Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

การอ่านมีความสำคัญต่อการศึกษาและการดำรงชีวิต ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนควรจะได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านมีนิสัยรักการอ่าน เห็นความสำคัญของการอ่าน มีความสามารถ ในการอ่าน และรู้จักแสวงหาความรู้และประสบการณ์จากการอ่านด้วยตนเองจนเป็นนิสัย


ความหมายของกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน คือ การกระตุ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านสนใจการอ่านจนกระทั่งมีนิสัยรักการอ่าน และได้พัฒนาการอ่านจนกระทั่งมีความสามารถ ในการอ่าน นำประโยชน์จากการอ่านไปใช้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการอ่าoทุกประเภท(กรมวิชาการ,2539หน้า14)ได้ความหมายว่า กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน คือ การกระทำเพื่อ..

ก. เร้าใจบุคคล “หรือบุคคลที่เป็นเป้าหมาย ให้เกิดความอยากรู้อยากอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือที่มีคุณภาพ”

ข. เพื่อแนะนำชักชวนให้เกิดความพยายามที่จะอ่านให้แตกฉาน สามารถนำความรู้จากหนังสือไปใช้ประโยชน์ เกิดความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ดีขึ้น

ค. เพื่อกระตุ้น แนะนำให้อยากรู้ อยากอ่านหนังสือหลายอย่างเปิดความคิดให้กว้าง ให้มีการอ่านต่อเนื่องจนเป็นนิสัย พัฒนาการอ่านจนถึงขึ้นที่สามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์เรื่องที่อ่านได้

ง. เพื่อสร้างบรรยากาศที่จูงใจให้อ่าน



ลักษณะสำคัญของกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ดี


1. เร้าความสนใจ เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง เราใจให้ลูกอยากอ่านโดยการ อ่านหนังสือให้ฟัง เล่าเรื่องหนังสือ เป็นต้น ครู และบรรณารักษ์เร้าใจอยากให้ นักเรียนอ่าน นักเรียนเร้าใจเพื่อน ๆ ให้อยากอ่านหนังสือ นอกจากนั้น การใช้สื่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ซีดี - รอม (CD–ROM) มัลติมีเดีย มีทั้งเสียง สี รูปภาพจะเร้าความสนใจผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง

2. จูงใจให้ผู้อ่านอยากอ่าน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ และบรรณารักษ์ ที่ได้อ่านหนังสือที่ดี จะต้องจูงใจให้ผู้อ่านอยากอ่านด้วยการทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านต่าง ๆ ทั้งการพูด แนะนำ เล่าตอนที่สนใจให้ฟัง ตลอดจนอ่านเรื่องราวที่สนุกและ น่าประทับใจ อ่านบทกลอนตอนที่ไพเราะให้ฟัง

3. กระตุ้นให้อยากอ่าน กระตุ้นให้อยากรู้อยากเห็น อยากรู้เรื่องราวในหนังสือในตอนต่อไป อยากรู้ข่าวสารต่าง ๆ อยากอ่านเรื่องราวที่อยู่ในความสนใจ เช่น ข่าวบุคคล ข่าวสงคราม ข่าวการเมือง

4. พัฒนาการอ่านของผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านมีความสามารถในการอ่าน และรู้จักนำความรู้จากการอ่านไปใช้ประโยชน์ให้เกิดกับตนเองและผู้อื่นได้

5. สนุกสนาน ตื่นเต้น เพลิดเพลิน และมีสาระแฝงอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งเป็น การสอนทางอ้อม เช่น คติธรรม มโนธรรม จริยธรรม อุปนิสัย เป็นต้น

6. ไม่ใช้เวลานานเกินไป จะทำให้ผู้อ่านเบื่อหน่าย เวลาที่ใช้ทำกิจกรรมเหมาะสมกับความสนใจของผู้อ่านแต่ละเพศ แต่ละลัย แต่ละอาชีพ

7. เนื้อหาและวิธีการไม่ยากและสลับซับซ้อนจนเกินไป จัดกิจกรรมส่งเสริม การอ่านให้เหมาะสมกับเพศ วัย และระดับความรู้ของผู้อ่านกลุ่มเป้าหมาย

