติงานตามปกติโดยวาจา หรือลายลักษณ์อักษรหรือการประชุมร่วมกัน เป็นต้น
               2. วิธีการประสานงาน ครูบรรณารักษ์ควรกำหนดแผนงานหรือโครงการขึ้นมาก่อน ให้ทุกคนหรือทุกหน่วย เข้าใจแผนงานหรือโครงการทั้งหมด  ให้ทราบว่าใครหรือหน่วยใดมีหน้าที่อะไร กำลังทำอะไรอยู่ จะช่วยเหลือกันได้อย่างไร  ตลอดจนอนาคตจะทำอะไรต่อไป โดยจัดทำแผนภูมิองค์การ (Organization Chart) และ รายละเอียดการทำงาน(Job Description) ของคนหรือหน่วยงานไว้ให้ชัดเจน ให้ทุกคน ทุกหน่วยงานเต็มใจทำงานที่ได้รับมอบหมายจริงๆ  จึงจะบังเกิดผลจริง   

การใช้ภาวะผู้นำและบุคลิกภาพของครูบรรณารักษ์ ที่ประกอบด้วย การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี  มีความอดทน  มีน้ำใจให้บริการ (Sense of Service) ก็นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะงานที่มีคนทำตั้งแต่  2 คนขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีความขัดแย้งในด้านความคิด  เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งสติปัญญา ประสบการณ์ รสนิยม ความรู้สึกนึกคิด ความสนใจ ตลอดจนค่านิยม  หากครูบรรณารักษ์มีคุณลักษณะดังกล่าวก็เชื่อแน่ว่าจะสามารถให้การประสานงานสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี

การเสริมแรงและการสร้างขวัญกำลังใจของครูบรรณารักษ์

การเสริมแรงและการสร้างขวัญกำลังใจ
         เมื่องานสำเร็จ สิ่งสำคัญที่ครูบรรณารักษ์ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง นั่นคือ การเสริมแรงและและ ให้ขวัญกำลังใจ ด้วยการขอบคุณสำหรับความร่วมมือที่ได้รับจากเครือข่าย  
              “ขอบคุณด้วยวิธีไหน ?
·       ขอบคุณ..ด้วยหนังสือขอบคุณ
·       ขอบคุณ..ด้วยเกียรติบัตรของโรงเรียน, ของหน่วยงานต้นสังกัด
·       ขอบคุณ..ด้วยการประกาศยกย่องในที่ประชุม
·       ขอบคุณ..ด้วยการเผยแพร่ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน
·       ขอบคุณ..ด้วยการเผยแพร่ผลงานในเว็บไซต์ของโรงเรียนและเว็บไซต์อื่นๆ
                   “ขอบคุณเมื่อไหร่ ?”     
·       เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ หลังจากได้รับความช่วยเหลือ/ได้รับความร่วมมือ
เข้าทำนอง “ตีเหล็กเมื่อยังร้อน” อย่ามัวแต่รีๆรอๆ
เดี๋ยวจะกลายเป็น "กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ " ไปเสียก่อน
โอกาสที่จะได้รับความร่วมมือครั้งต่อไปก็จะไม่มีอีก
ท่านว่าจริงไหม ?

  ครูบรรณารักษ์กับเครือข่ายการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่านออนไลน์
      1. เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย   https://www.facebook.com/THLibrary    
      2. Virtual Library  http://www.nectec.or.th/WWW-VL-Thailand.html
3. สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้   สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและ
    การศึกษาตามอัธยาศัย
      http://dnfe5.nfe.go.th/dnfe5_v2/frontend/theme/index.php
      4. สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย     http://www.car.chula.ac.th/
      5. เครือข่ายเพื่อโรงเรียนไทยหรือสคูลเน็ต  https://web.ku.ac.th/schoolnet/   
      6. เครือข่ายสังคมออนไลน์ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้   
            bhttps://www.facebook.com/mjulibrary
      7. เครือข่ายห้องสมุดศูนย์คุณธรรม   
            http://www.moralcenter.or.th/minisite/home.php?Province=moralcorner
      8. สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park)  http://www.tkpark.or.th/tha/home

      11. ระบบการจัดการความรู้สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา

            http://digital_collect.lib.buu.ac.th/kb/?View=entry&EntryID=316


เป็นต้น

เพื่อนร่วมทาง...ครูบรรณารักษ์

เพื่อนร่วมทาง...ครูบรรณารักษ์
อยากได้ใจเขา...เราต้องให้ใจเขาก่อน
อยากให้เขาเข้าใกล้..เราต้องเข้าใกล้เขาก่อน
อยากให้เขาเป็นเพื่อน..เราต้องเป็นเพื่อนเขาก่อน
อยากได้ความร่วมมือจากเขา..เราต้องร่วมมือกับเขาก่อน
“เพื่อนร่วมทาง” ..สร้างไม่ยากเลย สำหรับครูบรรณารักษ์

