Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

กรอบโครงสร้างของการประเมินการอ่านใน PISA 2018




PISA ประเมินอะไร 

การประเมินของ PISA ต้องการให้ครอบคลุมภารกิจการอ่านที่กว้างและลึก และให้ครอบคลุมถึงกลุ่มเป้าหมายผู้อ่านที่หลากหลาย เพราะไม่ว่าใครจะมีเป้าหมายชีวิตอย่างไร การอ่านก็มีความสำคัญเป็นอันดับแรกเพราะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้รู้เรื่อง (Literate) ทุกด้านสำหรับทุกคนที่จะสามารถมีส่วนร่วมในสังคม เศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตได้ อย่างมีคุณภาพ นั่นหมายถึงว่าการประเมินต้องให้เชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่นักเรียนจะต้องไปเผชิญในชีวิตจริงนอกโรงเรียนในวันหน้า การประเมินการอ่านที่ออกแบบมาตั้งแต่ต้นจึงต้องกำหนดถ้อยความ (Text) ที่ให้อ่านให้มีสถานการณ์ (Situation) หรือบริบท (Context) ซึ่งครอบคลุมในบริบทส่วนตัว บริบทสังคม สาธารณะ การงานอาชีพ และการศึกษา แต่มิใช่ว่าแต่ละบริบทจะแยกกันเด็ดขาด แต่ในถ้อยความจะสร้างให้เกี่ยวข้องหรือทับซ้อนกันหลาย ๆ บริบท PISA 2018 ถือว่าการอ่านเป็น “กระบวนการทางสติปัญญา” ซึ่งผู้อ่านต้องใช้ทั้งทักษะและประสิทธิภาพประกอบกัน


กรอบโครงสร้างของการประเมินการอ่านใน PISA 2018 

เพื่อจะชี้วัดว่านักเรียนมีความสามารถในการอ่าน “ที่อยู่นอกเหนือจากห้องเรียน” เพียงใด ดังนั้นการประเมินการอ่านของ PISA จึงเน้นความเข้าใจในสื่อที่ได้อ่าน การสร้างความหมายจากสิ่งที่อ่านโดยใช้ความรู้เดิมผสมผสานกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้รวมถึงการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิมและสื่อดิจิทัล (Digital reading) PISA 2018 จึงปรับกรอบโครงสร้างการประเมินให้ขยายไปครอบคลุมสื่อดิจิทัลด้วย และต่อไปนี้คือโครงสร้างสังเขปว่า PISA 2018 จะประเมินอะไร ทั้งนี้เพื่อเตือนให้ทบทวนว่านักเรียนมีสมรรถนะเหล่านั้นพร้อมมากน้อยเพียงใดและต้องทำอะไรต่อ 

การอ่านดิจิทัลไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้นใน PISA 2018 แต่ได้เริ่มประเดิมมาบ้างแล้วในการประเมินการอ่านรอบก่อน คือ PISA 2009 และ PISA 2015 เท่าที่พบสำหรับนักเรียนไทยมีจุดอ่อนมากในการอ่านดิจิทัล เพราะนักเรียนส่วนใหญ่จะอ่อนด้อยในการตอบสนองคำสั่งที่ให้ใช้เหตุผลจากถ้อยความ ให้บอกสาระสำคัญที่ถ้อยความที่กำหนดให้สื่อสารออกมา หรือให้โต้แย้งบนพื้นฐานของประจักษ์พยานที่ปรากฏ แต่ส่วนมากนักเรียนไทยจะใช้วิธีคัดลอกถ้อยความมาวาง (copy – paste) เป็นคำตอบที่ทำให้ไม่ได้คะแนน