Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

สังคมแห่งการอ่าน




บทความดีๆ..ที่สะท้อนคิดเรื่องการอ่านของคนไทย
หลายประโยคที่เป็นจริง..และน่าคิด
  • เราไม่มีทางที่จะได้ลูกเสือจากแม่แมวฉันใดเราก็ไม่มีทางที่จะได้เด็กที่รักการอ่านจากพ่อแม่ที่ไม่อ่านหนังสือฉันนั้น
  • หากต้องการเยาวชนที่รักการอ่าน เราก็จะต้องหันมาให้ความสนใจการสร้างพ่อแม่นักอ่าน


การอ่าน การเขียน เป็นกระบวนการสำคัญของการเรียนรู้
ซึ่งนำไปสู่สังคมแห่งความรู้ 
ที่ทำให้คนในสังคมมีความรู้คิดรู้ผิดชอบชั่วดีและมีจินตนาการ

ซึ่งเราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซียและเวียดนาม มีการพัฒนาการอ่าน การเขียน และการเรียนรู้ แต่ในประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้เท่าที่ควร ผู้คนส่วนใหญ่ยังนิยมการบริโภคสื่อทางภาพและเสียงที่ให้ความบันเทิงมากกว่า
บางท่านอาจจะมีคำถามว่า การไม่อ่านหนังสือจะทำให้คนถึงกับขาดใจตายหรือไม่จริงอยู่การไม่ได้อ่านหนังสือก็เป็นเช่นเดียวกับการไม่ได้กินอาหาร ซึ่งไม่ทำให้คนที่ขาดอาหารขาดใจตายในทันทีทันใด แต่ผลของมันคือการทำให้คนคนนั้นขาดความสมบูรณ์และสมดุลทางร่างกาย จิตใจและสติปัญญา จนกลายเป็นปัญหาและภาระของสังคมไปในที่สุด
เราไม่มีทางที่จะได้ลูกเสือจากแม่แมวฉันใดเราก็ไม่มีทางที่จะได้เด็กที่รักการอ่านจากพ่อแม่ที่ไม่อ่านหนังสือฉันนั้น   ดังนั้นหากต้องการเยาวชนที่รักการอ่าน เราก็จะต้องหันมาให้ความสนใจการสร้างพ่อแม่นักอ่าน โดยเฉพาะการที่พ่อแม่เริ่มอ่านหนังสือที่ให้สุนทรียภาพทางอารมณ์ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์    และอ่านหนังสือที่สร้างพัฒนาการทางความคิดและจิตใจซึ่งปลูกฝังคุณธรรมให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกยังแบเบาะ รวมทั้งจัดให้การอ่านเป็นกิจกรรมและกิจวัตรของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งนอกจากจะเป็นจุดแรกของสังคมแห่งการอ่านแล้ว ยังเป็นการสร้างสายใยแห่งความผูกพันของทุกคนในบ้านอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตามการสร้างนักเขียนซึ่งสร้างงานที่มีคุณค่าและการสร้างนักอ่านที่มีคุณภาพมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะนักอ่านที่มีคุณภาพจะเป็นผู้กำหนดทิศทางในการเขียนของนักเขียนขณะเดียวกันก็เป็นกลไกธรรมชาติที่จะกำจัดหนังสือที่ด้อยคุณค่าออกไปจากระบบ
การสร้างนักเขียน-นักอ่านที่มีคุณภาพ จะต้องทำทั้งในและนอกระบบการศึกษา เช่นการปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ตั้งแต่วิชาเรียงความ ย่อความ การอ่าน วิชาวรรณคดี จนถึงการประพันธ์ขั้นสูง รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมการอ่านการเขียนทั้งในสถานศึกษาและสังคมภายนอก เพิ่มพูนบทบาทขององค์กรทางวรรณกรรมให้มีความเข้มแข็งและมีบทบาททางสังคม
ที่สำคัญก็คือต้องผลักดันการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริงและปรากฏผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งพิจารณาบรรจุแผนพัฒนาการอ่านไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการอ่านอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ซึ่งการพัฒนาการอ่านย่อมนำไปสู่การพัฒนาของสังคมในที่สุด
การที่สังคมไทยตกอยู่ในสภาพที่ฉาบฉวย และเลื่อนไหลไปตามกระแสนิยมและอิทธิพลของการโฆษณาสินค้าเช่นในทุกวันนี้นั้น เกิดจากการที่คนในสังคมอ่านไม่เป็น คิดไม่เป็น ขาดรสนิยม และทำอะไรตามๆ กันไป โดยปราศจากวิจารณญาณ ดังนั้น การจะปฏิรูปสังคมใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ประการแรกจะต้องปฏิรูปวิธีคิดของคนในสังคม ให้รู้จักครุ่นคิด รู้จักใคร่ครวญ และรู้จักคัดค้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างนักเขียนที่สร้างงานซึ่งมีคุณค่า และสร้างนักอ่านที่มีคุณภาพ เพื่อก้าวไปสู่สังคมแห่งการอ่านอย่างแท้จริง
   นอกจากนี้จะต้องมีการพัฒนากลไกสำคัญดุจดังห่วงโซ่ห้าประการอันได้แก่ (1)สำนักพิมพ์ (2)ผู้จัดจำหน่าย    (3)(4)ร้านขายหนังสือ ควบคู่ไปกับ(5)การพัฒนานักเขียนและนักอ่านเพื่อทำให้ห้าห่วงดังกล่าวของสังคมแห่งการอ่าน เคลื่อนไหวไปพร้อมกันและในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแต่ละหน่วยในกระบวนการนี้ต้องมีความสัมพันธ์กันและเกื้อกูลกัน
เรามาเริ่มต้นปีใหม่ ด้วยการสร้างเมืองไทยให้เป็นสังคมแห่งการอ่านกันเถอะ...

แหล่งอ้างอิง
http://www.komchadluek.net/detail/20101222/83559/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99.html#.UNs15N8hwJM.facebook