Love to Read

LOVE TO READ อ่านมากรู้มาก อ่านน้อยรู้น้อย ไม่อ่านไม่รู้



วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

สพฐ. ปัดฝุ่นตำราโบราณยุค 2499 แบบเรียนเร็วใหม่ สำหรับ นร.ชั้นป.1-3 แก้ปัญหาอ่านเขียนภาษาไทย



สพฐ. ปัดฝุ่นตำราโบราณยุค 2499 แบบเรียนเร็วใหม่ สำหรับ นร.ชั้นป.1-3 “อภิชาติ” เผยเคยได้เรียนมาก่อน ตั้งใจนำมาใช้แก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของ นร. ทุ่มงบ 10 ล้านบาทจัดพิมพ์ 6 แสนเล่ม แจก ร.ร. พร้อมใช้ทันทีเทอม 1 ปี 57 ระบุเตรียมรวบรวมผลงาน อ.รัชนี ยกย่องเป็นผลงานชั้นเยี่ยม ยันแบบเรียน “มานี-มานะ” ไม่ได้หายไปไหน แต่จัดไว้ในหมวดหนังสืออ่านนอกเวลา




 วันนี้ (17 เม.ย.) นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังเตรียมนำแบบเรียนเร็วใหม่ ระดับตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย ของอำมาตย์โทพระวิภาชน์ วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) มาใช้เป็นแบบเรียนสำหรับเด็กช่วงชั้นที่ 1 ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 2 และ 3 ซึ่งเป็นแบบเรียนฝึกสะกดคำ และได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนมาแล้วตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. 2499 โดยแบบเรียนดังกล่าวเป็นแบบเรียนที่อ่านง่าย เน้นการสะกดคำแจกลูกประโยคไว้ชัดเจน เช่น ก า, กา กา มา, ม า มา กามา ...และตามด้วยรูปงู กาตีงู ปูขาเก ตาโม จูงโค โคขาเกไถนา ตาคำ แกทำนา กะเมียแก แกมีวัว 5 ตัว เมียแก ไปพาวัว มาไถนา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เด็กอ่าน ออก เขียนได้ และจดจำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากแบบเรียนนี้ตนมีความสนใจและเคยเรียนมาก่อน ช่วยให้เด็กจดจำคำศัพท์ อ่านออก และเขียนได้ถูกต้อง แต่เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบันโรงเรียนจะไม่เน้นการสอนแบบแจกคำแล้ว เมื่อเด็กเจอศัพท์ใหม่จึงไม่สามารถอ่านประโยคนั้นได้ ดังนั้น จึงเห็นว่าแบบเรียนนี้มีประโยชน์และควรนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็ก




       
       “จุดประสงค์ของการรื้อฟื้นแบบเรียนเร็วใหม่ขึ้นมานั้น เพื่อต้องการแก้ปัญหาเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้โดยเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมาผมได้หารือกับครูภาษาไทยพบว่า แบบเรียนเร็วใหม่มีความน่าสนใจ ซึ่งมีบางโรงเรียนนำร่องใช้แบบเรียนนี้มาแล้วจนทำให้เด็กมีพัฒนาการการเรียนภาษาไทยดีขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าภายใน 1-2 ปีจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างแน่นอนซึ่ง สพฐ. จะให้โรงเรียนแจ้งความประสงค์มา และ สพฐ. จะจัดลงไปให้เพื่อใช้เสริมการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ของเด็ก” นายอภิชาติ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม สพฐ. ได้เริ่มพิมพ์แบบเรียนเร็วใหม่แล้วจำนวน 600,000 เล่ม ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท โดยจะให้เริ่มใช้เรียนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 ทันที
       
       เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักวิชาการและมาตรฐาน ของ สพฐ. ไปรวบรวมผลงานวิชาการของอาจารย์รัชนีว่ามีผลงานโดดเด่นๆ อะไรบ้าง เพื่อยกย่องให้เป็นผลงานชั้นเยี่ยม ทั้งนี้ ในสมัยอดีตอาจารย์รัชนีถือเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ใน สพฐ. ได้ผลิตผลงานระดับคุณภาพออกมาอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะหนังสือเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษา (ป.1-ป.6 ชุดมานี มานะ ปิติ ชูใจ) ของอาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ซึ่งเป็นหนังสือเรียนภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ใช้ในโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศระหว่าง พ.ศ. 2521-2537 ส่วนจะรื้อฟื้นแบบเรียนภาษาไทยของอาจารย์รัชนีขึ้นมาใหม่อีกครั้งหรือไม่นั้น 