8. เป็นกิจกรรมที่ให้ทุกคนในกลุ่มได้มีส่วนร่วมกิจกรรม เช่น การเล่านิทาน การแสดงละคร การแสดงละครหุ่น การสนทนาเกี่ยวกับหนังสือ การโต้วาที การแข่งขันตอบปัญหา เป็นต้น

9. เป็นกิจกรรมที่ประหยัด ใช้วัสดุที่หาง่ายและราคาถูก

10. เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้แก่ผู้อ่าน เช่น ผู้อ่านเข้าร่วมกิจกรรมแล้วนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ เช่น เป็นนักเรียน นักแสดง ฯลฯ

11. เป็นกิจกรรมที่มุ่งไปสู่หนังสือ วัสดุการอ่าน หรือสื่อการอ่านทั้งสิ้น แม้แต่การจัดนิทรรศการเรื่องต่าง ๆ ที่จะต้องมีหนังสือ เอกสาร หนังสือการอ่าน นำมาแสดงด้วยทุกครั้ง

12. เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กสนุกสนาน เพลิดเพลิน เป็นการเรียนรู้ ถึงแม้จะอ่านหนังสือยังไม่ได้ เป็นการพัฒนาการพูดและพัฒนากล้ามเนื้อให้แข็งแรง และฝึกความพร้อม เช่น การเล่นของเล่นต่าง ๆ ทำให้ผู้เล่นถึงแม้จะอ่านไม่ออก แต่ก็ได้เรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัส

นอกจากนั้น การเล่นเกมและกิจกรรมต่าง ๆ ยังให้ความรู้ในเรื่องของภาษาและความรู้อื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การเล่นขายของ การเล่นขายข้าวแกง การเล่นขายของในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น



คุณสมบัติที่ดีของผู้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ผู้ที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ดี ควรมีคุณสมบัติดังนี้

1. มีนิสัยรักการอ่าน
2. รักเด็ก
3. มีมนุษยสัมพันธ์ดี พูดจาไพเราะ สุภาพ กิริยามารยาทดี
4. มีนิสัยชอบจดบันทึกสิ่งที่อ่าน
5. ช่างสังเกต เช่น สังเกตเด็ก สังเกตผู้ที่ได้พบปะพูดคุยสนทนา และรู้จักนำเอาสิ่งที่พบเห็นมาใช้
6. ช่างจำ
7. พูดเก่ง พูดคล่อง ถูกต้อง ชัดเจน พูดจาไพเราะ อ่อนหวาน จริงใจ สุภาพ และชอบเล่า มีอารมณ์ขัน มีวิธีการเล่าที่สนุกไม่ไร้สาระ
8. กล้าพูดกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ มีบทบาทของนักแสดง
9. ไม่เป็นคนตกใจง่าย ไม่เก้อเขิน และขี้อายจนเกินไป สามารถระงับอารมณ์ตนเองได้
10. มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ สามารถโยงเรื่องที่กำลังทำกิจกรรมเข้าสู่เหตุการณ์ปัจจุบันได้ ดัดแปลงเรื่องเก่ง รู้จักทำอุปกรณ์ที่น่าสนใจ
11. มีความสามารถ เป็นทั้งนักเรียน นักวาดรูป นักร้อง ทำเสียงต่าง ๆ
12. เป็นคนตรงต่อเวลา ทั้งในการนัดหมายเวลาในตาราง และเวลาในการแสดง
13. มีความรับผิดชอบในการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านทุกครั้ง
14. มีจิตใจที่แน่วแน่ มั่นคง มีการตัดสินใจที่ดี เชื่อมั่นในตนเอง ไม่เป็นคนโลเล เป็นคนสุขุม
15. เป็นคนมีเมตตากรุณา มีศีลธรรมจรรยา มีจิตใจอ่อนโยน
16. เป็นคนมีระเบียบวินัย จัดเก็บของอย่างมีระเบียบเรียบร้อย
17. เป็นคนที่สามารถยืดหยุ่นได้ถ้ามีความจำเป็น ไม่เป็นคนที่ดื้อรั้นเอาแต่ใจตนเอง
18. เป็นคนมีความคิดกว้างไกล จากการมีประสบการณ์จากการอ่านและการฟัง
19. ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ไม่โกรธง่าย ไม่ก้าวร้าว มีเหตุผล รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
20. เป็นคนมีบุคลิกดี การแต่งกายสะอาด สุภาพ ถูกกาลเทศะ
21. ออกเสียงตัวสะกดการันต์ ชัดเจน ถูกต้อง มีน้ำเสียงที่ชวนฟัง
22. มีความยุติธรรม
23. มีเวลาและพยายามอุทิศเวลาในการทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
24. เห็นความสำคัญของการอ่านและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
25. มีความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาการศึกษา และจิตวิทยาการอ่าน และรู้จักเลือกกิจกรรมที่เหมาะกับผู้อ่านวัยต่าง ๆ


การเตรียมตัวจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

1. อ่านหนังสือเป็นประจำ ตลอดจนอ่านบทวิจัยเกี่ยวกับการอ่านทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ

2. เตรียมอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องที่จะทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่น จะทำกิจกรรมการเล่านิทานก็ต้องอ่านเกี่ยวกับวิธีการ เล่านิทาน และนิทานเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนเกร็ดความรู้ต่าง ๆ การประดิษฐ์หุ่น และ การแสดงละครหุ่น เป็นต้น

3. พ่อแม่เตรียมอ่านหนังสือจิตวิทยาเกี่ยวกับเด็ก การเลี้ยงดูเด็ก พัฒนาการของเด็กในครรภ์ การปฏิบัติตัวของมารดาขณะตั้งครรภ์ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การไปพบแพทย์ หนังสือสำหรับเด็ก เป็นต้น

4. พ่อแม่เตรียมเสื้อผ้า อาหาร ของเล่น หนังสือเด็ก (ถึงแม้เด็กเล็กจะอ่านไม่ออก)

5. ฝึกซ้อมการทำกิจกรรมแต่ละเรื่องก่อนไปทำกิจกรรมจริงกับเด็ก

6. บันทึกเรื่องที่อ่าน ที่น่าสนใจไว้

7. สะสมเก็บรวบรวมหนังสือ รูปภาพ อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำกิจกรรมเก็บไว้เป็นชุด ๆ

8. เตรียมและทำอุปกรณ์ เช่น ตัวหุ่นต่าง ๆ วาดรูปฉาก จัดทำโรงหุ่น หนังสือ เสื้อผ้า ดนตรี เครื่องเสียง เป็นต้น

9. แต่งเรื่องและเขียนบท เขียนเองหรือนำมาจากที่อื่น แต่ต้องบอกแหล่งที่มาด้วย

10. เตรียมดนตรี เลือกดนตรีบันทึกในแถบบันทึกเสียง

11. ถ้าเป็นกิจกรรมที่ต้องให้เด็กร่วมแสดงเป็นกลุ่ม ต้องเตรียมเด็กแบ่งเป็นกลุ่ม
ตามความสามารถ และซ้อมก่อนแสดงจริง เช่น จะต้องมีวิธีกร คนบรรยาย คนเปลี่ยนฉาก คนเชิดหุ่น คนทำหุ่น เป็นต้น

12. การเตรียมตัวประชาสัมพันธ์ก่อนล่วงหน้า จัดวัน เวลาให้พร้อมก่อนการแสดงอย่างน้อย 1 สัปดาห์ การติดป้ายให้เด่นชัดเจน ให้ทุกคนได้มองเห็น

13. เตรียมอุปกรณ์ให้เด็กทำกิจกรรมตอนท้าย เช่น วาดรูป ต้องมีกระดาษ
ดินสอสีให้ครบทุกคน

