- นักการศึกษาเผยผลสำรวจ...ชีวิตเด็กไทย ใช้ 1วันใน "สังคมก้มหน้า"..!
- ติดแหงกอยู่กับมือถือ 24 ชม. เช้าเช็คอิน-กดไลค์-เล่นไลน์ จนเข้านอน
- ร้อยละ 40 อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีมือถือ
- กระทบสัมพันธภาพครอบครัว
- เกิดภัยคุมคามทางเพศบนโซเชียลมีเดีย
- ระบุระบบการศึกษายิ่งย่ำแย่ กลายเป็นระบบการเรียน(ไม่)รู้ แบบcopy/paste คัดลอกข้อมูลมาแปะส่งงาน
- สะท้อนมีปริญญาแต่ไร้ปัญญา
- เตือน "รัฐ ใส่ใจการศึกษาอย่างจริงจัง พลเมืองคุณภาพต่ำห่วงอนาคตประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดเสวนาหัวข้อ "ทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคต" ซึ่งมีผู้บริหารสถานศึกษา นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาจำนวน 150 คนเข้าร่วม ที่โรงแรมปริ๊นพาเลซ มหานาค เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.56
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ถือเป็นองค์กรหลักขนาดใหญ่ ที่รับผิดชอบเด็กกว่า 7 ล้านคน และบุคลากรครูอีก 4 แสนคน ดังนั้นการขับเคลื่อนการศึกษา จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจถึงวิธีการและเป้าหมาย หากทำงานเป็นแบบต่างคนต่างทำ การศึกษาคงไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องมีการพลิกโฉมการศึกษาไทยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย ซึ่งอยากให้มีการดำเนินการตามนโยบายของ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการให้นำรูปแบบการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ ที่ประสบความสำเร็จไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ เพราะเชื่อว่าจะทำให้การศึกษาไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้นได้ขณะเดียวกัน จะทำอย่างไรให้การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้นลดเนื้อหาลง แต่เพิ่มการคิดวิเคราะห์ของเด็กให้มากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม เพราะขณะนี้ยังไม่มีการปฎิบัติที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องทำให้ขึ้นเป็นแนวปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีตัวชี้วัดว่าปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กกลับเพิ่มมากขึ้นเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า จากการประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุม ได้เสนอว่าควรมีการกระจายภาระการจัดการศึกษาให้สมดุลมากขึ้น ทั้ง สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และท้องถิ่น ควรมีการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของ สพฐ.จากหน่วยงานที่จัดการศึกษาเอง เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาการเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษา และควรมีการพัฒนาอบรมครูในเชิงสมรรถนะที่ความก้าวหน้าต้องควบคู่ไปกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก เพราะจะเห็นได้ว่าปัจจุบันครูมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานแต่ผลการเรียนของเด็กกลับย่ำอยู่กับที่
นายอมรวิชช์
นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน
(สสค.) กล่าวว่า สสค.ได้ทำการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กในหัวข้อ"1
วันในชีวิตเด็กไทย" เมื่อเดือน ม.ค.56 ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 3,058
คน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พบสิ่งที่น่าสนใจว่า
พฤติกรรมเด็กไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
และเปลี่ยนแปลงเร็วเกินกว่าที่ระบบการศึกษาไทยจะไล่ตามทัน
นายอมรวิชช์ กล่าวต่อว่า วงจรชีวิตของเด็กไทยใน 1 วัน จะเริ่มตื่นนอนตั้งแต่เวลา 06.18 น.
