Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

อันดับด้านการศึกษาไทยในเวทีโลกและอาเซียน ปี 2556


อันดับด้านการศึกษาไทยในเวทีโลกและอาเซียน ปี 2556



 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา เวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม ( World Economic Forum : WEF) ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันนานาชาติ (Global Competiveness Index : GCI) ฉบับล่าสุด ปี 2556   การจัดอันดับภาพรวมปีนี้ของไทยอยู่ในอันดับที่ 37 จาก 148 ประเทศ ซึ่งดีขึ้นจากปีที่แล้ว 2555 ที่อยู่อันดับที่ 38 จาก 144 ประเทศ

          จากการวิเคราะห์อันดับภาพรวมประเทศในกลุ่มอาเซียน โดย WEF ในระยะ  8 ปีถึงปัจจุบัน พบว่า อันดับรวมของกัมพูชาสูงขึ้นมา 23 อันดับ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์สูงขึ้น 19  อันดับ มาเลเซียและไทยอันดับถดถอย 4 และ 5 อันดับ ตามลำดับ


ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันนั้น   WEF พิจารณาจาก 3 หมวดได้แก่

          1. ปัจจัยพื้นฐาน  ประกอบด้วย  สถาบันด้านเศรษฐกิจ  โครงสร้างพื้นฐาน  เศรษฐกิจมหภาค  สุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เหล่านี้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ  ในหมวดนี้ไทยได้อันดับที่ 49

          2. ปัจจัยยกระดับประสิทธิภา  หมายถึง สิ่งต่างๆที่จะช่วยให้กิจการก้าวหน้า  อันรวมถึงการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม  ขนาดของตลาด  ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า ตลาดแรงงาน  ตลาดการเงิน ความพร้อมด้านเทคโนโลยี  ในหมวดนี้ไทยได้อันดับที่ 40 

          3. ปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจ หมายถึง ส่วนที่จะขับส่งให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก หมวดนี้ไทยได้อันดับที่ 52



         ทั้งนี้วิธีการได้มาของข้อมูล WEF จะให้น้ำหนักกับการสำรวจความคิดเห็นและการให้คะแนนของผู้ประกอบการในธุรกิจ (Executive Opinion Survey) ถึง 2 ใน 3 ส่วนและอีก 1 ส่วนที่เหลือมาจากข้อมูลเปรียบเทียบเชิงสถิติที่สำคัญขององค์การระหว่างประเทศ เช่น เวิลด์แบงค์ โออีซีดี ยูเนสโก และองค์การอนามัยโลก WEF ประเมินขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยอยู่ในระดับกลาง โดยมีคะแนนค่อนข้างดีด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค พัฒนาการตลาดและการเงิน จุดอ่อนคือด้านสุขภาพที่ไทยมีอัตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงมากที่สุดนอกทวีปแอฟริกา ด้านนวัตกรรมและเทคโลยีและด้านการศึกษา  

    โดย WEF ยังได้วิเคราห์ปัจจัยที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย 6 อันดับแรก ดังนี้ 1) ปัญหาคอรัปชั่น 2) ความไม่มั่นคงทางการเมือง 3) ความไม่ต่อเนื่องทางนโยบาย  4) ระบบราชการ  5) ขาดความสามารถเชิงนวัตกรรม  6) ขาดคุณภาพการศึกษาแรงงาน

          การประเมินความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษาของ WEF จะมี 2 ระดับ ได้แก่ ประถมศึกษา (Primary Education)  และการศึกษาขั้นสูง (Higher Education and Training) อันรวมถึงมหาวิทยาลัย อาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาและการพัฒนาแรงงาน

          ด้านประถมศึกษา (ซึ่งรวมสาธารณสุขด้วย)
                  ไทยอยู่ที่อันดับ 81 ของโลก
                   และอยู่ในอันดับ 7 ในอาเซียน