ต้องบอกว่าหนังสือเรียนภาษาไทย มานี มานะ ปิตี ชูใจ เป็นแบบเรียนแห่งความทรงจำ และ สพฐ. ไม่ได้มีการยกเลิก แต่จะไปอยู่ในหมวดหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กประถมศึกษาอยู่แล้ว ซึ่งมีผู้พิมพ์แบบเรียนออกจำหน่ายน้อยมาก เนื่องจากครูและเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักหนังสือเรียนดังกล่าวว่ามีความเป็นมาอย่างไร ขณะเดียวกันครูก็ไม่ได้มีการส่งเสริมให้ใช้เท่าที่ควร ซึ่งความประทับใจขึ้นอยู่กับความรู้สึกของแต่ละคนมากกว่า เพราะครูบางคนเห็นคุณค่าแต่ก็มีครูอีกหลายคนก็กลับไม่เห็นคุณค่า และแบบเรียนดังกล่าวก็ใช้อยู่ไม่กีปีเท่านั้น.




ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการ

"จาตุรนต์" หนุนสอนแจกลูก-สะกดคำ



“จาตุรนต์” หนุนใช้แบบเรียนเร็ว สอนแบบแจกลูกสะกดคำ ชี้เป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องเรียน เล็งทบทวนลดกลุ่มสาระสำหรับเด็กเล็ก เพื่อให้มีเวลาเรียนภาษาไทยมากขึ้น ชี้ครูไทยสอนท่องจำเป็นคำๆ ส่งผลเด็กไทยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

วันนี้ (18 เม.ย.57) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมนำ "แบบเรียนเร็วใหม่ ระดับต้น ระดับกลาง และปลาย ของอำมาตย์โทพระวิภาชน์ วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส)"   กลับมาใช้เป็นแบบเรียนสำหรับเด็กช่วงชั้นที่ 1 ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งเป็นแบบเรียนฝึกสะกดคำ และได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนมาแล้วตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2499 โดยการนำแบบเรียนดังกล่าวมาใช้เพื่อให้เด็กอ่านออก เขียนได้ เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนไม่เน้นการสอนแบบแจกลูกสะกดคำแล้ว แต่เน้นให้เด็กท่องจำเป็นคำๆ ทำให้เมื่อเจอศัพท์ใหม่ จึงไม่สามารถอ่านได้ ว่า การนำแบบเรียนดังกล่าวกลับมาใช้เป็นผลมาจากที่ สพฐ. ได้ไปสแกนการอ่าน ออก เขียนได้ของเด็กทั่วประเทศ และพบว่ามีเด็กป.3 และป.6 อ่านหนังสือไม่ออกจำนวนมาก และอยู่ในช่วงปรับปรุงถึงกว่า 200,000 คน ทำให้เขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนพยายามหาวิธีปรับปรุงการสอนภาษาไทย ซึ่งมีทั้งการสอนแบบเข้มข้น การแยกเด็กออกมาสอนต่างหาก การสอนพิเศษเพิ่มเติม ขณะเดียวกันยังพบปัญหาว่าหลักสูตรมีกลุ่มสาระวิชามากเกินไป  ต่อไปคงต้องมาพิจารณาทบทวนลดกลุ่มสาระที่สอนสำหรับเด็กเล็ก เพื่อให้มีเวลาเรียนภาษาไทย หรือวิชาอื่นเช่น คณิตศาสตร์ เพิ่มมากขึ้น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนวิธีการสอนจากการสอนให้สะกดคำ มาเป็นการสอนให้จำเป็นคำๆ ซึ่งต่อมาครูก็ค้นพบว่า วิธีการสอนให้เด็กจำ ทำให้เด็กอ่านสะกดไม่เป็น จึงย้อนเอาวิธีการสอนสะกดคำมาใช้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมาหลักสูตรมีความโน้มเอียงไปอย่างไร จึงไม่สอนให้เด็กสะกดคำ ทั้งที่ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ต้องเรียนแบบสะกด ดังนั้นการที่ สพฐ. นำการเรียนแบบสะกดมาใช้จึงเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม

" ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาเรื่องการเรียนการสอนภาษาไทยยังมีมากกว่านี้ ทั้งการสอนให้เด็กสนใจ คิดเป็น แต่งประโยคเป็น รวมถึงต้องโยงไปถึงการทดสอบวัดผลภาษาไทย การกำหนดเนื้อหาให้สอดคล้องกับการเรียนภาษาแม่ และการวัดความรู้หรือสมรรถนะภาษาไทยในฐานะที่เป็นภาษาแม่ด้วย การนำแบบเรียนเร็วใหม่กลับมาใช้ดูเหมือนเป็นการย้อนยุค แต่ความจริงไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องเทคนิค ความรู้พื้นฐานที่ทุกคนต้องเรียน" นายจาตุรนต์ กล่าว




        
         
ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์