               เมื่อรู้สึกโดดเดี่ยวในการทำงานในหน้าที่ของครูบรรณารักษ์  ทั้งที่เราก็ไม่ได้พรากห้องสมุดออกจากคนกลุ่มอื่น ไม่ได้จับจองเป็นเจ้าของห้องสมุดแต่เพียงผู้เดียว งานก็เต็มที่แล้ว แต่ทำไมเหนื่อยจัง ทุกอย่างล้วนเป็นปัญหา เจ้าหน้าที่ไม่พอ ผู้ช่วยไม่มี งบประมาณน้อยนิด กิจกรรมมากมาย  แม้จะสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองแล้วก็ตาม  วิธีหนึ่งที่แสนวิเศษ ที่มีผู้ใช้แล้วได้ผลเลิศ นั่นคือ การหันหน้าไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น  ซึ่งก็คือผู้ที่มาใช้บริการห้องสมุดของเรานั่นเอง เพราะพวกเขาพร้อมอยู่แล้ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งที่เรากำลังพยายามทำเป็นไปเพื่อความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง  ลองมองไปรอบๆ ตัวท่าน ตั้งแต่ตัวเด็กนักเรียนเอง  เพื่อนครู  ผู้บริหารโรงเรียน  นักการภารโรง  กรรมการสถานศึกษา กว้างออกไปนอกโรงเรียน   ก็ยังมี พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรท้องถิ่น ผู้คนจากหลากหลายอาชีพและหลายฐานะ  รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้อาจตระหนักถึงความสำคัญของห้องสมุดและนิสัยรักการอ่านที่ควรปลูกฝัง  พร้อมที่จะช่วยเหลืองานห้องสมุดของโรงเรียน คนที่มีชื่อเสียงที่พร้อมจะสละเวลาทำงานเพื่อสังคม  หากครูบรรณารักษ์ใช้ความตั้งใจและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพียงพอ ก็จะพบว่าขณะที่กำลังใช้ความพยายามทำให้คนมาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น หรือกำลังพยายามกระตุ้นบรรยากาศภายในห้องสมุด  ยังคงมีคนอีกจำนวนไม่น้อยทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนที่อยากร่วมมือด้วย อยากเป็น “เพื่อนร่วมทาง” กับครูบรรณารักษ์  เหนือสิ่งอื่นใดเราต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าเราอยากให้ห้องสมุดของเราเป็นไปในรูปแบบใด   

เพื่อนร่วมทาง...สำคัญอย่างไร
               เพื่อนร่วมทาง หรือ“เครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่าน” สำคัญอย่างไร
               ประเด็นหลักของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่านของโรงเรียน  มุ่งให้เกิดการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ร่วมกันในกระบวนการทำงาน ดังนี้
               1. ส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรห้องสมุดร่วมกัน
               2. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่าน
               3. ส่งเสริมการพัฒนาการดำเนินงานของห้องสมุดโรงเรียนในเครือข่ายสู่มาตรฐานห้องสมุดโรงเรียน
               4. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาชีพบรรณารักษ์




เพื่อนร่วมทางสร้างอย่างไร

ความร่วมมือ..ก่อให้เกิดงาน
ความร่วมมือ..บันดาลความสำเร็จ
ความร่วมมือ..สร้างสัมพันธภาพที่งดงาม
เพื่อนร่วมทาง..สร้างได้ง่าย หากมีใจและมุ่งมั่น
เพื่อนร่วมทาง..อยู่ไหน  ใกล้หรือไกล
เพื่อนร่วมทาง..เพื่อนร่วมใจ  เพื่อนผู้ให้ใจ
      ห้องสมุดโรงเรียน เป็นหนึ่งองคาพยพสู่คุณภาพของสถานศึกษา ทั้งด้านผู้เรียน ครู ผู้บริหาร และการบริหาร  ดังนั้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่าน ควรเริ่มจากใกล้ตัวของครูบรรณารักษ์นั่นเอง ได้แก่  ตัวเด็กนักเรียน  เพื่อนครูในโรงเรียน  ผู้บริหารโรงเรียน นักการภารโรง  คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  และขยายวงกว้างออกไปนอกโรงเรียน ได้แก่  พ่อแม่  ผู้ปกครอง วัด  ชุมชน องค์กรท้องถิ่น ผู้คนจากหลากหลายอาชีพและหลายฐานะ  รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้กัน  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน  โรงพยาบาล  สถานีตำรวจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

               ห้องสมุดโรงเรียน หลายแห่งมีการผนึกกำลังอย่างเข้มแข็งทั้งจากภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน อาทิ โรงเรียนบางแห่งมีห้องสมุดและสระว่ายน้ำ ที่เป็นความร่วมมือจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในตึกเดียวกัน  โรงเรียนบางแห่งมีห้องสมุดและธนาคารอยู่ด้วยกัน เพื่อการอ่านและการออมทรัพย์   โรงเรียนบางแห่งมีนักเรียนเข้าไปจัดกิจกรรมของห้องสมุดโดยความร่วมมือระหว่างยุวบรรณารักษ์และคณะกรรมการสภานักเรียน  โดยครูบรรณารักษ์ทำหน้าที่เป็นเพียงครูที่ปรึกษาเท่านั้น  โรงเรียนบางแห่งสามารถสร้างเครือข่ายการสร้างนิสัยรักการอ่านโดยบูรณาการการเรียนรู้กับทั้ง ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้และในทุกชั้นเรียน ทุกห้องเรียนอย่างเป็นระบบทั้งโรงเรียน จนกระทั่งประสบผลสำเร็จในกระบวนการปฏิบัติที่ดีด้านการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  การจัดกิจกรรมห้องสมุดของบางโรงเรียนสามารถสร้างเครือข่ายครูกัลยาณมิตรผู้รักการอ่านได้ทั้งโรงเรียน  โรงเรียนในโครงการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบบางโรงเรียนสามารถสร้างเครือข่ายที่มีการพัฒนารูปแบบเดียวกัน คล้ายร้านสะดวกซื้อ (seven eleven) ที่มีรูปลักษณ์และการดำเนินงานแบบเดียวกัน  เป็นต้น  ทั้งหมดล้วนเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการสร้างเครือข่ายทั้งสิ้น