          ด้านการศึกษาขั้นสูงและฝึกอบรม (Higher education and training) ไทยอยู่ในอันดับที่ 66 เทียบกับประเทศในอาเซียน WEF ประเมินไทยอยู่อันดับที่ 5 ซึ่งมีตัวชี้วัดย่อยด้านการศึกษาและการฝึกอบรมตามตาราง




      จากตารางตัวชี้วัดข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ไทยต้้องรีบพัฒนาอย่างเร่งด่วน 3 ข้อ ได้แก่ อัตราเข้าเรียนประถม (อันดับที่ 9)  คุณภาพระบบการศึกษา (8) คุณภาพประถมศึกษา (7) ตามลำดับ   คุณภาพของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นอีกประเด็นที่  WEF เน้นย้ำว่าไทยต้องเร่งพัฒนา เนื่องจากมีคุณภาพที่ "ต่ำผิดปกติ"  (รายงานหน้า 35)


ผลการประเมินด้านการศึกษาอีกหลายสถาบันยังชี้ไปในทางเดียวกันอีกด้วย ได้แก่
  • ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขัน : ไอเอ็มดี (IMD) รายงานผลเมื่อพฤษภาคม 2556 จัดอันดับภาพรวมการแข่งขันของไทยอยู่ในอันดับที่ 27 จาก 60 ประเทศ  ซึ่งดีขึ้นกว่าปี 2555 ที่อยู่อันดับที่ 30 จาก 60 ประเทศ
      IMD ประเมินด้านการศึกษาภาพรวม ไทยอยู่อันดับที่ 51 จาก 60 ประเทศ เปรียบเทียบประเทศอาเซียน 5 ประเทศ สิงคโปร์ (4) มาเลเซีย (34) อินโดนีเซีย (52) และฟิลิปปินส์ (59) วิธีการประเมินของ IMD คล้ายกับของ WEF ในการสอบถามความเห็นจากตัวแทนนักธุรกิจและผู้ประกอบการในประเทศไทย ว่าคุณภาพของระบบการศึกษาไทยในมิติต่างๆ สามารถตอบสนองต่อความต้องการทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจได้ดีเพียงใด อันดับของไทยจำแนกอันดับตามตัวชี้วัดดังนี้



โดยความหมายของดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันของ IMD คือ การประเมินความคิดเห็นของผู้บริหารและนักธุรกิจต่อคุณภาพของระบบการศึกษาไทยในการตอบสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ
  • ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) ประจำปี 2556 (จำนวน 186 ประเทศ) บ่งบอกถึงการพัฒนามนุษย์ของประเทศในภาพรวมทางสาธารณสุข  การศึกษาและเศรษฐกิจ ครอบคลุมประชากรทุกระดับอายุ ใช้ติดตามพัฒนาการภาพกว้างในระยะยาว  ไทยอันดับที่ 103  ประเทศอาเซียนมีอันดับดังนี้ สิงคโปร์ (18)  บรูไน (30)  มาเลเซีย (64)  อินโดนีเซีย (121)  เวียดนาม (127)  กัมพูชา (138)

  • ดัชนีการเรียนรู้ของเพียร์สัน (Pearson’s Learning Curve Index) ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่ต้องใช้สติปัญญา (Cognitive skills)  รวมถึงการคิดวิเคราะห์และโอกาสเข้าถึงการศึกษา (Educational attainment)รายงานเมื่อพฤศจิกายน 2555  เปรียบเทียบทั้งหมด 40 ประเทศ ไทยอยู่ในอันดับที่ 37  ประเทศเพื่อนบ้านมีอันดับดังนี้  เกาหลีใต้ (2)  ฮ่องกง (3)  ญี่ปุ่น (4)  สิงคโปร์ (5)  นิวซีแลนด์ (8)  ออสเตรเลีย (13) อินโดนีเซีย (40)

