Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตัวอย่างงานวิจัย : กิจกรรมส่งเสริมการอ่านในโรงเรียน

ตัวอย่างงานวิจัยของ อ.วัชราภรณ์ วัตรสุข




ผู้เขียนได้ศึกษาและนำเสนอกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 –6 เพื่อให้ครูได้ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ให้สอดคล้องกับสภาพของโรงเรียนและท้องถิ่น โดยได้นำเสนอกิจกรรม จำนวน 15 กิจกรรม

กิจกรรมที่ 1 ตะกร้าหาความรู้
กิจกรรมที่ 2 เรียนรู้สู่สารานุกรมไทย
กิจกรรมที่ 3 ตอบถามได้ฉับไว
กิจกรรมที่ 4 ออกเสียงให้ได้ชัดเจน
กิจกรรมที่ 5 พี่สอนน้องให้อ่าน
กิจกรรมที่ 6 แนะนำสารหนังสือเป็น
กิจกรรมที่ 7 อ่านตั้งใจฟังเน้น
กิจกรรมที่ 8 การละเล่นเล่านิทาน
กิจกรรมที่ 9 สนุกสนานโต้วาที
กิจกรรมที่ 10 นำสิ่งดีจัดนิทรรศการ
กิจกรรมที่ 11 รวมใจค่ายนักอ่าน
กิจกรรมที่ 12 แสนเบิกบานละครหุ่น
กิจกรรมที่ 13 เพิ่มพูนความรู้สู่ล้านนา
กิจกรรมที่ 14 สุขหรรษาการเล่าเรื่อง
กิจกรรมที่ 15 ฉลาดปราดเปรื่องยอดนักอ่าน





กิจกรรมที่ 1 ตะกร้าหาความรู้

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้นักเรียนประชาสัมพันธ์กิจกรรมตะกร้าความรู้ โดยกำหนดเวลา หนังสือ และสถานที่ได้เหมาะสม
2. เพื่อให้นักเรียนทำแบบบันทึกรายชื่อผู้มาใช้บริการได้
3. เพื่อให้นักเรียนได้อ่านหนังสือที่ตนเองสนใจ
4. เพื่อให้นักเรียนกล้าแสดงออกในการสมัครเป็นอาสาสมัคร
5. เพื่อให้นักเรียนรวบรวมผู้มาใช้บริการได้
6. เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่นักเรียน

สื่อวัสดุและอุปกรณ์
1. หนังสือประเภทต่าง ๆ เช่น นิทาน, การ์ตูน, หนังสือภาพสำหรับเด็ก,หนังสือสารคดี เป็นต้น
2. ตะกร้าสำหรับใส่หนังสือประเภทต่าง ๆ
3. นักเรียนอาสาสมัคร
4. ใบความรู้สำหรับครู เรื่อง การเลือกหนังสือใส่ตะกร้า
5. แบบบันทึกรายชื่อผู้มาใช้บริการ


ขั้นตอนการจัดกิจกรรม

1. ประชาสัมพันธ์กิจกรรมตะกร้าความรู้ให้นักเรียนทุกคนทราบ พร้อมทั้งประกาศรับสมัครนักเรียนเพื่อเป็นอาสาสมัคร ประมาณ 5 – 10 คน (แล้วแต่จำนวนนักเรียน 1 จุดต่อนักเรียนประมาณ 30 คน)
2. ประชุมอาสาสมัครโดยชี้แจงรายละเอียดของกิจกรรมตะกร้าความรู้แล้วร่วมกันกำหนดระยะเวลาที่จะบริการหนังสือในตะกร้า เช่น ช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน และกำหนดประเภทของหนังสือ จำนวนหนังสือที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปจนยกไม่ขึ้น และทำให้ตะกร้าชำรุด หรือน้อยเกินไปจนไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน นอกจากนั้นควรกำหนดสถานที่บริการ ซึ่งควรเน้นสถานที่ปลอดภัย ไม่อยู่ใกล้ถนน ใต้ต้นไม้ที่มีกิ่งไม้แห้ง ไม่อยู่ใกล้สิ่งก่อสร้าง เป็นต้น แต่ควรอยู่ในที่ร่ม มีความปลอดภัย ไม่เสียงดัง เช่น ใต้ต้นไม้ใหญ่ หน้าระเบียง อาคารอเนกประสงค์ ลานกีฬาในร่ม ศาลาไทย เป็นต้น
3. ร่วมกันจัดทำแบบบันทึกรายการชื่อผู้มาใช้บริการ (ท้ายกิจกรรม)
4. การดำเนินการนักเรียนที่เป็นอาสาสมัคร คัดเลือกหนังสือใส่ในตะกร้า พร้อมทั้งเตรียมปากกา แบบบันทึกรายชื่อผู้มาใช้บริการหิ้วตะกร้าไปที่สถานที่ต่าง ๆ ที่มีผู้คอยขอรับบริการ ซึ่งเป็นสถานที่ปลอดภัย (ไม่จำเป็นต้องไปซ้ำสถานที่เดิม อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุการณ์)นักเรียนอาสาสมัครควรประชาสัมพันธ์ และเชิญชวนให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ มาอ่านหนังสือ โดยอาจจะให้สัญญาณ เช่น เป่านกหวีด เป่าแตร เป่าของเล่นอะไรก็ได้ เพื่อเป็นสัญญาณเริ่มต้นและสิ้นสุดของกิจกรรม หรือโรงเรียนอาจจะเปิดเพลงประมาณ 10 – 30 นาที เพื่อให้ทุกคนอื่นหนังสือตามที่ต้องการก่อนที่จะอ่าน อาสาสมัครควรเขียนชื่อผู้ที่มาใช้บริการเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการจัดตะกร้า และหาแนวทางในการปรับปรุงให้ดีขึ้นเมื่อหมดเวลา อาสาสมัครก็รวบรวมและเก็บหนังสือใส่ตะกร้านำส่งห้องสมุด พร้อมแบบบันทึกรายชื่อผู้มาใช้บริการ
5. ครูบรรณารักษ์คอยสอบถามอาสาสมัครเกี่ยวกับเหตุการณ์จากอาสาสมัครทุกวัน เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนากิจกรรมการอ่านต่อไป
6. เมื่อสิ้นภาคเรียน หรือสิ้นปีการศึกษา ก็รวบรวมรายชื่อผู้มาใช้บริการ ถ้าชื่อใดมีมากที่สุด จะมีเกียรติบัตรมอบให้


การวัดผลและประเมินผล
1. สังเกต ความกล้าแสดงออกในการสมัครเป็นอาสาสมัคร, การเลือกอ่านหนังสือที่นักเรียนสนใจ,การประชาสัมพันธ์ เชิญชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ให้มาอ่านหนังสือ, การสนใจอ่านหนังสือของนักเรียน
2. ตรวจผลงาน ได้แก่ แบบบันทึกรายชื่อผู้มาใช้บริการรายวัน, รายชื่อที่รวบรวมมาจากผู้ใช้บริการรายภาคเรียน หรือรายปี