Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

คุณเสพติดโซเชียลเน็ตเวิร์กมากเกินไปหรือเปล่า?




เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในสังคมของโลกยุคปัจจุบันนี้ โซเชียลเน็ตเวิร์กได้เข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน จึงทำให้สังคมทุกวันนี้เรียกว่า “สังคมก้มหน้า” ซึ่งหมายถึงผู้คนโดยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ หรือถึงขั้นเรียกว่าหมกมุ่นก้มหน้าก้มตาและจดจ่ออยู่กับการเสพข่าวสาร การติดต่อ การพูดคุยกันผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น Line, WhatsApp, Twitter, Facebook, Instagram โดยใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือ ซึ่งทำให้มีการพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่อยู่รอบตัวน้อยลง จนกลายเป็นต่างคนต่างอยู่มากขึ้น

ซึ่งแน่นอนว่าถ้าให้สิ่งเหล่านี้มามีอิทธิพลกับเรามากจนเกินไปโดยที่เราไม่รู้จักควบคุมการใช้ให้ดี ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ก็อาจเกิดขึ้นได้

วันนี้เราลองมาเช็กกันดูว่าตัวเราเองหรือคนที่อยู่ใกล้ตัวเรานั้นอยู่ในข่ายที่เสพติดโซเชียลเน็ตเวิร์กมากเกินไปหรือเปล่า ดังนี้
1. ใช้เวลา 4 - 5 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นต่อวันในการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก
2. อยู่กับโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นสิ่งแรกตอนตื่นนอนและเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนที่จะนอน อีกทั้งมักจะต้องหยิบสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตขึ้นมาเช็คดูข้อความอยู่ทุกๆ 15 นาที
3. รู้สึกหงุดหงิดและกระวนกระวายมากถ้ามีเหตุที่ไม่ได้เข้าโซเชียลเน็ตเวิร์ก
4. ละเลยครอบครัวและคนใกล้ชิดในชีวิตจริงและชอบที่จะสร้างความสัมพันธ์ รวมถึงมีความสนิทสนมกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าเพื่อนในชีวิตจริง

หากตอนนี้พฤติกรรมของเราเข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายข้อใน 4 ข้อนี้ ถือว่าคุณเสพติดโซเชียลเน็ตเวิร์กแล้ว ซึ่งหมายถึงเราต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อแก้พฤติกรรมเสพติดโซเชียลเน็ตเวิร์ก ดังนี้
1. จำกัดเวลาการเข้าโซเชียลเน็ตเวิร์กในแต่ละวันว่าควรใช้วันละไม่เกินกี่ชั่วโมงและใช้ในเวลาใดที่จะไม่มีผลกระทบกับทั้งงาน ชีวิตครอบครัวและชีวิตส่วนตัว เช่น จะใช้เฉพาะในช่วงเวลาพักกลางวัน ช่วงหลังเลิกงาน หรือช่วงก่อนนอน โดยไม่ควรใช้ในเวลาติดต่อกันเกิน 30 นาที - 1 ชั่วโมง ในแต่ละครั้ง
2. อย่าใช้โซเชียลมีเดียหลายตัวเกินไป เพราะมีหลายคนที่เล่นทั้ง Line, Twitter, Facebook, Instagram และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งกว่าจะใช้ จะเล่น จะเช็ก ครบทุกอันก็หมดเปลืองเวลาไปมากทีเดียว ดังนั้น จึงอยากแนะนำให้คุณเลือกใช้แค่ช่องทางที่จำเป็นก็พอ อันไหนที่ไม่มีประโยชน์กับตัวหรือไม่ได้จำเป็นมากก็ลบออกไปจากสมาร์ทโฟนและแท็ปบเล็ตบ้างก็ดี เพื่อที่เราจะไม่ใช้เวลาในการอยู่กับโลกออนไลน์มากเกินไปเหมือนที่ผ่านมา
3. เพิ่มเวลาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวให้มากขึ้น เช่น พาคนในครอบครัวไปเที่ยว ไปดูหนัง ไปออกกำลังกาย ทำอาหารร่วมกัน ติดต่อ พบปะ พูดคุยกับเพื่อนในชีวิตจริงให้มากขึ้นกว่าเพื่อนในโลกออนไลน์ หรือหาสัตว์มาเลี้ยง เช่น สุนัข แมว ปลา หรือหางานอดิเรกที่ไม่ต้องใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กทำ เช่น อ่านหนังสือ ทำงานศิลปะ ปลูกต้นไม้ ทำขนม ซึ่งกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ก็สามารถช่วยทำให้เราได้ปลดปล่อยตัวเองออกจากการหมกมุ่นอยู่กับโลกโซเชี่ยลเน็ทเวิร์กไปได้เยอะเลยทีเดียว

สำหรับตัวผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่รู้ตัวเลยว่าเป็นคนที่ติดโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อได้วิเคราะห์ถึงอาการและวิธีแก้ไขดังที่เขียนไปแล้วนั้นก็เลยเอามาปรับใช้กับตัวเองด้วยเช่นกัน โดยการพยายามใช้เวลาอยู่กับแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนให้น้อยลงและหันไปทำกิจกรรมอื่นๆที่ไม่ต้องยุ่งกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เช่น จากที่เคยต้องเข้าไปดูนั่นอ่านนี่ในโลกออนไลน์จนดึกดื่นก็หันมาใช้เวลาในการวาดรูปและเล่นเปียโนแทน ก็รู้สึกว่าเป็นวิธีที่ช่วยทำให้ตัวเองไม่ต้องฝักใฝ่ในเรื่องของการเล่นแท็บเล็ตมากเท่าเดิมอีก

แท้จริงแล้วการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากมาย ทั้งในการติดต่อสื่อสารที่ไร้พรมแดนและการค้นคว้าหาความรู้ที่มีอย่างไม่จำกัด แต่หากคุณหมกมุ่นอยู่กับมันมากเกินไป นอกจากจะทำให้เสียการงาน เสียความสัมพันธ์อันดีกับคนใกล้ชิด เสียเวลาที่มีค่าไปอย่างเปล่าประโยชน์แล้ว ยังทำให้เสียสุขภาพ เพราะอาจทำให้เราเป็นโรคที่เกี่ยวกับสายตา ปวดต้นคอ ปวดไหล่ ปวดหัว ขึ้นได้ ดังนั้น เราต้องรู้จักระวังและควบคุมตัวเองที่จะไม่เสพติดโซเชียลเน็ตเวิร์กมากจนเกินไปจนมันกลายเป็นพิษในชีวิตของเรา 
แหล่งที่มา :
บทความโดย ดร.แพง ชินพงศ์
ASTVผู้จัดการออนไลน์
ขอบคุณแหล่งข้อมูลดีๆ http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/guidance/20855