  • TIMMS (Trends in  International Mathematics and Science Study)  ที่จัดอันดับผลการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติของนักเรียนชั้น ป. 4 และ ม. 2 ทุก 3 ปี รายงานปี 2554 ในระดับ ม.2 จาก 45 ประเทศ  คณิตศาสตร์อันดับที่ 28 และวิทยาศาสตร์อันดับที่ 25 (อยู่ในกลุ่มต่ำทั้งสองวิชา)  ในส่วนของระดับชั้น ป. 4 จาก 52 ประเทศ  วิชาคณิตศาสตร์อันดับที่ 34 (กลุ่มต่ำ)  และวิชาวิทยาศาสตร์อันดับที่  29 (กลุ่มพอใช้)

  • เพิร์ล (Progress in International Reading Literacy Study: PIRLS) เป็นตัวชี้วัดทักษะความสามารถด้านการอ่าน ไทยยังไม่เข้าร่วมโครงการ  ผลการประเมินปี 2011 จาก 49 ประเทศ  ฮ่องกงอยู่ในอันดับ 1 ประเทศในเอเชียที่ติดอันดับท็อปเทน  ยังมีสิงคโปร์ (4)  และไต้หวัน (9)          

  • การจัดอันดับนานาชาติในระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงมี 3 สถาบัน ได้แก่
             1. THE (Time Higher Education World University Rankings) การจัดอันดับมหาวิทยาลัย 400 แห่งจากทั่วโลก ไทยมีเพียงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีติดอันดับ 351-400 ไต้หวันมีมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับทั้งหมด 7 แห่ง ฮ่องกง (6) และ เกาหลีใต้ (6)
              ประเทศในเอเชียที่ติดอันดับต้นๆของโลกและท็อปเทนของเอเชียมีทั้งมหาวิทยาลัยสายวิชาการและสายอาชีพและเทคโนโลยี ดังนี้



            2. QS World University Rankings จัดอันดับมหาวิทยาลัยในเอเชียปี 2013 จาก 300 แห่ง พิจารณาจากการสำรวจความคิดเห็นของอาจารย์ทั่วโลก (40%)  จำนวนอาจารย์ต่อนักเรียน    ( 20%) จำนวนการอ้างอิงผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย  (20%)  ความเห็นของนายจ้าง (10%) และความร่วมมือกับต่างประเทศ (10%) ร้อยอันดับแรกไทยมีมหาวิทยาลัยมหิดลติดอันดับที่ 42  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยติดอันดับที่ 48  และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (98) ยังมีมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับอีก ดังนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (107) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (146) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (161-170) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (161-170) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (171-180) มหาวิทยาลัยบูรพา (191-200) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (251-300) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (251-300) ไทยรวมมหาวิทยาลัยติดอันดับทั้งหมด 11 แห่ง เกาหลีใต้มีมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับจำนวน 49 แห่ง ไต้หวัน 28 แห่ง มาเลเซีย 18 แห่ง และ ฮ่องกง 7 แห่ง         
   
                ประเทศในเอเชียที่ติดอันดับท็อปเทนของเอเชียมีทั้งมหาวิทยาลัยสายวิชาการและสายอาชีพและเทคโนโลยี ดังนี้



                 3. Shanghai Rankings จัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกทางวิชาการ 500 แห่ง พิจารณาจากคุณภาพการศึกษา (10%)  คุณภาพของบุคลากร (40%) จำนวนผลงานวิจัยและ (40%) ผลงานวิชาการต่อสถาบัน (10%)   ถึงปัจจุบันยังไม่มีมหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับใน 500 อันดับแรก  มหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ติดอันดับ 11 แห่ง ไต้หวัน 9 แห่ง และ ฮ่องกง 5 แห่ง

                   ประเทศในเอเชียที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนี้



  จากผลประเมินข้างต้นสถานการณ์การศึกษาไทยต้องเร่งพัฒนาการศึกษาในทุกระดับ โดยการจัดการศึกษาจะต้องเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงผู้ประกอบการและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ



ค้นคว้าและเรียบเรียงโดย
  คุณธันว์ธิดา  วงศ์ประสงค์  นักวิชาการโลกาภิวัฒน์ศึกษา
ที่มา-สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)
จากเว็บไซต์ http://www.enn.co.th/8436