Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความรู้สำหรับครู : การเลือกหนังสือใส่ "ตระกร้าเสริมปัญญา"





หนังสือใส่ตะกร้าสำหรับเด็ก เยาวชน หรือประชาชนทั่วไปได้อ่านนั้น ส่วนมากจะมุ่งเน้นความบันเทิงเป็นหลัก ความรู้เป็นส่วนเสริมประกอบ ถ้าเป็นประชาชนอาจเน้นข่าวและเหตุการณ์ ดังนั้นการเลือกหนังสือใส่ตะกร้าจึงควรให้นักเรียนเป็นผู้เลือก เป็นผู้ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นนิทาน เรื่องลึกลับ ผจญภัยโดยมีภาพประกอบ มีสีสันน่าสนใจ ส่วนมากที่นักเรียนจะเลือก ได้แก่ หนังสือการ์ตูน วารสาร นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ หนังสือที่เลือกใส่ตะกร้าส่วนมากจะมีขนาดพอดีกับตะกร้า ไม่ใหญ่กว่าตะกร้ามากเกินไป และหนังสือที่เลือกใส่ตะกร้าแต่ละเล่มก็ไม่ควรเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระมาก ใช้เวลาในการอ่านมากเกินไป

สถานที่จัดไว้สำหรับตะกร้านั้น ควรเป็นสถานที่ได้จัดไว้เฉพาะการอ่านชั่วคราวเท่านั้น เช่น ใต้ต้นไม้ สนามเด็กเล่น ใต้ซุ้มไม้เลื้อย โต๊ะม้าหินอ่อน หน้าระเบียง ศาลาไทย อาคารอเนกประสงค์ สวนหย่อม สวนไม้ดอก และสวนเกษตร เป็นต้น ซึ่งเป็นสถานที่ปลอดภัย ไม่อยู่ใต้ต้นไม้ที่มีกิ่งแห้ง เพราะจะทำให้กิ่งแห้งตกลงมา จะทำให้ได้รับอันตรายได้ และไม่ควรอยู่ใกล้สิ่งก่อสร้าง เพราะจะทำให้ได้รับอันตรายจากอุปกรณ์วัสดุสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ตกหล่นลงมา ทำให้ได้รับอันตรายได้

ระยะเวลาที่จัดกิจกรรมตะกร้าความรู้ ถ้าเป็นในโรงเรียนส่วนมากจะนิยมจัดช่วงเช้าก่อนโรงเรียนเข้า ช่วงกลางวัน หลังรับประทานอาหารกลางวัน และช่วงบ่าย ก่อนโรงเรียนเลิกเรียน เป็นต้น

ถ้าหากจะจัดนอกโรงเรียน ซึ่งจัดเพื่อให้ประชาชนได้อ่าน ส่วนมากโรงเรียนนิยมจัดตะกร้าความรู้ให้อ่านในช่วงเย็นของเปิดเรียน โดยให้อาสาสมัครหิ้วตะกร้าหนังสือตอนช่วงโรงเรียนเลิกเรียนทุกวัน ถ้าเป็นวันเสาร์ วันอาทิตย์ อาสาสมัครก็จะหิ้วตะกร้านำไปทุกเย็นวันศุกร์ ซึ่งอาจจะเป็นศาลากลางหมู่บ้านใต้ต้นไม้ใหญ่ใกล้ชุมชน ตลาดในชุมชน วัด หรือศาลาอ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน เป็นต้น ประการสำคัญ หนังสือที่คัดเลือกใส่ตะกร้านั้นควรสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดการอ่านเรื่องที่ซ้ำจำเจ ซึ่งจะทำให้เบื่อหน่าย ไม่สนใจการอ่าน