Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2559

เพื่อนร่วมทาง...ครูบรรณารักษ์

เพื่อนร่วมทาง...ครูบรรณารักษ์
อยากได้ใจเขา...เราต้องให้ใจเขาก่อน
อยากให้เขาเข้าใกล้..เราต้องเข้าใกล้เขาก่อน
อยากให้เขาเป็นเพื่อน..เราต้องเป็นเพื่อนเขาก่อน
อยากได้ความร่วมมือจากเขา..เราต้องร่วมมือกับเขาก่อน
“เพื่อนร่วมทาง” ..สร้างไม่ยากเลย สำหรับครูบรรณารักษ์

               เมื่อรู้สึกโดดเดี่ยวในการทำงานในหน้าที่ของครูบรรณารักษ์  ทั้งที่เราก็ไม่ได้พรากห้องสมุดออกจากคนกลุ่มอื่น ไม่ได้จับจองเป็นเจ้าของห้องสมุดแต่เพียงผู้เดียว งานก็เต็มที่แล้ว แต่ทำไมเหนื่อยจัง ทุกอย่างล้วนเป็นปัญหา เจ้าหน้าที่ไม่พอ ผู้ช่วยไม่มี งบประมาณน้อยนิด กิจกรรมมากมาย  แม้จะสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองแล้วก็ตาม  วิธีหนึ่งที่แสนวิเศษ ที่มีผู้ใช้แล้วได้ผลเลิศ นั่นคือ การหันหน้าไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น  ซึ่งก็คือผู้ที่มาใช้บริการห้องสมุดของเรานั่นเอง เพราะพวกเขาพร้อมอยู่แล้ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งที่เรากำลังพยายามทำเป็นไปเพื่อความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง  ลองมองไปรอบๆ ตัวท่าน ตั้งแต่ตัวเด็กนักเรียนเอง  เพื่อนครู  ผู้บริหารโรงเรียน  นักการภารโรง  กรรมการสถานศึกษา กว้างออกไปนอกโรงเรียน   ก็ยังมี พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรท้องถิ่น ผู้คนจากหลากหลายอาชีพและหลายฐานะ  รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้อาจตระหนักถึงความสำคัญของห้องสมุดและนิสัยรักการอ่านที่ควรปลูกฝัง  พร้อมที่จะช่วยเหลืองานห้องสมุดของโรงเรียน คนที่มีชื่อเสียงที่พร้อมจะสละเวลาทำงานเพื่อสังคม  หากครูบรรณารักษ์ใช้ความตั้งใจและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพียงพอ ก็จะพบว่าขณะที่กำลังใช้ความพยายามทำให้คนมาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น หรือกำลังพยายามกระตุ้นบรรยากาศภายในห้องสมุด  ยังคงมีคนอีกจำนวนไม่น้อยทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนที่อยากร่วมมือด้วย อยากเป็น “เพื่อนร่วมทาง” กับครูบรรณารักษ์  เหนือสิ่งอื่นใดเราต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าเราอยากให้ห้องสมุดของเราเป็นไปในรูปแบบใด   

เพื่อนร่วมทาง...สำคัญอย่างไร
               เพื่อนร่วมทาง หรือ“เครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่าน” สำคัญอย่างไร
               ประเด็นหลักของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่านของโรงเรียน  มุ่งให้เกิดการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ร่วมกันในกระบวนการทำงาน ดังนี้
               1. ส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรห้องสมุดร่วมกัน
               2. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่าน
               3. ส่งเสริมการพัฒนาการดำเนินงานของห้องสมุดโรงเรียนในเครือข่ายสู่มาตรฐานห้องสมุดโรงเรียน
               4. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาชีพบรรณารักษ์




เพื่อนร่วมทางสร้างอย่างไร

ความร่วมมือ..ก่อให้เกิดงาน
ความร่วมมือ..บันดาลความสำเร็จ
ความร่วมมือ..สร้างสัมพันธภาพที่งดงาม
เพื่อนร่วมทาง..สร้างได้ง่าย หากมีใจและมุ่งมั่น
เพื่อนร่วมทาง..อยู่ไหน  ใกล้หรือไกล
เพื่อนร่วมทาง..เพื่อนร่วมใจ  เพื่อนผู้ให้ใจ
      ห้องสมุดโรงเรียน เป็นหนึ่งองคาพยพสู่คุณภาพของสถานศึกษา ทั้งด้านผู้เรียน ครู ผู้บริหาร และการบริหาร  ดังนั้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่าน ควรเริ่มจากใกล้ตัวของครูบรรณารักษ์นั่นเอง ได้แก่  ตัวเด็กนักเรียน  เพื่อนครูในโรงเรียน  ผู้บริหารโรงเรียน นักการภารโรง  คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  และขยายวงกว้างออกไปนอกโรงเรียน ได้แก่  พ่อแม่  ผู้ปกครอง วัด  ชุมชน องค์กรท้องถิ่น ผู้คนจากหลากหลายอาชีพและหลายฐานะ  รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้กัน  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน  โรงพยาบาล  สถานีตำรวจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

               ห้องสมุดโรงเรียน หลายแห่งมีการผนึกกำลังอย่างเข้มแข็งทั้งจากภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน อาทิ โรงเรียนบางแห่งมีห้องสมุดและสระว่ายน้ำ ที่เป็นความร่วมมือจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในตึกเดียวกัน  โรงเรียนบางแห่งมีห้องสมุดและธนาคารอยู่ด้วยกัน เพื่อการอ่านและการออมทรัพย์   โรงเรียนบางแห่งมีนักเรียนเข้าไปจัดกิจกรรมของห้องสมุดโดยความร่วมมือระหว่างยุวบรรณารักษ์และคณะกรรมการสภานักเรียน  โดยครูบรรณารักษ์ทำหน้าที่เป็นเพียงครูที่ปรึกษาเท่านั้น  โรงเรียนบางแห่งสามารถสร้างเครือข่ายการสร้างนิสัยรักการอ่านโดยบูรณาการการเรียนรู้กับทั้ง ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้และในทุกชั้นเรียน ทุกห้องเรียนอย่างเป็นระบบทั้งโรงเรียน จนกระทั่งประสบผลสำเร็จในกระบวนการปฏิบัติที่ดีด้านการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  การจัดกิจกรรมห้องสมุดของบางโรงเรียนสามารถสร้างเครือข่ายครูกัลยาณมิตรผู้รักการอ่านได้ทั้งโรงเรียน  โรงเรียนในโครงการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบบางโรงเรียนสามารถสร้างเครือข่ายที่มีการพัฒนารูปแบบเดียวกัน คล้ายร้านสะดวกซื้อ (seven eleven) ที่มีรูปลักษณ์และการดำเนินงานแบบเดียวกัน  เป็นต้น  ทั้งหมดล้วนเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการสร้างเครือข่ายทั้งสิ้น