และเข้านอนในเวลา 22.21น. วันหยุดจะนอน 23.39น. เฉลี่ยเด็กไทยมีเวลานอนเฉลี่ย 7-8 ชั่วโมง
ถือว่าเด็กไทยมีเวลานอนไม่น้อยมาก ที่น่าสนใจพบว่า สิ่งแรกที่เด็กส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 51.1 ทำหลังตื่นนอน
คือ การเช็คโทรศัพท์มือถือ และสิ่งสุดท้ายที่เด็กร้อยละ 35 ทำก่อนนอน
คือ ใช้โทรศัพท์มือถือเล่นเฟซบุ๊ก และไลน์ (Line) ทั้งนี้
เพราะปัจจุบันเด็กไทยอยู่กับสื่อมากขึ้น ตัวเลขเด็กที่ใช้โทรศัพท์มือถือ พุ่งพรวด 2-3
เท่าใน 1 ปี
ทั้งนี้ เพราะในโทรศัพท์มือถือมีทุกสิ่งที่เด็กต้องการทั้งอินเตอร์เน็ต
เฟซบุ๊ก ไลน์ กล้องถ่ายรูป โดยเด็ก ร้อยละ 75.7 เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์คบ่อยถึงประจำ
ซึ่งนักเรียนหญิงจะเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์คมากกว่านักเรียนชาย และยังพบเด็กร้อยละ 20.3
ใช้มือถือระหว่างคาบเรียนบ่อยถึงประจำ เด็กร้อยละ 42.5 รู้สึกทนไม่ได้ถ้าอยู่คนเดียวโดยไม่มีโทรศัพท์ และเด็กร้อยละ 28.7 โดยเฉพาะเด็กชายระบุว่า
เคยถูกคุกคามทางเพศจากเพื่อนใหม่ที่รู้จักกันทางโซเชียลมีเดีย
นายอมรวิชช์ กล่าวต่อว่า
รูปแบบการใช้ชีวิตของเด็กไทยขณะนี้เปลี่ยนไปมาก ต่างตกอยู่ในภาวะที่ต้องการความรัก
ความใส่ใจจากครูมากขึ้น แต่เมื่อดูจากความเป็นจริงจะพบว่าระบบการศึกษาไทย
ทำให้ครูมีเวลาให้แก่เด็กน้อยลง
เพราะครูยุ่งอยู่กับภาระงานที่ไม่ใช่เรื่องการสอนค่อนข้างมาก
จึงทำให้เด็กขาดที่พึ่ง และออกไปเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ทั้งเรื่อง เพศ ความรุนแรง
อบายมุข และสื่อไม่ดี ทั้งที่เด็กไทยยังขาดทักษะชีวิตอีกมาก
เพราะครูมัวแต่สอนเรื่องวิชาการมากกว่า เด็กจึงเรียนรู้ด้วยระบบที่เรียนแบบไม่รู้
แบบ copy/paste หรือคัดลอกข้อมูลมาแปะส่งงาน
"จากการสำรวจข้อมูลเด็กไทย 3,000 กว่าคนทั่วประเทศ
เกี่ยวกับ 1 วันในชีวิตเด็กไทย พบว่า เด็กทำการบ้านด้วยการ copy/paste
ถึงร้อยละ 45.7 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอีกหน่อย
เราจะผลิตคนซึ่งเรียนแบบไม่รู้เยอะมาก และยังมีข้อมูลระบุด้วยว่า
เด็กที่เกิดปีเดียวกัน 8 แสนคน เรียนจบระดับอุดมศึกษาเพียง 2-3
แสนคนเท่านั้น ที่เหลือมีวุฒิแค่ ม.6 ม.3
หรือต่ำกว่านั้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการสอนที่เน้นแต่วิชาการมันตอบโจทย์เด็กแค่ 3 ใน 10 คนเท่านั้น
จึงถึงเวลาแล้วที่โจทย์การศึกษาต้องถูกยกระดับ
และเปลี่ยนไปเป็นโจทย์เพื่อการมีชีวิตและการมีงานทำ
ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น
จะปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำเพียงลำพังไม่ได้
และไม่ควรปล่อยให้การศึกษาไทย เป็นเหมือนกบอยู่ในหม้อน้ำร้อน
เพราะเรามีอนาคตประเทศชาติเป็นสิ่งเดิมพัน ถ้าผลิตคนออกมาทั้งระบบ เป็นคนที่ไม่รู้
มีแต่ใบปริญญาไม่มีปัญญา ประเทศชาติจะอยู่ไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเลิกการทะเลาะและวิจารณ์กัน
ควรช่วยกันและขยายผลสิ่งที่ประสบความสำเร็จไปในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป"
นายอมรวิชช์ กล่าว
ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์สยามรัฐ