การประชุมเสวนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่สูง ที่เชียงราย
อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย -
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเสวนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่สูงและชายแดน ประจำปีงบประมาณ 2558-2561 โดยมี ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พลเอกวิชิต ศาทรานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ศธ. ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงราย เขต 1-3 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 36 ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และนักเรียน เข้าร่วมกว่า 100 คน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2557 ที่ห้องประชุมโรงแรมดอยหมอกดอกไม้รีสอร์ท พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี ตั้งแต่เวลา 10.05-11.00 น.
ดร.กมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมเสวนาในครั้งนี้ว่า เพื่อรับฟังความเห็น มุมมอง ข้อเสนอแนะ ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่สูงและชายแดน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่สูงและชายแดน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558-2561 ซึ่งหวังว่าผลการประชุมเสวนาในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดแผนยุทธศาสตร์และข้อมูลสารสนเทศที่เป็นปัจจุบัน ทันสมัย ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และสามารถนำไปใช้พัฒนาการจัดการศึกษาโรงเรียนในเขตพื้นที่สูงและชายแดน ตลอดจนช่วยให้การดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาต่อไป
รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ.มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาและกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ให้เป็นนโยบายในภาพรวม และจากการรายงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หลายเรื่อง เช่น เด็กตกหล่น เด็กออกกลางคัน ซึ่งมีจำนวนมากนั้น ประเทศไทยต้องให้ความสนใจและความสำคัญกับสัญญาอนุสัญญาระหว่างประเทศ ปฏิญญาจอมเทียนในเรื่องการศึกษาเพื่อทุกคน (Education for All) ซึ่งเป็นเรื่องในภาพรวมด้วย
ในส่วนของการศึกษาในพื้นที่สูง ชายขอบ และชายแดน จะมีเรื่องที่มีลักษณะเฉพาะจำนวนมาก ตามสภาพของภูมิประเทศ ความลำบาก ทุรกันดาร ความขาดแคลนในทุกๆ ด้าน และที่สำคัญคือ ความมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งพบว่าเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมนี้ยังเป็นเอกลักษณ์ที่หลากหลาย อยู่ร่วมกันของคนหลากหลายวัฒนธรรมก็มี อยู่ร่วมกันจำนวนมากของผู้ที่มีวัฒนธรรมและภาษาร่วมกันก็มี ฉะนั้นในลักษณะพิเศษอย่างนี้ จะดูแลผู้ที่อยู่ในพื้นที่ลักษณะนี้ให้มีโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกันได้อย่างไร ส่งเสริมให้มีการพัฒนาอย่างสอดคล้องกับศักยภาพได้อย่างไร
จากการเดินทางไปเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในพื้นที่สูงและได้รับฟังความคิดเห็นบางส่วน ทำให้เห็นว่าเรื่องที่ควรให้ความสนใจมีหลายประเด็น ที่สำคัญคือ เรื่องของลักษณะพิเศษของสังคม ประชาชน และชุมชน รวมทั้งต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศที่มาเกี่ยวข้อง ของประเทศเพื่อนบ้าน และเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ๆ ที่มีบทบาทต่อภูมิภาคนี้ ทำให้แนวความคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาชนของไทย ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น เราอาจจะเคยมองปัญหาเด็กเยาวชน ประชาชน ที่เป็นภาระของหลายฝ่ายที่ต้องดูแล แต่ปัจจุบันอาจจะมองว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สามารถพัฒนาได้ และนำมาช่วยพัฒนาประเทศได้ ซึ่งในเรื่องเหล่านี้จะเสวนาในรายละเอียดต่อไป
ส่วนประเด็นที่จะต้องให้ความสนใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ การสอนภาษาไทยสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ แม้จะมีองค์ความรู้อยู่บ้างแล้วก็ตาม แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้ได้ผล เพราะการเรียนวิชาต่างๆ ต้องใช้ภาษาไทยเป็นหลัก แต่หากเราสอนภาษาไทยไม่ได้ดีตั้งแต่ต้น หรือตลอดทาง การจะให้เด็กได้เรียนรู้วิชาต่างๆ ได้ดีก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา การร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ กับภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชนเข้ามาช่วยเหลือกัน การดูแลอุดหนุนและให้การสนับสนุนโรงเรียนอย่างเหมาะสม เพื่อให้โรงเรียนเล็กๆ โรงเรียนในที่ลำบาก สามารถได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น มากกว่าการจะพึ่งพาอาศัยเฉพาะเงินอุดหนุนรายหัว ภายหลังพิธีเปิด รมว.ศธ.และคณะผู้บริหาร ได้ชมนิทรรศการความก้าวหน้าของสถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ที่จัดการศึกษา ในเขตพื้นที่สูงและชายแดนของจังหวัดเชียงราย
รมว.ศธ.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติม
จากผลการเสวนาในประเด็นต่างๆ ดังนี้
http://www.moe.go.th/websm/2014/mar/060.html