14. หาข้อมูลผู้อ่านกลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับประเภทของกิจกรรม และหนังสือที่ชอบอ่านก่อนทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เพื่อจะได้ทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้ ตรงกับความสนใจ และความต้องการ ตลอดจนหนังสือที่ชอบอ่านการทำวิจัย โดยการศึกษาค้นคว้าจากการตอบแบบสอบถาม หรือการสัมภาษณ์การสำรวจความคิดเห็น จากการสอบถามหรือการสัมภาษณ์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับเด็ก ๆ เพียงแต่ถามเด็ก ๆ ก่อนว่า ต้องการให้ทำกิจกรรมอะไร แล้วจึงทำกิจกรรมที่เด็กชอบ

15. เตรียมแบบประเมินผล เมื่อทำกิจกรรมการอ่านเสร็จทุกครั้งควรมีการประเมินผลเพื่อจะได้ทราบว่า การจัดกิจกรรมจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงไร มีข้อบกพร่องต้องแก้ไขอย่างไรบ้าง การประเมินผลอาจจะทำในรูปแบบของแบบฝึกหัด หรือแบบสอบถาม หรือสัมภาษณ์

รูปแบบของการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน จัดได้หลายรูปแบบ ดังนี้

1. การเล่านิทาน คือ การเล่าเรื่องที่มีผู้เล่าสืบกันมา หรือเล่าเรื่องจากหนังสือนิทานที่มีผู้แต่งขึ้นมา ได้แก่การเล่านิทานในห้องสมุด
การแข่งขันการเล่านิทาน

2. การเสนอหนังสือ หรือวัสดุการอ่าน และสื่อการอ่านต่าง ๆ คือการแนะนำ
ทรัพยากรสารนิเทศที่น่าสนใจให้กับผู้อ่าน เพื่อดึงดูดความสนใจให้อยากอ่านนั่นเอง ได้แก่
การเล่าเรื่องหนังสือ
การแนะนำหนังสือ
การอ่านหนังสือให้ฟัง
การสนทนาเกี่ยวกับหนังสือ
การอภิปรายเกี่ยวกับหนังสือ
การบรรยายเกี่ยวกับหนังสือ
การโต้วาทีเกี่ยวกับหนังสือ
การจัดทำรายชื่อทรัพยากรสารนิเทศ และการทำบรรณนิทัศน์
การจัดนิทรรศการ

3. การแสดงนาฎกรรมและอื่น ๆ
การแสดงละคร
การแสดงจินตลีลา
การร้องเพลง
การแสดงละครใบ้
การแสดงละครหุ่น

4. การทำกฤตภาค คือ การตัดปะ ข่าว บทความ รูปภาพ หรือทั้งรูปภาพ
และเรื่องที่น่าสนใจเพื่อบริการผู้อ่าน ได้แก่
การจัดทำกฤตภาคเป็นเล่ม
การทำกฤตภาคข่าวติดไว้ที่ป้ายนิทรรศการด้านหลังห้องเรียนทุกวัน
5. การแข่งขันต่าง ๆ จากการอ่าน คือ การแสดงความสามารถในการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
การแข่งขันเปิดพจนานุกรมทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ แข่งขันตอบปัญหาจากหนังสือ เช่น แข่งขันตอบปัญหาหนังสือสารานุกรมสำหรับเยาวชน แข่งขันตอบปัญหาสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นต้น
การแข่งขันโต้วาที
การแข่งขันการตอบปัญหาทั่ว ๆ ไป
การแข่งขันตอบปัญหาสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น ปัญหาวิทยาศาสตร์ กฎหมาย เป็นต้น
6. การประกวดเกี่ยวกับการอ่าน
ประกวดการอ่านร้อยแก้ว และร้อยกรอง
ประกวดการอ่านทำนองเสนาะ
ประกวดการอ่านบทสนทนา
ประกวดการอ่านบทละคร
ประกวดการอ่านข่าว
7. การเล่นเกมที่นำไปสู่การอ่าน ได้แก่
เกมของเล่นต่าง ๆ และเกมคอมพิวเตอร์
เกมการวาดภาพ
เกมเติมคำศัพท์
เกมค้นหาคำ
เกมทายปัญหา
เกมต่อคำพังเพย
เกมการละเล่นต่าง ๆ
เกมพับกระดาษ
เกมประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ
8. การจัดทำโครงการกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
โครงการสัปดาห์ห้องสมุด
โครงการยอดนักอ่าน
โครงการอ่านหนังสือให้ฟัง
โครงการแนะนำหนังสือ
โครงการเสนอหนังสือในรูปแบบต่าง ๆ
โครงการหนังสือดีที่น่าอ่าน
โครงการหนังสือใหม่ในวันนี้
โครงการหนังสือสู่ชนบท
โครงการหนังสือคือเพื่อนคู่คิด
โครงการยอดนักอ่านระดับประถมศึกษา
โครงการยอดนักอ่านระดับมัธยมศึกษา
โครงการยอดนักอ่านระดับประชาชน
โครงการจัดนิทรรศการ
โครงการประกวดการเล่านิทาน
โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม
โครงการประกวดการเล่านิทาน
โครงการประกวดเรื่องสั้นสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม
โครงการประกวดการอ่านสุนทรพจน์
โครงการจัดตั้งห้องสมุดในชนบท
โครงการทอดผ้าป่าหนังสือ

โครงการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์
โครงการประกวดการเขียนเรียงความ
โครงการประกวดคำขวัญห้องสมุด
โครงการปัญหาพาสนุกจากการอ่าน
โครงการแสดงละคร
โครงการอ่านตามสาย
โครงการแสดงละครหุ่น
โครงการละครใบ้
โครงการพี่เล่าให้น้องฟัง
โครงการจัดตั้งชมรมนักอ่าน
โครงการออกค่ายนักอ่าน
โครงการเยาวชนพบนักเขียน
โครงการอ่านนิทานภาษาอังกฤษ
ฯลฯ

จากรูปแบบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเป็นกิจกรรม ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้หนังสือ ดังนั้น เพื่อให้นักเรียนใช้หนังสือได้อย่างถูกต้อง และเป็นการรักษาหนังสือให้อยู่ได้นาน ครูจึงควรแนะนำการใช้หนังสือให้ถูกต้อง ได้แก่ ไม่พับมุมหนังสือเมื่ออ่านยังไม่จบ ไม่ใช้ที่คั่นหนังสือหนา ๆ คั่นหนังสือ ไม่เปิดหนังสือแล้วคว่ำหน้าลง ควรเปิดหนังสือให้ถูกวิธี เมื่ออ่านหนังสือเสร็จแล้วให้เก็บไว้ ที่เดิม ให้ใช้หนังสืออย่างทะนุถนอม ไม่ขีดเขียนหนังสือให้เลอะเทอะ ควรมีที่คั่นหนังสือไว้คั่นหนังสือ และควรจัดหนังสือให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ เป็นต้น


นอกจากนี้ การวัดผลการมีนิสัยรักการอ่าน ซึ่งเป็นการวัดพฤติกรรมด้าน จิตพิสัย หรือด้านเจตคติ วิธีวัดผลที่วัดได้ตรงที่สุด คือ การสังเกต โดยใช้แบบสังเกตพฤติกรรม ซึ่งจะทำให้นักเรียนไม่รู้ตัวว่าถูกวัด จึงเป็นพฤติกรรมที่แท้จริงของนักเรียน ซึ่งอาจสังเกตได้ทั้งสถานการณ์จริง และสังเกตจากสถานการณ์ที่จัดขึ้น การสังเกตพฤติกรรมการมีนิสัยรักการอ่าน ควรสังเกตจากความกระตือรือร้นที่จะขออ่านหรือให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง อ่านหนังสือเมื่อมีเวลาว่าง มีสีหน้าแสดงความพอใจ มีความสุข นำเรื่องที่อ่านมาซักถามแสดงความคิดเห็น หรือมาคุยให้เพื่อนฟัง อ่านหนังสือในห้องสมุด หรือมุมหนังสือเป็นประจำ ชักชวนเพื่อน ๆ ให้อ่านหนังสือ และมีสมาธิ ในการอ่าน เป็นต้น