สื่อการเรียนการสอนเพื่อการศึกษามีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งบทเรียนโปรแกรมแบบมัลติพอยท์ จึงถือเป็นบทเรียนอีกรูปแบบหนึ่งของสื่อเพื่อการศึกษา โดยบทเรียนโปรแกรมแบบมัลติพอยท์ เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนในห้องเรียน มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับบทเรียนพร้อมกันได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว กล่าวคือ ถ้าในห้องเรียนมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง แต่มีนักเรียนมากถึง 40 คน เข้ามาใช้งานร่วมกันพร้อมเรียนรู้อย่างสนุกสนาน
โรงเรียนอนุบาลเชียง ใหม่จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการเรียนรู้ใช้ระบบ ไอซีที อีกทั้งเพื่อเป็นการสนองนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ตระหนักถึงความสำคัญในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเรียนรู้ รวมทั้งยกระดับภูมิปัญญาและคุณภาพของหลักสูตรวิชาการศึกษาต่าง ๆ ให้สูงขึ้น โดยประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการความรู้ทุกแขนงเผยแพร่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถรองรับเนื้อหาที่เป็นดิจิทัล (Digital Content) ที่มีการนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบ เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ และสื่อมัลติมีเดียที่สถานศึกษาจัดทำขึ้น
โดยเฉพาะการเรียนรู้บทเรียนอาเซียน เนื่องจากในปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นการสร้างความตื่นตัวและให้ความรู้กับเยาวชนไทยให้เกิดความตระหนักถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้น
ครูลินลดา เชาว์มนัส ครูชำนาญการพิเศษวิชาภาษาไทย รร.อนุบาลเชียงใหม่ อธิบายว่า ครูได้จัดกิจกรรมอาสาพาเรียนรู้สู่อาเซียน โดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ ที่เป็นกระบวนพัฒนาการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนในห้องเรียนมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับบทเรียนพร้อมกันได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวคือ ถ้าในห้องเรียนมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง แต่มีนักเรียนมากถึง 40 คน เข้ามาใช้งานร่วมกัน การใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ จะสามารถรองรับเมาส์ของนักเรียนทั้ง 40 คน ได้พร้อมกัน แต่ละคนจะมีชื่อเรียกเมาส์ เช่น เด็กชาย ก. เด็กหญิง ข. เป็นต้น
ภาพสัญลักษณ์ของเมาส์นักเรียน จะปรากฏบนจอภาพหน้าห้องเรียน เมื่อครูให้นักเรียนตอบคำถาม นักเรียนแต่ละคนจะใช้เมาส์ของตนเองคลิกคำตอบที่ต้องการ ระบบซอฟต์แวร์จะประมวลผลว่า นักเรียนตอบถูกกี่คน ตอบผิดกี่คน ทำให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ สนุกคิด สนุกทำ ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจและกระตุ้นความสนใจได้เป็นอย่างดี ซึ่งการใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์สำหรับการเรียนรู้นั้นแตกต่างจากการใช้คอมพิวเตอร์ในโรงเรียนอื่น ๆ เนื่องจากนักเรียนมีเมาส์เป็นของตนเอง สามารถใช้งานเมาส์เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียนได้ทุกเมื่อทั้งสำหรับการเรียนและการเล่น ดังนั้นครูจึงต้องปรับบทบาทการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้จากการใช้เทคโนโลยีในการเรียนให้มากที่สุด
“นอกจากจะใช้บทเรียนโปรแกรมแบบมัลติพอยท์ในการจัดการเรียนรู้เรื่องอาเซียนแล้ว ยังได้สร้างหลักสูตรสาระการเรียนรู้เพิ่มเติมวิชาส่งเสริมนิสัยรักการอ่านในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นด้วย โดยบูรณาการเนื้อหาทักษะวิชาภาษาไทยในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการอ่าน ฟัง ดู พูด เขียน และใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ในการเรียนรู้ เกิดภาวะผู้นำผู้ตาม เสริมสร้างความสามัคคี
รู้จักการทำงานเป็นทีมใช้กระบวนการกลุ่มและสนุกกับการเรียนรู้อีกด้วย ขณะเดียวกันเมื่อถึงเวลาพักเที่ยงเด็กสามารถเลือกบทเรียนในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นการฝึกทำข้อสอบในวิชาต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และอาสาพาเรียนรู้สู่อาเซียน ซึ่งปัจจุบันนี้มีนักเรียนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวมากมาย ทำให้สถิติหนูน้อยนักอ่านในห้องสมุดเพิ่มขึ้นอย่างน่าชื่นใจ” ครูลินลดา กล่าว
บางครั้งเทคโนโลยีมัลติพอยท์ที่ใช้ต้นทุนเพียงน้อยนิดอาจเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้พร้อมการเติมเต็มภูมิปัญญาของเด็กไทยและเป็นคำตอบวิธีการแก้ปัญหาการศึกษาได้อีกแนวทางหนึ่ง.
อุทิตา รัตนภักดี
***************************************************************************แหล่งข้อมูล http://www.dailynews.co.th/Content/IT/147802/